เล่มที่ 21
เครื่องปั้น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

เครื่องปั้นสุโขทัย หรือเครื่องสังคโลก

            สังคโลก เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องปั้นเคลือบ ที่ผลิตขึ้นในอาณาจักรสุโขทัย โดยมีแหล่งผลิตที่เมืองศรีสัชนาลัย และที่เมืองสุโขทัย มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคำว่า "สังคโลก" ว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า สวรรคโลก ส่วนตัวเตาเผานั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกกันว่า เตาทุเรียง ปัจจุบัน ยังไม่อาจหาข้อสรุปที่ชัดเจนของคำว่า สังคโลก และเตาทุเรียงได้

            จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า แหล่งผลิตเครื่องปั้นของอาณาจักรสุโขทัย นอกเหนือไปจากที่กล่าวแล้ว ยังมีที่บ้านปะขาวหาย อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่ใกล้กับปากลำน้ำตรอน อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ อีกด้วย

แหล่งเมืองสุโขทัย


จานเขียนรูปปลาคู่ แหล่งเมืองสุโขทัย

            แหล่งผลิตเครื่องปั้นอยู่เรียงรายตามลำน้ำแม่โจน ใกล้กับวัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย ได้พบเตาเผากว่า ๔๐ เตา ซึ่งเรียกทั่วไปโดยรวมว่า เตาแม่โจน เครื่องปั้นจากแหล่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบ ผลิตจากเนื้อดินหยาบ คุณภาพต่ำ การขึ้นรูปภาชนะใช้แป้นหมุนตัวเครื่องปั้น เมื่อนำไปเผา เนื้อออกสีเทาหรือเทาดำ ผิวค่อนข้างพรุน จึงต้องทาน้ำดินสีขาวรองพื้น ก่อนนำไปเขียนลายและเคลือบ

            รูปร่างของภาชนะจากแหล่งนี้มักเป็นถ้วย ชาม จาน ครก ลูกตุ้ม ถ่วงแห กุณโฑ เป็นต้น ลวดลายที่ใช้เขียนตกแต่งภาชนะประเภทจานและชาม มักเป็นรูปปลา รูปปลาคู่หันหัวไปในทางเดียวกัน รูปปลาคู่แบบว่ายตามกัน ลายดอกไม้ ลายใบไม้ และลายจักร


มังกรสังคโลก เครื่องประดับหัวบันได
แหล่งเมืองศรีสัชนาลัย

            ที่เมืองโบราณศรีสัชนาลัยได้พบแหล่งผลิตเครื่องปั้นเคลือบ ๒ แห่ง คือ ที่บ้านป่ายาง และที่บ้านเกาะน้อย ทั้ง ๒ แห่งนี้มีเตาเผารวมกันกว่า ๑๔๐ เตา นับเป็นแหล่งผลิต ที่ใหญ่ที่สุดของอาณาจักรสุโขทัย

เตาเผาบ้านป่ายาง

            แหล่งผลิตแห่งนี้อยู่ใกล้แม่น้ำยม ห่างจากกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยโบราณไปเพียง ๕๐๐ เมตร งานผลิตจากแหล่งนี้ มีทั้งภาชนะต่างๆ และเครื่องประดับสถาปัตยกรรม เนื้อดินที่นำมาผลิตเป็นเนื้อดินละเอียด เมื่อเผาออกสีเทาหรือสีเทาดำ ภาชนะบางชนิด เช่น โอ่ง ไห เผาเนื้อแกร่งใช้อุณหภูมิสูง

            ส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรมที่พบในแหล่งผลิตนี้ พบเป็นจำนวนมากกว่าแหล่งผลิตอื่น บางท่านจึงให้ความเห็นว่า เตาเผาบ้านป่ายางน่าจะมีความชำนาญในการทำผลิตภัณฑ์เช่นนี้ งานเหล่านี้เป็นงานขนาดใหญ่ เช่น รูปตัวยักษ์ ตัวนาค ตัวมกร มักเคลือบด้วยสีขาว และมีลวดลายเขียน ด้วยสีน้ำตาลเข้มเน้นเส้นต่างๆ กระเบื้องเคลือบ มุงหลังคา ตุ๊กตาขนาดต่างๆ รูปสัตว์ เป็นต้น

