ประเภทของเรือต่อ
เรือต่อเป็นเรือที่มีการนำไม้มาพัฒนาเป็นเรือประเภทต่างๆ สำหรับใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยมีการพัฒนาให้มีการขับเคลื่อน ให้แล่นได้เร็ว และบรรทุกได้มากขึ้น ตลอดจนใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง และการใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะแสนยานุภาพของผู้เป็นเจ้าของเรือ
เรือต่อแบ่งตามประเภทของการใช้งาน มี ๓ ประเภท คือ
๑. เรือต่อขนาดเล็กใช้พาย
๒. เรือต่อขนาดใหญ่ใช้บรรทุก
๓. เรือต่อที่ใช้เครื่องยนต์
๑. เรือต่อขนาดเล็กใช้พาย
เรือต่อประเภทแรกๆ ที่เรารู้จักและใช้งานกันแพร่หลาย ได้แก่ เรือสำปั้นหรือซำปัง ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการเป็นเรือประเภทต่างๆ อีกมากมาย
๑. เรือสำปั้น หรือ ซำปัง
เป็นเรือต่อขนาดเล็กสำหรับคนทั่วไปใช้ในการเดินทางไปมาหาสู่กัน ดูเหมือนจะเริ่มมีขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนขวาขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. ๒๓๖๒ สำหรับเป็นที่ทรงสำราญพระอิริยาบถส่วนพระองค์และบรรดาข้าราชบริพารฝ่ายใน ซึ่งในสวนขวาประกอบด้วยสระน้ำ ภูเขา สวนจำลอง เหมาะสำหรับการนั่งเรือพายเล่นในสระ
คำว่า "สำปั้น" มาจากภาษาจีนว่า "ซำปัง" (Sampan) หมายถึง เรือเล็กที่วางอยู่บนเรือสำเภาใช้ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน หรือใช้พาย เข้ามาติดต่อกับชายฝั่งได้ ต่อขึ้นด้วยไม้กระดาน ๓ แผ่นคือ แผ่นท้องเรือ และแผ่นข้างเรือ ๒ ข้าง ต่อมาพระยา
สุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ได้ให้ช่างต่อเรือชาวไทยปรับปรุงรูปแบบเรือซำปังของจีนให้เป็นเรือสำปั้นแบบไทย โดยใช้ไม้กระดาน ๕ แผ่น มีความอ่อนช้อยสวยงาม เรือซำปังในยุคแรกที่สั่งมาจากเมืองจีนทำด้วยไม้ฉำฉา ต่อมา จึงเปลี่ยนมาใช้ไม้สัก มีความยาวประมาณ ๔-๖ เมตร
ต่อมาไทยได้ดัดแปลงรูปแบบของเรือสำปั้นเป็นชนิดต่างๆ และเรียกชื่อต่างๆ กัน คือ
ก. เรือสำปั้นพาย
เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดาน ๕ แผ่น ที่มีการดัดแปลงมาจากเรือซำปังของจีน เป็นต้นแบบของเรือสำปั้นประเภทต่างๆ เรือมีขนาดเล็ก ความยาว ๒-๕ เมตร ใช้พายในการขับเคลื่อน ต่อมาเรียกว่า เรือสำปั้นพาย
เรือสำปั้นพาย
ข. เรือสำปั้นเพรียว
เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดาน ๕ แผ่น ตัวเรือจะแคบแต่ยาว หัวและท้ายเรือเรียว ค่อนข้างโคลง ตอนหัวมี ๓ กระทง ลดระดับพื้นลงต่ำ คนพายต้องนั่งชันเข่าหรือห้อยเท้า ตอนกลางลดพื้นลงต่ำยาว ตอนท้ายมี ๒ กระทงปูพื้นสูง เรือสำปั้นเพรียวนี้ทางวัดต่อขึ้น สำหรับให้ภิกษุสามเณรใช้ออกไปบิณฑบาต บางลำจึงเจาะช่องสำหรับวางบาตรไว้เพื่อไม่ให้ล้มขณะเรือโคลง ในฤดูกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เด็กวัดจะใช้เรือสำปั้นเพรียวนี้มาแข่งกันอย่างสนุกสนาน
เรือสำปั้นเพรียว
ไม้ที่ใช้ต่อเรือสำปั้นเพรียวใช้ไม้สัก เพราะมีความทนทานและการยืดการหดตัวน้อยกว่าไม้ชนิดอื่น ส่วนประกอบของตัวเรือ มีกระดูกงูแบนยาวติดกับทวนหัวทวนท้าย มีเปี๊ยะเป็นโครงสร้างแทนกงเรือ การยึดเปลือกเรือแทนกงเรือใช้มือลิง ส่วนหัวและท้ายเรือมีแผ่นปิดหัว-ท้ายวาดเป็นวงงอนโค้งสวยงาม ตอนขอบหัว ท้าย และกลางของเรือ ใช้แผ่นปิดหัว-ท้ายเป็นเหล็กแบนเลี่ยม (การหุ้มขอบหัวเรือและท้ายเรือด้วยแผ่นโลหะ มีลักษณะแบน กว้างประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อกันไม้แตก หรือกันกระแทก คล้ายกับการเลี่ยมพระ) เพื่อรักษาส่วนหัวเรือไม่ให้แตก นับว่าเป็นเรือพายที่มีความสวยงาม ชนิดหนึ่ง
เรือสำปั้นสวน
ค. เรือสำปั้นสวน
เรือสำปั้นสวนเป็นเรือในตระกูลเรือสำปั้นทั่วไปแต่มีขนาดใหญ่กว่า ใช้แจวหัวและท้าย กลางลำมีประทุน ซึ่งใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่บางๆ สานขัดไว้ ชั้นในอาจปูด้วยจาก ที่ใช้มุงหลังคา ภายนอกบางลำยาพอนด้วยชัน เพื่อป้องกันแสงแดดหรือฝนรั่วได้ดี และเพื่อสวยงาม ส่วนหัวและท้ายเรือบางลำมีหลังคาที่สานด้วยไม้ไผ่ที่ยื่นออกมา หรือเลื่อนเข้าไปเก็บบนหลังคาประทุนกลางลำได้
เรือสำปั้นสวนใช้บรรทุกพืชผักผลไม้ เช่น หมาก มะพร้าว กล้วย ทุเรียน ฝรั่ง จากสวนที่อยู่นอกเมืองเข้ามาขายที่ตลาดน้ำ หรือท่าเรือ บางลำมีขนาดใหญ่ หากต้องการนำผลไม้ไปขายในที่ไกลๆ ก็จะปูพื้นกระดานตลอดลำเป็นที่พักอาศัยด้วย เรือสำปั้นสวน มีความยาวประมาณ ๘-๑๒ เมตร
ง. เรือสำปั้นจ้าง
เรือสำปั้นจ้างเป็นเรือต่อด้วยไม้กระดาน ๕ แผ่น ประกอบด้วย เปี๊ยะและกระทง พื้นหัวเรือและท้ายเรือเสมอมอบข้างเรือ พื้นกลางลำลดต่ำลง มีกระทงที่นั่งกลางลำ ทำให้นั่งสบายไม่โคลง มีหลักแจวสำหรับใช้แจวที่ช่วงท้ายเรือ โดยที่ท้ายเรือมีหางเสือ มีก้านพังงายื่นขึ้นมาสำหรับคนแจวใช้เท้าเขี่ยบังคับเรือไปตามทิศทางที่ต้องการในขณะที่แจวเรือไปด้วย บางลำมีคนช่วยพาย ที่หัวเรือในกรณีที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก ใช้รับ-ส่งผู้โดยสารประมาณ ๔-๖ คน ความยาวประมาณ ๖-๘ เมตร ในระยะแรก เรือสำปั้นจ้างมีสัดส่วนที่ยาวกว่าในปัจจุบัน และไม่มีหลังคา ต่อมาจึงมีผู้ทำเก๋ง โดยใช้เสาเก๋งทำด้วยไม้ ๖ ต้น มีโครงหลังคาไม้ฝักมะขาม รับแผ่นหลังคา ซึ่งทำด้วยสังกะสีแผ่นเรียบ
