เล่มที่ 21
การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ทรัพยากรน้ำ

น้ำ

หมายถึง ของเหลวที่เกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซออกซิเจน

            น้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีการหมุนเวียนเคลื่อนที่จากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงจากสถานะหนึ่งไปเป็นอีกสถานะหนึ่ง เช่น เป็นของแข็ง ของเหลว เป็นต้น การหมุนเวียนเปลี่ยนไปของน้ำนี้เรียกว่า วัฎจักร ของน้ำ

การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

            น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญที่สุด ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะเป็นทรัพยากร ที่มีข้อจำกัดในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม และมลพิษทางน้ำ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้ได้น้ำที่มีปริมาณพอเหมาะ เพียงพอแก่ความต้องการ ให้ได้น้ำที่มีคุณภาพดี ใสสะอาด ไม่ขุ่นข้น และตามลำห้วยลำธารก็ให้มี น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดไป รวมทั้งเพื่อเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ลดการสูญเสียจากน้ำไหลบ่า และลดการสูญเสียจากการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น การใช้ในการเกษตร การชลประทาน และการ อุตสาหกรรม เป็นต้น

การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จึงควรดำเนิน การดังนี้

            ๑. ออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อควบคุมการแจกจ่ายน้ำ ทั้งที่อยู่บนพื้นผิวดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำ ขณะเดียวกันเป็นการประหยัด และป้องกันการ สูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ด้วย

            ๒. การจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำทั้งระบบ เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในลุ่มน้ำ ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างทั่วถึง โดยจะต้องจำแนกการใช้ที่ดิน ให้เหมาะสมกับสมรรถนะของดิน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า การสร้างเขื่อน การพัฒนาการเกษตร และจะต้องปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้อง ตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ และหาทางชะลอการไหลของน้ำ ให้คงอยู่ในลำน้ำให้นานที่สุด รวมทั้งหาทางลดการระเหย และรักษาการให้น้ำแก่แหล่งน้ำต่างๆ เช่น บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน โดยการรักษาพื้นที่ป่าไม้ หรือฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ให้มีป่าไม้ และพืชคลุมดินอยู่เสมอ

            ๓. วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยพิจารณาปัจจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมอย่างรอบคอบ รวมทั้งการปรับปรุงระบบชลประทาน และคลองส่งน้ำต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำในขณะส่งน้ำ และเพิ่ม ประสิทธิภาพในการใช้น้ำ

            ๔. หาวิธีปรับปรุงน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อประหยัดการใช้น้ำ

            ๕. เร่งดำเนินการเรื่องการบำบัดน้ำทิ้ง และควบคุมแหล่งกำเนิดของน้ำทิ้ง จากชุมชน โรงงาน อุตสาหกรรม การเกษตร ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ที่ทางราชการกำหนดไว้ ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนานต่อไป