เล่มที่ 21
การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสร้างทางผ่านป่าโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ทำให้เสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้
การสร้างทางผ่านป่าโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ทำให้เสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้

การกัดเซาะของน้ำและลมทำให้หน้าดินพังทลาย  ทำให้เสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้
การกัดเซาะของน้ำและลมทำให้หน้าดินพังทลาย

การทำนาเกลือโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม
การทำนาเกลือโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม

การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ก่อให้เกิดปัญหา
การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ก่อให้เกิดปัญหา

แร่ลิกไนต์
แร่ลิกไนต์

การถมป่าชายเลน เพื่อกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ
การถมป่าชายเลน เพื่อกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ

สินค้าจำพวกหอยและปะการัง
สินค้าจำพวกหอยและปะการัง
ปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            การพัฒนาที่ผ่านมา ได้ระดมใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ทรัพยากรธรณี ในอัตราที่สูงมาก และเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนมีผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เกิดการร่อยหรอ และเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในชนบท ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเป็นหลักในการยังชีพ ได้แก่

ทรัพยากรป่าไม้

            พื้นที่ป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรม และมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่ การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า การบุกรุก ทำลายป่า เพื่อต้องการที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตร การทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และการใช้ที่ดิน เพื่อดำเนินโครงการของรัฐบาล เช่น การจัดนิคมสร้างตนเอง การชลประทาน การไฟฟ้าพลังน้ำ การก่อสร้างทาง กิจการรักษาความมั่นคงของชาติ เป็นต้น การที่พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศลดลงอย่างมาก ได้ส่งผลกระทบต่อการควบคุมระบบนิเวศโดยส่วนรวมอย่างแจ้งชัด เช่น กรณีเกิดวาตภัย และอุทกภัยครั้งร้ายแรง ในพื้นที่ภาคใต้ ปัญหาความแห้งแล้งในภาคต่างๆ ของประเทศ และปัญหาน้ำท่วม ในฤดูฝนอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหาภัยธรรมชาติดัง กล่าวได้มีแนวโน้มของการเกิดถี่ขึ้น อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตร ชีวิต และทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ เช่น การสูญเสียหน้าดิน ทำให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปัญหาการตกตะกอน ปัญหาการตื้นเขินของแหล่งน้ำ และปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน เป็นต้น

ทรัพยากรดิน

            ปัญหาการพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดินโดยธรรมชาติ เช่น การชะล้าง การกัดเซาะของน้ำและลม เป็นต้น และที่สำคัญคือ ปัญหาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทำลายป่า เผาป่า การเพาะปลูกผิดวิธี เป็นต้น ก่อให้เกิดการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ลดน้อยลง ความสามารถในการผลิตทางด้านเกษตรลดน้อยลง และยังทำให้เกิดการทับถมของตะกอนดินตามแม่น้ำ ลำคลอง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เป็นเหตุให้แหล่งน้ำดังกล่าวตื้นเขิน รวมทั้งการที่ตะกอนดิน อาจจะทับถมอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัย และที่วางไข่ของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นตัวกั้นแสงแดด ที่จะส่องลงสู่พื้นน้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ นอกจากนี้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน อันเนื่องมาจากสาเหตุดั้งเดิมตามธรรมชาติ คือ การที่มีสารเป็นพิษเกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดดิน เช่น มีโลหะหนัก มีสารประกอบที่เป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้ดินเค็ม ดินด่าง ดินเปรี้ยวได้ โดยเฉพาะปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การดำเนินกิจกรรม เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างไม่เหมาะสม และขาดการจัดการที่ดี เช่น การสร้า อ่างเก็บน้ำในบริเวณที่มีเกลือหินสะสมอยู่มาก น้ำในอ่างจะซึมลงไปละลายเกลือหินใต้ดิน แล้วไหลกลับขึ้นสู่ผิวดินบริเวณรอบๆ การผลิตเกลือสินเธาว์ในเชิงพาณิชย์ โดยการสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มหรือตาก ทำให้ปัญหาดินเค็มแพร่ขยายออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น ยังมีสาเหตุที่เกิดจากสารพิษ และสิ่งสกปรก จากภายนอกปะปนอยู่ในดิน เช่น ขยะจากบ้านเรือนของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สารเคมีตกค้างจากการใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ทรัพยากรที่ดิน

            ปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสมกับสมรรถนะของที่ดิน และไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้ที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรมอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ ขาดการบำรุงรักษาดิน การปล่อยให้ผิวดินปราศจากพืชปกคลุม ทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นในดิน การเพาะปลูกที่ทำให้ดินเสีย การใช้ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืช เพื่อเร่งผลิตผล ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ และสารพิษตกค้างอยู่ในดิน การบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าไม้บนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง รวม ทั้งปัญหาการขยายตัวของเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม และการนำมาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเก็บที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไร โดยมิได้มีการนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากร ประกอบกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ที่ดิน เพื่อการขยายเมืองและอุตสาหกรรมเพิ่มจำนวนตามไปด้วยอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการควบคุมการใช้ที่ดินภายในเมืองให้เหมาะสม เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในเมืองหลายประการ เช่น ปัญหาการตั้งถิ่นฐาน ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาการจราจร ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาขยะมูลฝอย และการบริการสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ

ทรัพยากรแหล่งน้ำ

            การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ เพื่อกิจกรรมต่างๆ ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละกิจกรรม ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ ความขัดแย้งดังกล่าวมีแนวโน้มว่า จะสูงขึ้น จากปริมาณน้ำที่เก็บกักได้มีจำนวนจำกัด แต่ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค เป็นผลให้มีน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้ ความสามารถในการเก็บกักน้ำของดินตามธรรมชาติมีประสิทธิภาพลดลง และปริมาณน้ำบางส่วนสูญเสียไป เพราะการปนเปื้อนจากน้ำเน่า และกากของเสีย ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างไม่ประหยัด และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น สาเหตุสำคัญคือ การทำลายพื้นที่ป่าไม้ อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ขาดแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำ และศักยภาพของแหล่งน้ำ การ บริหารการจัดการยังไม่มีระบบที่ชัดเจนต่อเนื่อง และประสานสอดคล้องกัน

ทรัพยากรธรณี

            การนำทรัพยากรธรณี ทั้งในรูปแร่ธาตุ พลังงาน มาใช้ประโยชน์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร การทำเหมืองแร่ทั้งบนบกและในทะเล การนำถ่านหินลิกไนต์มาใช้ และการพัฒนานำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ ทั้งบนบก และในทะเล ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสีย และดินตะกอน ปัญหาเรื่องฝุ่นและอากาศเป็นพิษ และปัญหาดินเสีย สาเหตุประการสำคัญก็คือ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม การละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติ ที่เกี่ยวข้องในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา

ป่าชายเลน

            พื้นที่ป่าชายเลนได้ลดลงอย่างมาก จนเป็นที่น่าวิตก เนื่องจากการบุกรุกทำลาย โดยการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าชายเลนไปทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ นำมาใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (นากุ้ง) นอกจากนี้ก็ใช้ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ท่าเทียบเรือ ถนน เหมืองแร่ การเกษตร เป็นต้น ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงตลอดเวลา จนทำให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง การกัดเซาะ และการพังทลายของที่ดินบริเวณชายฝั่ง และ คุณภาพน้ำชายฝั่ง เป็นต้น

ปะการัง

            ปะการังที่สวยงามในเมืองไทยหลายแห่ง ต้องเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะปัญหาการถูกทำลาย โดยฝีมือมนุษย์ นับเป็นปัญหาสำคัญของความเสื่อมโทรมของปะการัง ได้แก่ การระเบิดปลา เป็นการทำลายปะการังอย่างรุนแรง ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชในบริเวณนั้น และเป็นการทำลายการประมงในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ปัญหาตะกอนจากการทำเหมืองแร่ในทะเล ยังส่งผลกระทบ ทำให้เป็นอันตรายต่อปะการังถึงตายได้ การเปิดหน้าดิน เพื่อทำถนนหรือก่อสร้างบริเวณริมชายฝั่ง จะทำให้ดินโคลน หรือสีแดงของลูกรังไปทับถมชายหาด ปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงทะเล การเก็บหอยหรือปะการังขึ้นมาขาย เป็นของที่ระลึก ทำให้แนวปะการังเสียสมดุล และถูกทำลายลง การทิ้งสมอเรือ การถอนสมอเรือ และการนำนักท่องเที่ยวไปเดินบนปะการัง ทำให้ปะการังหักพังลงไปมาก