เล่มที่ 21
เครื่องปั้น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เครื่อง ปั้นภาคกลาง

            อาณาจักรอยุธยาสถาปนาขึ้น เมื่อพ.ศ. ๑๘๙๓ เข้าครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั้งหมด ในเวลาไม่นานนัก ก่อนหน้าการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา ได้มีแคว้นสุวรรณภูมิ และแควันละโว้ เคยปกครอง พื้นที่แห่งนี้มาก่อนแล้ว แต่ภายหลังจากการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เมืองแห่งนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการค้า และความเจริญแทนที่

            ได้มีการค้นพบและขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อศึกษาแหล่งที่ผลิตเครื่องปั้นของภาคกลาง ๒ แหล่งผลจากการศึกษาทำให้ทราบลักษณะวิธีการผลิต และการแพร่กระจายของเครื่องปั้นจากทั้ง ๒ แหล่งเป็นผลให้เกิดความก้าวหน้าในการศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสังคม ในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก แหล่งผลิตทั้ง ๒ แหล่ง ได้แก่

แหล่งแม่น้ำน้อย หรือแหล่งวัดพระปรางค์

            แหล่งผลิตนี้อยู่ริมแม่น้ำน้อยในเขตวัดพระปรางค์ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรีมีเตาเผาขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เป็นที่คาดหมายว่า ผลิตผลจากแหล่งนี้ ได้ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวอยุธยาและบางส่วนได้ส่งออกไปยังประเทศใกล้ เคียงด้วย
ชาม เนื้อแกร่ง เคลือบสีน้ำตาลแกมดำ สมบัติของวัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี
ชาม เนื้อแกร่ง เคลือบสีน้ำตาลแกมดำ สมบัติของวัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี
            งานเครื่องปั้นจากแหล่งนี้ส่วนใหญ่ขึ้นรูป ด้วยแป้นหมุน เป็นงานที่ไม่เคลือบ เนื้อดินที่นำมาผลิตละเอียด เมื่อเผาออกสีแสด มีทั้งที่เผาไฟแรงสูงเนื้อแกร่ง และที่เผาไฟด้วยอุณหภูมิไม่สูงนัก ภาชนะที่ผลิตจากแหล่งนี้ ที่เป็นประเภทเครื่องใช้ประจำวัน ได้แก่ ครก อ่าง กระปุกทรงเตี้ย ปากกว้าง กระปุกทรงสูงปากแคบชนิดนี้มักมีเนื้อ แกร่ง ภาชนะรูปร่างคล้ายแจกัน หรือกุณโฑ คอสูงปากกว้าง ภาชนะคล้ายแจกันมีหู ๒ หู กุณฑีหรือกาน้ำก้นเรียบ ที่พวยมีกระเปาะคล้าย กับจะเป็นที่กรองใบไม้ที่ใช้ชงดื่ม หวด จาน ชาม ท่อน้ำ ฝาภาชนะต่างๆ ตุ๊กตา

            ลวดลายที่ใช้ประดับตกแต่งภาชนะ เป็น ลายขูดขีดบนผิว คล้ายโครงใบไม้ ลายวงกลมปั้นแปะ ลายกดลงบนภาชนะเป็นจุด ลายกระจัง เป็นต้น

แหล่งบ้านปูน

            แหล่งผลิตนี้อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ในเขตบ้านปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี งานจากแหล่งผลิตแห่งนี้ แพร่กระจายอยู่ในชุมชนหลายแห่งในภาคกลาง รวมทั้งในเกาะเมืองอยุธยาด้วย
ลายประทับรูปบุคคลสวมเทริดถืออาวุธ (ดาบ) แสดงถึงการใช้อาวุธสั้นบนหลังม้า
ลายประทับรูปบุคคลสวมเทริดถืออาวุธ (ดาบ) แสดงถึงการใช้อาวุธสั้นบนหลังม้า

            เครื่องปั้นจากแหล่งนี้ทำจากดินเนื้อละเอียด เมื่อนำไปเผาเนื้อภาชนะเป็นสีแสด งานที่ผลิตเป็นงานไม่เคลือบ มีทั้งที่เผาด้วยไฟแรงสูง เนื้อแกร่ง และเผาไฟแรงต่ำ ภาชนะที่ผลิตมีทั้งชาม อ่าง กุณโฑ กระปุก ไห ฝาภาชนะ รูปสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

            การประดับตกแต่งลวดลายภาชนะจากแหล่งผลิตนั้น งดงาม และแตกต่างไปจากแหล่งแม่น้ำน้อย แม้จะอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน เป็นการตกแต่งด้วยการกดประทับลงไปบนเนื้อภาชนะเป็นรูปต่างๆ ก่อนนำไปเผา เช่น ภาพพิธีแรกนาขวัญ ภาพนักรบขี่ช้างออกศึก ภาพนักรบขี่ม้าออกศึก ภาพนักรบถือหอกและโล่ ภาพหงส์คาบก้านดอกไม้ ภาพการล่ากวาง ภาพการคล้องช้าง ลายเชิง ลายอุบะ ภาพบุคคล นอกจากลายกดประทับแล้ว ยังมีการตกแต่งด้วยลายขูดขีดลึกลงไปในเนื้อภาชนะเป็นรูปสัตว์ และลวดลายต่างๆ อีกด้วย

            การผลิตเครื่องปั้นจากแหล่งทั้ง ๒ นี้ น่าจะทำขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ หรือในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผลิตผลส่วนใหญ่แพร่หลายอยู่ในชุมชนสมัยอยุธยา และพบในประเทศใกล้เคียงส่วนหนึ่งด้วย

ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาภาคกลาง :ครก