เล่มที่ 39
เรือไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ชนิดของเรือขุด

            เรือขุดเป็นเรือในยุคแรกที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นพาหนะในการสัญจรทางน้ำ โดยใช้ต้นไม้ทั้งต้นที่มีขนาดใหญ่ และลอยน้ำได้ เช่น ในประเทศไทยมีต้นสัก ต้นตะเคียน ต้นตาล แล้วใช้แรงงานคนและเครื่องมือที่มีจำกัด เช่น ขวาน ผึ่ง ค้อน สิ่ว ในการตัดและขุดเรือมาใช้งาน

๑. เรือชะล่า

            เรือชะล่าเป็นเรือขุด ท้องเรือกลมเกือบแบน เมื่อขุดแล้วไม่มีการตกแต่งมาก เพียงแต่ปาดหัวปาดท้ายเรือไม่ให้ต้านน้ำมากเท่านั้น ส่วนบนของหัวและท้ายจะแบนๆ เพียงแต่เชิดขึ้นเล็กน้อยพอ สวยงาม เรือชะล่าเป็นเรือขุดที่ไม่เปลืองไม้มาก เหมือนเรือขุดประเภทอื่น เพราะความกว้างของปากเรือจะกว้างใกล้เคียงกับขนาดของท่อนซุงที่นำมาขุด และนิยมขุดจากไม้สัก

เรือชะล่า

            เรือชะล่านับว่าเป็นเรือต้นแบบของเรือขุดทั้งหลาย บางลำหากมีขนาดใหญ่มาก จะใส่กงเรือ บางลำมีแจวท้ายเรือ ในอดีตใช้บรรทุกข้าวเปลือกลำเลียงเข้าบ้าน หรือไปโรงสี เพราะท้องเรือแห้งสนิท ทำให้ข้าวเปลือกไม่เปียกน้ำ และสามารถบรรทุกได้มาก ชาวนาใช้ในการเกี่ยวข้าวและเกี่ยวหญ้า
ในการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เรือชะล่าในบางช่วง เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรในเส้นทางระหว่างนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร

๒. เรือโปงตาล หรือ เรือโปง

            เรือโปงตาล หรือเรือโปง อาจเรียกว่า เรืออีโปง ที่เรียกว่า เรือโปงตาลเพราะทำมาจากต้นตาล โดยนำโคนต้นตาลมาผ่าออกเป็น ๒ ซีก และใช้แกลบสุมไฟให้ไส้ไหม้จนเหลือแต่เปลือกนอก จากนั้นใช้ไม้กระดานปิดตรงท้าย แล้วยาด้วยชัน ส่วนโคนของต้นตาล จะเป็นหัวเรือ เพราะโกลนจนได้รูปหัวเรือ ส่วนยอดของต้นตาลก็จะเป็นท้ายเรือ


เรือโปงตาล

            เรือโปงใช้เป็นพาหนะทางเรือในที่น้ำตื้นๆ ใช้พายหรือถ่อลัดเลาะไปตามชายทุ่ง เป็นเรือที่มีความทนทานมาก สามารถจอดกลางแดดกลางฝน และไม่ต้องกลัวจะถูกขโมย ปัจจุบันไม่มีช่างขุดเรือแบบเรือโปงตาลอีกแล้ว เพราะไม้ตาล เป็นไม้ที่แข็งมาก ทำได้ยาก และมีน้ำหนักมาก

๓. เรือโปงไม้สัก

            เรือโปงไม้สักเป็นเรือซึ่งขุดด้วยไม้สัก ขนาดของลำเรือใกล้เคียงกับท่อนไม้ที่นำมาขุด ปากเรือจะไม่ผายออกไปมาก เหมือนเรือขุดประเภทอื่น เพียงแต่แต่งรูปร่างของหัวและท้ายเรือให้เพรียว เพื่อไม่ให้ต้านน้ำมาก เสริมกงและปูกระดานเป็นที่นั่ง ก็เป็นเรือโปงที่สมบูรณ์แล้ว ใช้เป็นพาหนะติดต่อกันในหมู่บ้าน หรือระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง หรือหาผักหาปลาตามชายทุ่ง ในฤดูน้ำหลาก เพราะการบำรุงรักษาง่าย ไม่มีปัญหาเรื่องรอยรั่วเหมือนเรือต่อที่มีรอยต่อของเปลือกเรือหลายแนวมาก
เรือโปงไม้สัก

๔. เรือม่วง

            เรือม่วงเป็นเรือขุดลำเล็กรูปทรงเพรียว หัวและท้ายเรืองอนขึ้นได้รูปสวยงาม เวลานั่งพายจะต้องใช้พายชนิด ๒ ใบพาย ทั้งซ้ายและขวา ในสมัยก่อนเจ้าของเรือจะดูแลรักษาอย่างดี ขัดแต่งทาน้ำมันอย่างสวยงามน่าใช้ เป็นเรือที่ใช้ในงานสำคัญ หรือใช้พายแข่งกันในงานเทศกาลทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า

เรือม่วง

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงเรือม่วง ไว้ใน กลอนไดอรีซึมทราบ ตามเสด็จไทรโยค โคลงนิราศท้าวสุภัตติการภักดี และกลอนนารีรมย์ ว่า

"...ฉันตื่นแต่ตีสิบเอ็จเสด็จประพาส
ชมรุกขชาติปลาผักทั้งปักษี
พอย่ำรุ่งก็ลงมาท่านที
ทรงเรือม่วงจรลีก่อนกระบวน        
ส่วนข้างในไปน้อยคอยตามหลัง
ลงที่นั่งคอนโดล่าพอมาถ้วน        
ในแม่น้ำมืดตระหลบหมอกอบอวล
เรือแจวทวนธาราตั้งตาชม..."


