ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการนำมาใช้ประโยชน์ และการ สงวนรักษา ทรัพยากรธรรมชาติประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งในแต่ละเรื่อง ก็มีปัญหาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน การพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมาช่วง ๓๐ ปี ประสบกับปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่ การเพิ่มจำนวนประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว การเร่งรัดพัฒนาการเกษตร และอุตสาหกรรม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมมาใช้ในการผลิต ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม จนกลายเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาในระยะต่อไป ดังปรากฏเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน นับวันจะร่อยหรอหมดสิ้นไป และอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ รวมทั้งยังมีปัญหาขัดขัดแย้ง ในการใช้ประโยชน์อีกด้วย สำหรับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง คือ ความเสื่อมโทรมของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการใช้กันอย่างเกินขอบเขต และการใช้อย่างไม่เหมาะสม จนสภาพทางธรรมชาติไม่สามารถรองรับ หรือปรับตัวให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้
ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจอย่างชัดแจ้งแล้วว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาดนั้น จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในเวลาเดียวกันด้วย เพราะการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดหนึ่ง อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งได้ และเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง และยาวนาน หรือเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นจะ ต้องมีการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากการพัฒนา จะต้องพึ่งทรัพยากร และทรัพยากรก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงควรอยู่บนรากฐานของความถูกต้อง และเหมาะสม ตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงสภาพที่สมดุล หรือขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ และโดยที่ปัจจุบัน ปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่ง แวดล้อม ได้เป็นปัญหาที่สำคัญ และเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตลอดจนควบคุมและส่งเสริม ให้การกระทำใดๆ มีผลกระทบในทางเสียหาย น้อยที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมและ สนับสนุนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และการพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ทั้งนี้ในการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องคำนึงถึง ความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจน สถานภาพของทรัพยากรด้วย เพื่อจะได้ใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่ามากที่สุด ประหยัดที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด และใช้ได้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการนำขบวนการอนุรักษ์ และพัฒนา มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้มากที่สุด และมีผลต่อเนื่องต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้การอนุรักษ์ และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้อย่างยั่งยืน