เรือสำปั้นจ้าง
จ. เรือสำปั้นแปลง
สมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อคราวทำสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง มีการสั่งเรือซำปังที่ต่อด้วยไม้กระดาน ๓ แผ่นมาจากประเทศจีน รูปทรงเรือเทอะทะ จึงคิดต่อเป็นสำปั้นแปลง โดยแก้รูปทรงให้เพรียวกว่าเรือจีน สำหรับข้าราชบริพารพายเล่นในสระ ต่อมา พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) จึงคิดต่อเรือสำปั้นยาว ๗-๘ วา และเมื่อช่างมีความชำนาญมากขึ้น จึงต่อเป็นสำปั้นขนาดใหญ่ มีเก๋งสลักลวดลาย เรียกว่า เรือเก๋งพั้ง ยาว ๑๔-๑๕ วา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของเจ้านาย หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
เรือสำปั้นแปลง
เรือสำปั้นแปลงที่ต่อขึ้นเป็นเรือแบบใหม่นี้บางลำมีท้ายตัดเรียกว่า สำปั้นท้ายตัด สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ริเริ่มต่อเรือสำปั้นแปลงสำหรับใช้เป็นเรือรบ หัวเรือมีลักษณะเป็นปากปลา ท้ายเรือเป็นกำปั่น ความยาว ๑๑ วา ความกว้าง ๙ ศอก ๑ คืบ มีทั้งแจวและใบขับเคลื่อนเรือ เรียกว่า เรือรบอย่างนคร หรือ เรือสำปั้นไล่สลัด สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งที่เอ็ดมันด์ รอเบิร์ต (Edmund Robert) ทูตจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาทำสนธิสัญญา ทางพระราชไมตรี ทางราชการได้จัดเรือแบบนี้ ๒ ลำไปรับจากสันดอนเข้ามากรุงเทพฯ เป็นเรือที่มีเก๋งอยู่ตอนกลางลำเรือ และใช้แจวขับเคลื่อนเรือ
๒. เรือบด
เรือบดเป็นเรือต่อที่มีขนาดเล็ก มี ๒ ชนิดคือ เรือบดไม้กระดาน ๕ แผ่น และเรือบดเกล็ด ท้องกลม
เรือบด
ใช้ไม้กระดาน ๕ แผ่น มีลักษณะเพรียว มีทวนหัวทวนท้ายโค้งเรียวเลยขึ้นไปบนดาดฟ้า เรียกว่า หงอน เรือมีดาดฟ้า และมีกระทงหัว-ท้าย นั่งได้ ๑ คน หรือ ๒ คน
เรือบด
เรือบดเกล็ด
มีเปลือกเรือที่ใช้ไม้แผ่นเล็กๆ ตีซ้อนทับกัน โดยใช้ตะปูทองแดงตัวเหลี่ยมเจาะทะลุยึดติดกับกงเรือ ซึ่งเรียกว่า กงอ่อน เพราะใช้ไม้แผ่นเล็กนึ่งไอน้ำทาบให้แนบตามความโค้งของท้องเรือ
เรือเข็ม
๓. เรือเข็ม
เรือเข็มเป็นเรือต่อลักษณะเพรียว มีทวนหัวและทวนท้ายคล้ายเรือบด ดาดฟ้าหัว-ท้ายยาวเป็นสันเล็กน้อย กลางลำเป็นช่องที่นั่ง มีบังคลื่นโดยรอบ นั่งได้เพียงคนเดียวหรือ ๒ คน กระทงที่นั่งมีพนักพิง เวลานั่งต้องเหยียดเท้าไปข้างหน้า พายมี ๒ ใบ จึงพายสลับซ้ายขวาได้สะดวก แต่ก็โคลงมาก ถ้านั่งคนเดียวเรียกว่า เรือโอ่ มีกราบเรือกันคลื่นช่วยบังคลื่นไม่ให้คนพายเปียก ไม้ที่นิยมใช้ต่อเรือคือ ไม้สัก ไม้ยมหอม ไม่ค่อยนิยมใช้ไม้ยางเพราะไม่ทนทานและหดตัวมาก เรือเข็มเป็นเรือที่มีน้ำหนักเบา สามารถยกคนเดียวได้ ภิกษุที่จำพรรษาที่วัดใกล้แม่น้ำ ใช้เรือนี้ออกไปบิณฑบาตในตอนเช้า ส่วนชาวบ้านใช้พายไปทำบุญที่วัด ในงานทอดกฐินผ้าป่า หรือใช้พายแข่งกันสนุกสนาน ความยาวโดยประมาณ ๓.๕-๔.๕ เมตร บางลำยาวมาก บรรทุกคนได้ ๔-๕ คน แล่นได้เร็ว
๔. เรือแตะ
เรือแตะเป็นเรือต่อขึ้นด้วยไม้แผ่นทั้งลำเรือ ไม้ที่นิยมนำมาต่อเรือ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ตะเคียน ท้องเรือเป็นเหลี่ยม หัวและท้ายเรือโค้งมน ใช้ไม้กระดาน ๕ แผ่น เสริมกราบทั้ง ๒ ข้างสูงขึ้นมาประมาณ ๔-๕ นิ้ว เป็นเรือน้ำหนักเบาสำหรับพายเล่น มีความยาวประมาณ ๔-๕ เมตร บรรทุกคนได้ ๔-๕ คน เป็นเรือที่ชาวชนบทภาคกลาง เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ต่อขึ้นเพื่อนำไปใช้ในสวน สำหรับบรรทุกผลผลิตออกจากสวน หรือใช้ตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเก็บผัก ตกปลา หรือใช้พายติดต่อกันภายในหมู่บ้าน เป็นเรือที่ต่อได้ไม่ยาก เพราะไม่ต้องดัดไม้โค้งมากเหมือนเรือสำปั้น
เรือแตะ
๕. เรือป๊าบ
เรือป๊าบเป็นเรือต่อที่มีลักษณะหัวและท้ายเรียว กลางกว้าง ท้องเรือกลมเกือบแบน พัฒนามาจากเรือแตะของภาคกลาง ไม้ที่ใช้ต่อเป็นไม้สัก ช่างต่อเรือมักจะต่อกันมาจากภาคเหนือ หรืออาจส่งไม้มาต่อเรือป๊าบแถวย่านรังสิต มีใช้ที่จังหวัดราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา วิธีการต่อเรือก็ไม่ยุ่งยากมากนัก มีพื้นส่วนหัวและส่วนท้ายเรือ กลางลำลดพื้นลงต่ำ ใช้โดยสารไปมา ระหว่างหมู่บ้าน หรือใช้เกี่ยวข้าว เกี่ยวหญ้า ช่างต่อเรือชาวบ้านก็สามารถต่อได้ เพราะไม่ต้องใช้เทคนิคมากนักและราคาไม่แพง แต่ในปัจจุบันไม้ลดน้อยลงมากและราคาแพง ประกอบกับช่างต่อเรือก็หาได้ยาก จึงไม่ค่อยพบเห็นเรือชนิดนี้มากนัก ความยาวของเรือประมาณ ๔-๕ เมตร
เรือป๊าบ
๖. เรือจู๊ด