เตาเผาบ้านเกาะน้อย

            แหล่งผลิตแห่งนี้ตั้งเรียงรายอยู่บนฝั่งแม่น้ำยม ห่างจากเตาเผาบ้านป่ายางราว ๑.๕ กิโลเมตร เป็นแหล่งที่พบเตาเผาถึงกว่า ๑๐๐ เตา ผลิตผลจากแหล่งนี้จึงมีมาก มีทั้งเครื่องปั้นเคลือบและเผา เนื้อแกร่งไม่เคลือบ เนื้อดินที่นำมาใช้ผลิตเป็นดินเนื้อละเอียด เมื่อเผาออก สีเทา หรือสีเทาดำ การเขียนลายประดับ การเผา และการเคลือบ ทำด้วยฝีมือประณีต เครื่องปั้น เคลือบที่เป็นภาชนะมีหลายรูปแบบ เช่น กุณฑี กุณโฑ จาน ชาม ถ้วย ไห โคมไฟรูปดอกบัวฉลุ ตลับมีฝาปิด โถมีฝา พาน ตุ๊กตารูปคน และรูปสัตว์ต่างๆ ตะเกียง ช้างศึก เป็นต้น

            การเคลือบภาชนะ มีทั้งที่เคลือบสีเขียว แบบเซลาดอน (Celadon) เคลือบสีขาว เคลือบสีน้ำตาล เคลือบสองสี ส่วนการตกแต่งลวดลาย มีทั้งการเขียนลวดลายด้วยสีก่อนเคลือบ ที่เรียกว่า เขียนใต้เคลือบ กับการขูดขีดเป็นลวดลายที่ต้องการ บนภาชนะ เช่น ลายดอกไม้ ลายดอกบัว ก่อนแล้วนำไปเคลือบลาย ที่ตกแต่ง มีทั้งรูปปลา ดอกไม้ ดอกบัว ลายใบไม้ หอยสังข์ พันธุ์ พฤกษา และลวดลายที่เลียนแบบมาจากเครื่อง ลายครามจีนและอันนัม เครื่องปั้นดินเผาจาก เตาเผาบ้านเกาะน้อย ถือได้ว่าสวยงาม และมี ความประณีต ทั้งทางด้านการออกแบบ ลวดลาย รูปแบบภาชนะ หรือรูปสัตว์ กว่างานผลิตจาก เตาเผาแหล่งอื่น

            ระยะเวลาในการผลิตของเครื่องสังคโลก น่าจะเริ่มขึ้นตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เกิดวิกฤตการณ์ในประเทศจีน ทำให้การผลิตเครื่องเคลือบของจีนผลิตน้อยลงมาก จนไม่อาจสนองความต้องการในตลาดต่างประเทศได้ ทำให้เครื่องปั้นเคลือบจากอาณาจักร สุโขทัยเข้าไปแทนที่ จึงได้มีการพัฒนาคุณภาพ การตกแต่ง ลวดลาย รูปแบบ เพื่อความเหมาะสมในการจำหน่าย และน่าจะมีการสั่งเครื่องปั้น โดยกำหนดรูปแบบจากภายนอกด้วย เช่น ถ้วยดื่มชา เป็นต้น เครื่องปั้นเคลือบของสุโขทัยจึงพบทั่วไปในดินแดนใกล้เคียง เช่น เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะเซบู เกาะมินดาเนา ในคาบสมุทรเกาหลี และญี่ปุ่น

            เมื่อวิกฤตการณ์ในจีนสิ้นสุดลง จีนเริ่มผลิตเครื่องเคลือบออกมายังตลาดต่างประเทศตามปกติ เครื่องปั้นเคลือบสุโขทัยยังผลิตต่อมา นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า การผลิตน่าจะยังคงมีอยู่ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๑๒๗ เมื่อสมเด็จพระ นเรศวรมหาราช ขณะดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราช ยกทัพไปตีเมืองสวรรคโลกแล้ว โปรดให้กวาดต้อนประชากรทั้งหมด มาไว้เมืองพิษณุโลก ทำให้การผลิตสิ้นสุดลง

จาน ชาม เคลือบสองสี (สีเขียวและสีน้ำตาล)