เรือจู๊ดเป็นเรือต่อคล้ายเรือแตะ มีรูปร่างเพรียวยาว ประกอบด้วยไม้กระดาน ๕ แผ่น ท้องเรือเกือบแบน นั่งสบายไม่โคลง เดิมเรือต่อมาจากทางภาคเหนือแล้วล่องมาขายในภาคกลาง พ่วงติดกันมาเป็นแพ ราคาไม่แพง เรือต่อด้วยไม้สัก ใช้วิธีการต่อแบบง่าย ๆ ระยะหลังมีการต่อกันแถวคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี สำหรับใช้ค้าขายสินค้าพืชผักผลไม้พื้นบ้าน ใช้กันมากในตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนนทบุรี โดยใช้เครื่องยนต์หางยาวเกาะท้ายแล่นได้เร็ว บางท้องถิ่นดัดแปลงเป็นเรือแข่งขันกัน เช่น จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ บางจังหวัดดัดแปลงเป็นเรือโดยสาร โดยเพิ่มกระทงที่นั่งและหลังคาผ้าใบ ติดเครื่องยนต์หางยาวขนาดเล็ก แล่นได้เร็วแต่ไม่ปลอดภัย เพราะลำเรือเล็ก กราบเรือไม่สูงจากน้ำเหมือนเรือสำปั้นจ้าง
เรือจู๊ด
๗. เรือผีหลอก
เรือผีหลอกเป็นเรือหาปลาของชาวบ้าน มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อด้วยไม้กระดาน ๓ แผ่น ลักษณะเพรียว ความยาวประมาณ ๕-๖ เมตร ใช้แจว บางท้องถิ่นใช้เรือขุด คอหัวเรือและคอท้ายเรือมีแคร่ กลางลำโล่ง มีไม้กระดานวางพาดแผ่นเดียว ใช้เป็นสะพานทางเดินจากหัวเรือมาท้ายเรือเท่านั้น มีแจวที่ท้ายเรือเพียงแจวเดียว ส่วนหัวเรือมีคนช่วยถ่อหรือพาย เพื่อบังคับทิศทาง กราบเรือด้านซ้ายมีเสาสูงประมาณ ๑ เมตร จากห้องกลางลำเรือ ขึงด้วยตาข่ายโตประมาณ ๑ นิ้ว เพื่อกันไม่ให้ปลากระโดดข้ามเรือ ด้านขวามีแผ่นกระดานทาสีขาวห้อยข้างเรือ
เรือผีหลอก
การที่เรียกว่าเรือผีหลอก เพราะในตอนดึกหรือใกล้รุ่งของคืนข้างแรม คนหาปลาจะแจวเรือที่มีแผ่นกระดานซึ่งทาสีขาวห้อยข้างเรือ ด้านซ้ายเหนือกราบเรือมีแหตาข่ายขึงระหว่างห้องท้องเรือ โดยค่อยๆ แจวอย่างเงียบๆ ไปตามชายตลิ่งในฤดูน้ำลด เมื่อปลาที่อยู่บริเวณริมตลิ่งเห็นแสงจากแผ่นกระดานสีขาว จะตกใจและกระโดดข้ามแผ่นกระดานไปติดตาข่าย แล้วตกลงในเรือ ในคืนหนึ่งๆ จะได้ปลาประมาณครึ่งลำเรือ ชาวบ้านจะย่างเก็บไว้เป็นอาหารได้นาน
๒. เรือต่อขนาดใหญ่ใช้บรรทุก
เรือต่อที่ใช้บรรทุกส่วนมากเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ ใช้เพื่อการบรรทุกสินค้าที่มีจำนวนมาก หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีดังนี้
๑. เรือกระแชง
เรือกระแชงเป็นเรือที่มีการต่อขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือที่มีท้องกลมและป้อมคล้ายแตงโม ถ้าลำเรือใหญ่มาก ท้องเรือจะกว้างเกือบแบน เพื่อใช้บรรทุกได้มากและตัวเรือไม่เอียง กงเรือจะเป็นไม้โค้งตามท้องเรือ และวางเรียงกันถี่มาก เพื่อความแข็งแรง ทวนหัวและทวนท้ายเรือทำจากไม้หนามาก ดัดให้งอนขึ้นด้วยการลนไฟ ปลายทวนหัวเรือจะปาดเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนปลายทวนท้ายเรือจะปาดให้เป็นรูปโค้งมน เรือกระแชงในสมัยแรก จะมีรูปร่างเพรียว เพื่อให้แจวได้เร็ว แต่ต่อมามีการใช้เรือยนต์ลากจูง เรือกระแชงที่ทำด้วยไม้จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนหัวและส่วนท้ายเรือมีลักษณะโค้งมากขึ้น
เรือกระแชง
๒. เรือเอี้ยมจุ๊น
เรือเอี้ยมจุ๊นมีลักษณะคล้ายกับเรือกระแชง แต่ทวนหัวและทวนท้ายจะเป็นท่อนตรงตั้งขึ้น เอียงไปทางหัวและท้าย และจะเรียว ไม่ป้อมเหมือนเรือกระแชง มีไม้กระดานเรียบเสริมกราบเรือ หางเสือเป็นแบบพาดข้างเรือ หรือแขวนคล้องติดกับหลักท้ายเรือ ต่างกับหางเสือของเรือกระแชงที่ติดในแนวกึ่งกลางลำเรือ เรือเอี้ยมจุ๊นมีความยาวประมาณ ๒๐-๒๕ เมตร ใช้ลำเลียงสินค้า จากเรือใหญ่เข้าเก็บที่โกดัง และขนถ่ายสินค้าจากโกดังมาที่เรือสินค้า หรือจากเรือสินค้ามาที่ท่าเทียบเรือ เปลือกเรือใช้ไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยม ส่วนกงเรือ กระดูกงู และทวนใช้ไม้เนื้อแข็ง ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นเรือเอี้ยมจุ๊น โดยมีการใช้เรือเหล็กแทน เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาถูกกว่าเรือไม้และบรรทุกได้มากกว่า
เรือเอี้ยมจุ๊น
คำว่า "เอี้ยมจุ๊น" ในภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า เอี่ยมจุ๊น แปลว่า เรือเกลือ สันนิษฐานว่า คงจะใช้บรรทุกเกลือมาก่อน เพราะเป็นเรือที่แข็งแรง และรับน้ำหนักได้ดี
๓. เรือข้างกระดาน (เรือเครื่องเทศ)
เรือข้างกระดานเป็นเรือแจว ใช้ไม้แผ่นกระดานประกอบขึ้นเป็นตัวเรือ ท้องเรือคล้ายเรือสำปั้นสวนแต่แบนกว่า และหางเสือกว้างกว่าเรือสำปั้นสวน ตอนกลางมีประทุน เก๋งกรุด้วยแผ่นกระดานรางลิ้น หน้ากว้างประมาณ ๘-๑๒ นิ้ว จึงเรียกว่า เรือข้างกระดาน ส่วนชื่อเรือเครื่องเทศนั้น เพราะสินค้าที่มีขายเป็นหลัก ได้แก่ เครื่องเทศชนิดต่างๆ
เรือข้างกระดานเป็นเรือขายสินค้าเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ช่วงกลางลำเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น เครื่องเทศจำพวกพริกไทย กระวาน กานพลู ข้าวสาร เครื่องใช้ในครัว หม้อ กระชอน ถ้วยชาม ช้อน กระต่ายขูดมะพร้าว ถังน้ำ หวดนึ่งข้าวเหนียว เครื่องใช้ในบ้าน เปลญวน รวมทั้งผ้าและเครื่องประดับ เช่น สร้อยทองคำ ดาดฟ้าหัวเรือใช้เป็นที่ปรุง และรับประทานอาหาร เจ้าของเรือส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่รวมกันในเรือทั้งครอบครัว และขึ้นล่องค้าขายกันเป็นกลุ่ม ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นด้วยความเคยชิน มีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เมื่อขึ้นไปขายสินค้าทางภาคเหนือ สินค้าหมด ก็จะล่องลงมากรุงเทพฯ ซื้อสินค้าไปขายใหม่ เวลาล่องเรือไปกลางทุ่งนา บางครั้งก็ยิงนก เอาขนมาทำพัดขนนก ซึ่งเป็นสินค้างานฝีมือที่เลื่องชื่อของชาวไทยมุสลิมในอดีต
เรือข้างกระดาน
เรือข้างกระดานเป็นเรือประเภทเรือค้าขายที่สวยงามชนิดหนึ่ง สวยกว่าเรือกระแชง มีแจวหัวและแจวท้าย แต่ขนาดของเรือไม่ใหญ่นัก ความยาวประมาณ ๘-๙ เมตร ความกว้าง ๒.๒๐ เมตร มีแอกหัว-ท้าย ที่ท้ายเรือติดหางเสือ ปัจจุบันเกือบไม่มีให้เห็นแล้ว
๔. เรือมอ
เรือมอเป็นเรือที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเรือกระแชง แต่เพรียวกว่าเล็กน้อย ไม่มีกระดานเรียบข้างเรือ ไม้ที่ใช้ต่อเรือเป็นไม้ตะเคียนหรือไม้สัก มีหลังคาส่วนท้ายเรือ หางเสือใช้ชนิดแขวนพาดไว้ท้ายเรือ และมีก้านหางเสือ สูงขึ้นมา มีพังงาสอดที่ก้านหางเสือเป็นหางเสือคู่ เป็นเรือที่ต้องอาศัยเรือยนต์ลากจูง ใช้บรรทุกสินค้าหรือเป็นที่อยู่อาศัย
เรือมอ
เรือมอที่ใช้กันในภาคกลางเป็นเรือขุดขนาดใหญ่ ทวนหัวและทวนท้ายเรือเป็นท่อนไม้ใหญ่ ทำด้วยไม้สัก ด้านข้างเรือต่อขึ้นมาเป็นแผ่นกระดาน กว้างประมาณ ๑ ศอก (๕๐ เซนติเมตร) ใช้บรรทุกวัว บางครั้งใช้บรรทุกแกลบหรือฟาง ซึ่งมีน้ำหนักเบา เจ้าของก็ต่อแผ่นไม้เสริมกราบขึ้นไปอีก เพื่อให้บรรทุกได้มากขึ้น
เรือฉลอม
๕. เรือฉลอม
เรือฉลอมเป็นเรือต่อที่มีความสวยงามอีกแบบหนึ่ง เป็นเรือของชาวบ้าน จังหวัดชายทะเล แถบสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม บรรทุกของทะเล จำพวกน้ำปลา กะปิ เกลือ หรือเครื่องปั้นดินเผา หม้อ กระถาง โอ่ง หรือจากมุงหลังคา ขึ้นไปขายแถบภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี โดยจอดขายที่ตลาดน้ำของจังหวัดนั้นๆ เช่น ที่พระนครศรีอยุธยา จอดขายแถวตลาดน้ำหน้าวัดมณฑป ตรงข้ามพระราชวังจันทรเกษม
ลักษณะของเรือฉลอมเป็นเรือต่อ ท้องกลม ทวนหัวและทวนท้ายตั้งเกือบตรง สูงขึ้นดูเป็นสง่ารับกับวงปากเรือ มีแอกหัวและแอกท้าย หลังคาเป็นประทุนไม้ไผ่สานขัดแตะเป็นวงโค้งเกือบกลมทับบนประทุนหลังคาจากเพื่อกันฝน โดยหลังคาประทุนลักษณะนี้ จะไม่มีไอร้อนจากหลังคาเหมือนประทุนสังกะสีของเรือกระแชง ส่วนหน้าประทุนหัวเรือจะมีเสากระโดง สำหรับแขวนใบเรือ ซึ่งทำด้วยผ้าดิบย้อมยางมะเกลือ เรือฉลอมมีความยาวประมาณ ๑๒-๑๕ เมตร
๖. เรือโป๊ะจ้าย
เรือโป๊ะจ้ายนี้ ชาวโปรตุเกสเป็นผู้ริเริ่มต่อขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สำหรับใช้ปราบโจรสลัด ทางบริเวณเมืองกวางตุ้ง เรียกว่า เรือลอร์ชา (Lorcha) คนไทยเรียกว่า "เรือโป๊ะจ้าย" เดิมเคยใช้เป็นเรือลำเลียงสินค้า บรรทุกจากท่าเรือกรุงเทพฯ นำไปส่งขึ้นเรือใหญ่ที่ท่าเรือเกาะสีชัง ในสมัยที่ยังไม่มีการขุดสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ที่เรียกว่าเรือโป๊ะจ้าย เพราะในภาษาจีน หมายถึง เรือลำเลียง แบบเดียวกับที่ฝรั่งเรียกว่า ไลท์เตอร์ (Lighter)
เรือโป๊ะจ้าย
เรือโป๊ะจ้ายต่อด้วยไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ท้องเรือกลมกว้าง มีเสา ๓ เสา ท้ายเรือมีประทุน
๗. เรือแหวด ๖ แจว
เป็นเรือต่อท้องกลม มีทวนหัวและทวนท้าย ทวนหัวใช้แท่งไม้ตั้งตรงสูงเหนือเปลือกเรือขึ้นไป แกะสลักลายแบบฝรั่ง เช่นเดียวกับเรือกอนโดล่า เปลือกเรือทำด้วยไม้แผ่นเล็กตีทับซ้อนกันแบบเกล็ด (Clinker Built) โดยนำรูปแบบมาจาก เรือช่วยชีวิตในเรือกำปั่นของชาวตะวันตก บางลำมีเก๋งกลางลำ มีแจวหัว ๓ แจว ท้ายเรือ ๓ แจว บางลำมีกระทงที่นั่งเป็นระยะๆ มีใช้กันมากสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้เฉพาะเจ้านาย บางลำใช้คนพายลำละ ๕-๖ คน เรือแหวดมีความยาวประมาณ ๑๒-๑๕ เมตร
เรือแหวด ๖ แจว
๘. เรือสำเภาไทย
คำว่า "สำเภา" มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ตะเภา" ซึ่งหมายถึง ลมที่พัดมาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือในฤดูร้อน เนื่องจาก เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนมีการติดต่อค้าขายกับประเทศไทยมากที่สุด โดยมากเข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมา ดังนั้น จึงเรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า เรือตะเภา หรือ เรือสะเภา ต่อมาภายหลัง จึงเพี้ยนไปเป็น เรือสำเภา คือเรือที่มาจากประเทศจีน เรือของจีนนั้น ก็มีหลายแบบหลายขนาด เช่นเดียวกับเรือของประเทศอื่นๆ เรือสำเภาจึงมีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าเป็นเรือขนาดใหญ่แบบจีนที่แล่นออกทะเลลึกได้
เรือสำเภาของไทยมีถิ่นกำเนิดมาจากจีนอย่างแน่นอน เพราะตามประวัติบอกว่า มีช่างชาวจีนเป็นหัวหน้าช่างต่อเรือ และการเดินเรือเข้าไปค้าขายจะต้องเป็นเรือที่มีลักษณะเป็นเรือของจีน จึงจะเข้าเทียบท่าเรือของจีนได้
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๖๓ ในยุคเอโดะ (Edo) ของประเทศญี่ปุ่น เจ้าเมืองฮิราโดะ (Hirado) ได้สั่งให้วาดภาพเรือสำเภาต่างประเทศ เพื่อถวายแด่โชกุน มีภาพของเรือสำเภาไทย ซึ่งมีลักษณะต่างจากเรือสำเภาจีนโดยทั่วไปเล็กน้อย กล่าวคือ มีการทาสีแดงเข้มด้านข้างของกราบเรือ ส่วนท้องเรือด้านล่างทาสีขาว มีเสาค้ำ (Bow sprit) และใบหน้า (Jib sail) ยื่นออกไปทางหัวเรือ เพื่อช่วยในการบังคับทิศทางของเรือ ตรงหางเสือมีเหล็กทาสีดำประกบไว้เพื่อเสริมความแข็งแรง คาดว่า ได้รับอิทธิพลจากเรือสำเภาฝรั่ง
การต่อเรือสำเภาในสมัยอยุธยา
ความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตมีหลายด้าน ทั้งในด้านศิลปะ วรรณคดี การปกครอง การทหาร การพาณิชย์ การคมนาคม ในสมัยนั้น ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ซึ่งการค้าทางทะเล ต้องมีการต่อเรือสำหรับใช้ออกไปทำการค้าขาย อุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศไทยจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาก่อนแล้ว ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ดังปรากฏว่า เรือรบและเรือสำเภาค้าขายของไทยแต่โบราณส่วนใหญ่เป็นเรือที่ต่อในเมืองไทย ทั้งที่เป็นเรือสำเภาแบบจีนและเรือกำปั่นแบบฝรั่ง ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏว่า มีการจ้างช่างต่อเรือจากประเทศฮอลันดา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะมีพระราชดำริให้ต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งสำหรับใช้ในราชการ ส่วนเรือสำเภาแบบจีนคงจะต่อได้อยู่แล้ว โดยมีหัวหน้าช่างต่อเรือเป็นชาวจีน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในสมัยนี้ การค้าทางทะเลมีความเจริญก้าวหน้ามาก ก็ได้มีการต่อเรือกำปั่นที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองมะริด ซึ่งปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุของบาทหลวงเดอชัวซี ที่กล่าวว่า
"ในแม่น้ำ (เจ้าพระยา) เต็มไปด้วยเรือของฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา จีน ญี่ปุ่น และไทย และยังมีเรือใหญ่น้อยอีกเป็นอันมาก แทบจะนับไม่ถ้วน พระเจ้ากรุงสยามกำลังทรงพระราชดำริสร้างกำปั่นแบบฝรั่ง มีกำปั่นที่กว้านเอาลงน้ำแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ๓ ลำ"
"มองซิเออร์คอนสตันซ์ (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) มีเรือสำเภาตั้ง ๕-๖ ลำ ส่งไปค้าขายติดต่อกับเมืองจีนและญี่ปุ่น"
ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) ก็ได้มีการต่อเรือกำปั่น ซึ่งใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ กล่าวว่า
เรือสำเภาไทย
"ในปีมะเมียฉศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้ช่างต่อเรือกำปั่นใหญ่ ไตรมุข ขนาด ๑๘ วา ๒ ศอก ปากกว้าง ๖ วา ๒ ศอก ให้ตีสมอใหญ่ที่วัดมเหยงค์ ๕ เดือน กำปั่นออกแล้ว ให้เอาไปยังเมืองมฤต บรรทุกช้างได้ ๓๐ เชือก ให้ไปขายเมืองเทศโน้น คนทั้งหลายลงกำปั่นใช้ใบไปเมืองเทศแล้วขายช้างนั้นได้เงินแลผ้าเป็นอันมาก แล้วกลับคืนมาถึงยังเมืองมฤตสิ้นปีเศษ"
เรือดังกล่าวข้างต้นมีความยาวประมาณ ๓๗ เมตร ความกว้างประมาณ ๑๓ เมตร ใช้เวลาในการต่อประมาณ ๕ เดือน หล่อหลอมด้วยเหล็กและตีเป็นสมอใหญ่ที่วัดมเหยงคณ์ในกรุงศรีอยุธยา คงเป็นเรือกำปั่นใบไม่น้อยกว่า ๒ เสา ใช้ใบพรวนใยพืช และเป็นใบชนิดพับ ท้ายบาหลียกสูง มีบ้านเล็กๆ คล้ายสำเภาจีน หางเสือแบบบานประตู มีช่องข้างเรือสำหรับพาดกระบอกปืน มีช่องระวางทางลงสินค้า เพราะไม่มีเครนหรือคันบูมยกสินค้าเหมือนปัจจุบัน ในครั้งนั้นต้องต้อนช้างเดินตามทางลาด ลงไปถึงท้องเรือ สามารถบรรทุกช้างได้ถึง ๓๐ เชือก และภายในท้องเรือต้องมีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอ สำหรับบรรทุกช้าง และอาหารของช้าง เรือกำปั่นใช้ใบโดยไม่มีเครื่องยนต์ เมื่อมีลมสามารถเดินทางไปได้ แต่ยามลมสงบก็จะไปไม่ได้ ต้องทอดสมอ เพื่อคอยลม การเดินทางต้องใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้น จะต้องจัดเตรียมเสบียงอาหาร รวมทั้งน้ำจืดสำหรับลูกเรือและกัปตัน อีกจำนวนหนึ่ง แต่หากถึงเมืองท่า ก็อาจได้รับเสบียงอาหารและน้ำ เมื่อยามศึกสงครามก็อาจใช้เป็นเรือรบได้ด้วย
การต่อเรือกำปั่นในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการกล่าวถึงเรื่องชาวโปรตุเกส ขออนุญาตเข้ามาต่อเรือในประเทศไทย โดยกล่าวไว้ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า
"ครั้นมาถึง ณ วันเดือนสี่ขึ้นสามค่ำปีมโรงโทศก* นั้น เจ้าเมืองมาเกามีหนังสือให้ แงนเดรันโยยิกา** บิดามัสลินโน*** เข้ามาขอต่อเรือกำปั่น ก็โปรดให้สร้างโรงต่อขึ้นที่บ้านกงศุลเยเนราล ปากกว้างสี่วาสามศอก ครั้นเรือกำปั่นแล้วไม่มีทุน จะซื้อสินค้าบันทุกออกไป จึงถวายระวางให้บันทุกของหลวงออกไป แล้วยืมเงินหลวงร้อยยี่สิบชั่ง ใช้ในการเรือ ก็โปรดพระราชทาน ให้ยกค่าธรรมเนียมต่อเรือปากเรือให้ด้วย"
*ตรงกับวันอังคารที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๓
**มีชื่อเต็มว่า มิเกล เด อาโรโจ โรซา (Miguel de Araujo Rosa) เป็นกงสุล แทนกงสุลที่ชื่อ คาร์ลอส (Carlos) หรือที่คนไทยเรียกว่า กาละลด
***มัสลินโน มีชื่อเต็มว่า มาร์เซลิโน เด อาโรโจ โรซา (Marcelino de Araujo Rosa) ตำแหน่งเลขานุการโรงสินค้า
ข้อความนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการต่อเรือ ทั้งสำเภาแบบจีนและกำปั่นแบบฝรั่งแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อใช้เป็นเรือหลวงหรือค้าขายทางทะเล รวมทั้งมีพ่อค้าและประชาชนสร้างโรงต่อเรือสินค้า เพราะประเทศไทยอุดมไปด้วยไม้ ทำให้มีราคาถูกกว่าต่างประเทศ และค่าแรงก็ไม่แพง ค่าต่อเรือจึงถูกกว่าที่อื่น ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรดี
๓. เรือต่อที่ใช้เครื่องยนต์
นอกจากเรือต่อขนาดเล็กและขนาดใหญ่แล้ว ยังมีเรือต่อที่ใช้เครื่องยนต์ ประกอบด้วยเรือชนิดต่าง ๆ ดังนี้
๑. เรือเมล์
เรือเมล์ หรือเรือลากจูงเป็นเรือยนต์ชนิดหนึ่งที่มีความสวยงาม เครื่องยนต์ติดตั้งกลางลำเรือ ในอดีต อาจใช้เป็นเรือโดยสารชั้นเดียวหรือ ๒ ชั้นจอดแถวท่าเตียน บรรทุกผู้โดยสาร สินค้าพืชผัก และเครื่องอุปโภคบริโภค โดยออกจากท่าเตียนตอนเย็น ไปพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ถึงชัยนาทในตอนเช้า หากเป็นเรือ ๒ ชั้น ก็นอนค้างแรมกัน ในเรือ ๑ คืน
เรือเมล์
ลักษณะเป็นเรือท้องกลม ทวนหัวตั้งตรงในแนวดิ่ง ท้ายแบนคล้ายก้นแมลงสาบ มีเสาเก๋งหลังคาช่วงกลางลำ ด้านหน้าคนบังคับ หรือถือท้าย จะมีเฟี้ยมด้านล่างเป็นลูกฟักไม้ ด้านบนเป็นกระจกบังฝน หรืออาจเปิดรับลมได้ ท้ายเรือมีเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรง ใช้เป็นหลักโยงผูกเชือกลากจูงเรือ ในปัจจุบันมีขอเหล็กรับเชือกหลักโยงที่ภาษาชาวเรือเรียกว่า "หลักทรัพย์" เรือลากจูงขนาดใหญ่จะเลื่อนหลักทรัพย์ไว้ตอนในช่วยให้ท้ายเรือแข็งแรง
ตัวเรือจะต่อด้วยไม้สักหรือไม้ตะเคียนทอง กงเรือใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน เพราะมีความแข็งแรงทนทานมาก การยึดเหนี่ยวเปลือกเรือให้ติดกับกงเรือใช้ลูกประสักไม้แสม ไม้กระดูกงูและทวนเรือส่วนมากใช้ไม้ประดู่ ตัวเรือภายนอกทาสี ใต้ระดับน้ำทาสีกันเพรียง เหนือกราบเรือทาน้ำมันชักเงาโชว์เนื้อไม้สวยงาม พื้นภายในเรือปูเรียบ แต่เปิด-ปิดได้ตลอดลำ เรือเมล์มีความยาวประมาณ ๑๒-๑๖ เมตร
เรือแท็กซี่
๒. เรือแท็กซี่
เรือแท็กซี่ หรือที่ชาวเรือเรียกว่า "เรือยนต์ลากจูง" หัวเรือแบนกว้าง เชิดขึ้นเล็กน้อย พองาม ท้ายเรือแบนลาด มน โค้งเกือบกลม ท้องเรือกลม มีเก๋งคลุมกลางลำเว้นดาดฟ้า หัว-ท้ายของเรือบางลำที่มีขนาดใหญ่เครื่องจะสูง และท้องเรือจะลึกมาก ใบจักรเรือก็จะกินน้ำลึก เพื่อให้มีกำลังลากจูงมาก และมีเครื่องบังคับต่อไปที่หัวเรือ สำหรับบังคับการเดินเรือ เครื่องยนต์เรือเป็นเครื่องยนต์น้ำมันก๊าดเผาหัว ขนาด ๕-๑๕ แรงม้า นั่งถือท้าย และใช้เครื่องยนต์ที่ท้ายเรือ ใช้คนคนเดียวทั้งผูกเชือกโยงเรือ และบังคับเรือ ตัวเรือมักต่อด้วยไม้สัก ส่วนกงเรือใช้ไม้สักหรือไม้ตะเคียนทอง เปลือกเรือติดกับกงเรือด้วยลูกประสักไม้แสม ตัวเรือมีความแข็งแรงมาก มีอายุการใช้งานยาวนาน เครื่องยนต์มีความคงทน ไม่เสียหรือชำรุดง่าย
ปัจจุบันเรือแท็กซี่ที่มีขนาดใหญ่สามารถลากจูงเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ได้ครั้งละหลายๆ ลำ และแล่นได้เร็วกว่าแต่ก่อน เพราะกำลังแรงม้าของเครื่องยนต์สูงขึ้น ใบจักรก็ใหญ่ขึ้น ใช้บังคับเครื่องยนต์ในการเดินเรือ ตอนหัวเรือเป็นเฟี้ยมหน้า ทำด้วยไม้สักเป็นลูกฟัก ประกอบบานเฟี้ยมทาน้ำมันชักเงาสวยงาม สำหรับบังแดด บังลม และบังฝน เจ้าของเรือมักเป็นผู้ใช้เรือเองและอยู่กันเป็นครอบครัว ดำเนินชีวิตในเรือ เพราะการลากจูงเรือนั้น มักลากจูงทั้งกลางวัน และกลางคืน
เรือแท็กซี่มีความยาวตลอดลำเรือ ๑๒-๑๖ เมตร ปัจจุบันยังมีเห็นใช้งานเป็นเรือลากจูงและรับ-ส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำ
๓. เรือหางยาว
ปัจจุบันการจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดมาก จึงมีการฟื้นฟูการเดินทางทางเรือหางยาวตามคลองต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยลำเลียงมวลชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยเติมออกซิเจนในน้ำทำให้สีดำเข้มของน้ำลดลง แต่มีข้อที่ควรแก้ไขคือ เครื่องยนต์ของเรือหางยาวเสียงดังมาก และที่ปลายเพลาใบจักรยังไม่มีส่วนป้องกันอันตราย
เรือหางยาวถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เพราะในต่างประเทศไม่มีใช้ หรือหากมีใช้ก็จะมีลักษณะไม่เหมือนของไทย เพราะเรือหางยาวของไทยสามารถแล่นได้เร็ว มีความสวยงาม ชื่อเรือที่เขียนติดข้างเรือก็ใช้สีและรูปแบบตัวอักษร ที่สวยงามแตกต่างกันไป
เรือหางยาว
เรือหางยาวเป็นเรือต่อ มีลักษณะเพรียวยาว กว้างประมาณ ๑ เมตร และยาวประมาณ ๑๐ เมตร กระทงที่นั่งมีหลายแถว และมีหลังคาผ้าใบคลุมตลอดความยาว เรือหางยาวนิยมต่อด้วยไม้ยมหอม ทำให้มีน้ำหนักเบา ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ ชนิดเกาะท้ายเรือ ซึ่งออกแบบดัดแปลงโดยคนไทย ชื่อ นายสนอง ฐิตะปุระ ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยการต่อเพลาใบจักรให้ยื่นออกไปประมาณ ๒ เมตร แล่นได้ในน้ำตื้น สามารถยกหางเสือขึ้นได้ ในบางแห่ง จะต่อเรือหางยาวแบบ ๒ แถวที่นั่ง เรียกว่า เรือ ๒ ตอน ซึ่งแล่นได้เร็วมาก ช่างต่อเรือจะดัดทวนหัวเรือให้โค้งสูงขึ้น เพื่อให้แล่นได้เร็วไม่ต้านน้ำ
ปัจจุบันเรือหางยาวยังมีใช้กันในคลองเพื่อบรรทุกพืชผลการเกษตรจากในสวนมายังท่าเรือ หรือรับ-ส่งผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยว ที่ต้องการชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมคลอง
๔. เรือกลไฟและเรือยนต์
เรือกลไฟ หรือสตีมโบ๊ต (Steam boat) และเรือยนต์ หรือมอเตอร์โบ๊ต (Motor boat) เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทย เมื่อชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ โดยอังกฤษเป็นชาติแรกที่เข้ามาทำสัญญา จากนั้นชาติอื่นๆ ก็ได้ขอเข้ามาทำสัญญาการค้าอีกหลายประเทศ นับว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการค้าสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา ซึ่งการเดินทางเข้ามาของชาวตะวันตกในครั้งนั้น ใช้เรือสำเภาแบบเรือกลไฟขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำที่ทันสมัย โดยเฉพาะหลังจากที่มีการขุดลอกร่องน้ำ ทำให้เรือใหญ่สามารถแล่นเข้ามาได้ นอกจากนี้ยังมีการต่อเรือสำเภา ที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต่อขึ้นอีกหลายลำ โดยได้นำเครื่องมือเครื่องใช้ และศิลปวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกเข้ามา รวมทั้งชาวตะวันตกที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านให้เข้ามารับราชการ ในราชสำนักในสมัยนั้นด้วย
เรือกลไฟใหญ่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง และทรงส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ ไปศึกษาศิลปวิทยาการจากนานาอารยประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย สำหรับพระราชโอรสที่เสด็จไปทรงศึกษา วิชาการทหารเรือ คือ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระยศในขณะนั้น) ได้เป็นผู้วางรากฐานวิชาการทหารเรือของไทย ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ การเสด็จประพาสหัวเมืองในหลายครั้งของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้เสด็จฯ โดยเรือกลไฟ และเรือยนต์ที่สั่งต่อมาจากต่างประเทศ โดยไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน และพระตำหนักในหัวเมืองต่างๆ นอกจากนี้ มีการสั่งต่อเรือพระที่นั่งจากต่างประเทศและในประเทศหลายลำ เรือที่สั่งต่อเฉพาะสำหรับแล่นในลำน้ำประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๕ ชื่อเรือ "ไอยราพต" เดิมใช้เครื่องจักรไอน้ำ ต่อมาเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซล บรรดาเรือกลไฟที่ต่อขึ้นในประเทศมีอยู่หลายลำ รวมถึงเรือกลไฟ ชื่อเรือ "ปานมารุต" ซึ่งหมายถึง คล่องแคล่ว รวดเร็วฉับไวปานหนุมาน เรือลำนี้เป็นเรือกลไฟที่ลากจูง เรือพระประเทียบสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓
เรือไอยราพต
เรือที่ต่อขึ้นในประเทศถือว่า มีความสวยงามไม่แตกต่างจากเรือ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีช่างต่อเรือฝีมือดี ส่วนมากเป็นช่างชาวจีนไหหลำ โพ้นทะเล ส่วนประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเดินทางโดยเรือกลไฟสมัยใหม่ สำหรับเรือโดยสารลำแรก ชื่อเรือ เจ้าพระยา เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) เรือจอดรับผู้โดยสาร กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หน้าวัดอรุณราชวราราม ผู้โดยสารต้องลงเรือจ้างไปขึ้นเรือที่กลางแม่น้ำ เมื่อถึงกรุงเก่า ก็จอดบริเวณ หน้าวัดพนัญเชิง เพื่อให้ผู้โดยสารลงเรือจ้างเข้าฝั่ง
เรือด่วนเจ้าพระยา
ผู้ที่ริเริ่มเดินเรือโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ กับพระนครศรีอยุธยาที่มีหลักฐานชัดเจนแน่นอน คือ ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) ชาวกรุงเก่า บ้านอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม ได้ทดลองเช่าเรือกลไฟจากกรุงเทพฯ แล่นไปบ้านผักไห่ซึ่งเป็นบ้านภรรยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะประชาชนสมัยนั้นไม่นิยมการเดินทางไกลโดยทางเรือ จึงได้หยุดไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๖ เรือโดยสาร "เจ้าพระยา" ได้ให้บริการใหม่อีกครั้ง เรือโดยสารของขุนพิทักษ์บริหารจึงได้กลับมาให้บริการอีก
๕. เรือยนต์บริษัทเอกชน
การจัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการเรือยนต์โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองใกล้เคียง คือ
๑. บริษัทแม่น้ำมอเตอร์โบ๊ต จำกัด (MMB) เป็นบริษัทเดินเรือของชาวเดนมาร์ก ชาวบ้านเรียกว่า "เรือแดง" ตามสีของเรือ ซึ่งมีสีแดงอมส้ม มีต้นทางที่ท่าเตียน กรุงเทพฯ และเปิดให้บริการเป็น ๒ ระยะ คือ
- ระยะใกล้ ระหว่างกรุงเทพฯ ไปนนทบุรี และกรุงเทพฯ ไปพระประแดง
- ระยะไกล ระหว่างกรุงเทพฯ ไปกรุงเก่า วันละ ๔ เที่ยว
ทั้งนี้ ตั๋วเรือโดยสารของบริษัทฯ สามารถนำไปใช้ต่อรถรางโดยสารได้ ทำให้การเดินทางสะดวกและประหยัดมากขึ้น
๒. บริษัทสยามสตีมแพคเก็ต จำกัด เป็นบริษัทของชาวอังกฤษ ลำเรือทาสีแดง ชาวบ้านเรียกว่า "เรือแดงเลือดหมู" โดยเรือของบริษัทฯ เป็นเรือเหล็ก ต่อจากต่างประเทศ มีต้นทางอยู่ที่ท่าเตียน กรุงเทพฯ และมีการเดินทางเป็น ๒ ระยะ คือ
- ระยะใกล้ ใช้เรือเล็กให้บริการเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ไปแปดริ้ว และคลองภาษีเจริญ ไปอำเภอดำเนินสะดวก โดยออกแม่น้ำแม่กลอง
- ระยะไกล ระหว่างท่าเตียน กรุงเทพฯ ไปบางไทร พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุดทางที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
ในช่วงแรก เรือแดงเลือดหมูเป็นเรือที่ต่อด้วยไม้ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเรือเหล็ก ท้องเรือทาสีแดง บริษัทมีเรือทั้งหมดประมาณ ๘๐ ลำ เรือหลักมี ๔ ลำ ได้แก่ เรืออินทนิล เรือนิลวรรณ เรือนิลกาล และเรือนิลลังกาซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่กว่าเรือที่มีทุกลำในขณะนั้น ใช้เครื่องยนต์การ์ดเนอร์ (Gardner) ๗๒ แรงม้า มี ๒ เครื่อง ประชาชนนิยมเดินทางด้วยเรือนิลลังกามาก เพราะสะดวกสบาย และมีความเร็วสูง ต่อมาบริษัทสยามสตีมแพคเก็ต จำกัด ได้ขายกิจการให้แก่บริษัทขนส่งของรัฐบาล คือ บริษัทเรือไทย จำกัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ในครั้งนั้นบริษัทเรือไทย จำกัด ต้องการขายกิจการคืนให้เจ้าของเดิม แต่ตกลงกันไม่ได้ เพราะเรือชำรุดทรุดโทรมมาก ในที่สุดต้องขายกิจการให้แก่บริษัทสุพรรณขนส่ง จำกัด
เรือนิลวรรณ
๓. บริษัทสยามมอเตอร์โบ๊ต จำกัด เจ้าของเป็นชาวเดนมาร์ก ลำเรือสีแดงสด เป็นเรือใหญ่ เดินทางระยะไกล ทั้งรับ-ส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ต้นทางอยู่ที่ท่าเตียน กรุงเทพฯ มีเส้นทางเดินเรือ ๔ เส้นทาง ได้แก่
๓.๑ ท่าเตียน ไปสิงห์บุรี
๓.๒ ท่าเตียน ไปชัยนาท
๓.๓ ท่าเตียน ไปปากน้ำโพ บางครั้งไปตามแม่น้ำน่าน ไปพิษณุโลก และอุตรดิตถ์
๓.๔ ท่าเตียน ไปบางไทร เข้าแม่น้ำน้อย เสนา บ้านแพน ผักไห่ และพระนครศรีอยุธยา
๔. เรือของหลวงมิลินท์ (ใหญ่ มิลินทวนิช) เรียกกันว่า "เรือเมล์เขียว" หรือเรือบ้านเขียว มีต้นทางอยู่ที่ท่าเตียน กรุงเทพฯ เดินทางไปนครสวรรค์
เรือเมล์เขียวที่ใช้งานได้มีอยู่เพียง ๑๐ กว่าลำ เป็นเรือไม้ทั้งหมด ลักษณะเรือเมล์เขียวดูไม่สวยงาม ซึ่งแตกต่างจากเรือของบริษัทอื่นๆ เครื่องยนต์ก็ไม่ทันสมัย แล่นได้ไม่เร็วนัก และมีปัญหาเสียระหว่างทางเป็นประจำ เนื่องจาก ลักษณะของตัวเรือไม่ดี ระยะหลังวิ่งระยะทางเพียงแค่กรุงเทพฯ-สิงห์บุรีเท่านั้น ในที่สุดต้องขายกิจการให้แก่บริษัทสุพรรณขนส่ง จำกัด
การที่เรือเมล์เขียวต้องหยุดกิจการไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าโสหุ้ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง เรือส่วนมาก เป็นเรือกลไฟ ต้องใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงซึ่งฟืนสมัยนั้นแพงกว่าน้ำมัน และแม้จะเป็นเรือ ๒ ชั้น แต่ก็บรรทุกผู้โดยสารได้เฉพาะชั้นบนเท่านั้น เนื่องจากชั้นล่างมีพื้นที่น้อยมาก เพราะมีเครื่องจักรไอน้ำซึ่งใช้พื้นที่มาก และน้ำหนักมากด้วย อีกทั้งพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องกันไว้บรรทุกฟืน ดังนั้น เรือเมล์เขียวจึงต้องเปลี่ยนมาใช้ในการลากจูงซุง และเรือสินค้าขึ้นทางเหนือ ไม่ใช้ในการลากเรือเล็กๆ และระยะทางสั้นๆ เพราะได้รับค่าจ้างไม่เพียงพอ การขึ้นเหนือ ต้องลากเรือจำนวนมาก ประมาณ ๔๐-๕๐ ลำ เป็นอย่างน้อยจึงจะคุ้มกับค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เจ้าของเรือเคยอนุญาตให้คนทำงานประจำเรือ เช่น นายท้าย กะลาสี ช่างไฟ วิศวกร (ช่างเครื่อง) นำเรือออกไปหารายได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ก็ยังไม่คุ้มทุน เมื่อเปรียบเทียบกับเรือยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งต้องการโยงเรือเพียง ๑๐ ลำขึ้นไป ก็สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะค่าน้ำมันถูกกว่ามาก เรือของบริษัทจึงต้องจอดไว้ที่ริมน้ำแถวบางอ้อ (ปัจจุบันคือ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ) กลายเป็นสุสานเรือกลไฟไปในที่สุด