            เรือม่วงมีหลายขนาด บางลำมีความยาวถึง ๖ เมตร ส่วนมากเป็นเรือที่เจ้านายใช้ ปัจจุบันมีการเก็บรักษาไว้อย่างดี ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

๕. เรือหมู

            เรือหมูเป็นเรือขุดท้องกลม หัวและท้ายเรือเรียวงอนเล็กน้อย ท้ายเรือจะงอนมากกว่าหัวเรือ ทำให้ดูอ่อนช้อยสวยงามกลมกลืนกัน เสริมกราบทั้ง ๒ ข้าง ประมาณ ๔ นิ้ว เพื่อให้บรรทุกได้มากขึ้น ทวนหัวและท้ายเรือเลี่ยมด้วยแผ่นทองเหลือง มีลายแปลกๆ สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ ของช่างแต่ละคน พื้นหัวและท้ายเรือมีแคร่ที่ปิด-เปิดได้ ส่วนกลางลำเป็นแคร่โปร่งลูกระนาด ชาวบ้านในชนบทภาคกลางนิยมใช้กัน ใช้พายไปร่วมงานวัด ทำบุญทอดผ้าป่า ไปฟังเพลงเรือ หรืออาจใช้ไปหาปลาตามทุ่งนา นับเป็นเรือขุดที่มีความสวยงามอ่อนช้อยและเก่าแก่ชนิดหนึ่ง เรือหมูมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับไม้ที่นำมาขุดเรือ บางลำมีขนาดยาวตั้งแต่ ๔-๖ เมตร ไม้ที่ใช้ขุดมักเป็นไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่น้อยมาก นอกจากผู้ที่มีใจรักจะเก็บอนุรักษ์ไว้เท่านั้น

เรืิิอหมู

๖. เรือพายม้า

            เรือพายม้าเป็นเรือขุดท้องกลม บางพื้นที่เรียกว่า เรือเพ่นม้า เรือพะม้า หรือ เรือพม้า เป็นเรือขุดที่มีความสง่างามองอาจผึ่งผาย น่าจะมีใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ใช้สำหรับพาย เรือที่มีขนาดใหญ่จะใช้แจว มีประทุนกลางลำ ขนาดกลางใช้เล่นเพลงเรือ ซึ่งทำกันมากในภาคกลาง เช่น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง หรืออาจนำมาใช้แข่งกันในงานทอดกฐิน ชาวนาใช้ เรือพายม้าในการเกี่ยวหญ้าหรือเกี่ยวข้าวในทุ่งนาช่วงน้ำท่วม รวมทั้งใช้ไปทำบุญที่วัด หรือออกหาปลา
เรือพายม้า

๗. เรือมาด

            เรือมาดเป็นเรือขุดลักษณะท้องกลม หัวและท้ายเรือแบนกว้าง บางลำมีแอกยื่นออกจากหัวและท้ายเรือ ขุดจากไม้ซุง ซึ่งมักเป็นไม้ตะเคียน เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งในสมัยก่อนหาได้ไม่ยาก การขุดแต่งเรือมาดก็ง่ายกว่าเรือชนิดอื่นๆ มีหลายขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เรือมาดขนาดใหญ่ใช้แจวหลายๆ แจว ขนาดกลางใช้แจว ๒ แจว หรือใช้ถ่อ ถ้ามีขนาดเล็กก็ใช้พาย เรือมาดนับเป็นเรือเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีประโยชน์ใช้สอยมากมาย นับเป็นต้นแบบของเรือขุดที่มีการดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ เช่น เรือมาดประทุน และเรือมาดเก๋ง

เรือมาด

๗.๑ เรือมาดประทุน

            เรือมาดประทุนเป็นชนิดหนึ่งของเรือมาด มีหลังคาประทุนสานด้วยไม้ไผ่ช่วงกลางลำ เพื่อใช้บรรทุกสินค้า หรือกันแดดกันฝน โดยใช้ชันผสมกับน้ำมันยางและปูนแดงกันฝนรั่ว การขุดแต่งง่ายกว่าเรือชนิดอื่นๆ การบำรุงรักษาจะมีเฉพาะเมื่อจะใช้งานพิเศษ เช่น งานทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า บางครั้งใช้เป็นเรือบรรทุกสินค้า หากเป็นเรือมาดขนาดใหญ่ก็สามารถใช้เป็นที่พักอาศัยได้ด้วย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้น ทรงใช้เรือมาดประทุน (ความยาวประมาณ ๘ เมตร) เป็นเรือบรรทุกเครื่องต้นและข้าวของเครื่องใช้ด้วย นอกจากนี้ สุนทรภู่กวีเอกของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ใช้เรือมาดประทุน เป็นพาหนะในการเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง

เรือมาดประทุน

๗.๒ เรือมาดเก๋ง

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเสด็จฯ ไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่ภายในพระราชอาณาเขต เพื่อตรวจการจัดการปกครอง บางคราวก็เสด็จฯ ไปเพื่อทรงสำราญพระอิริยาบถ หรือที่เรียกว่า เสด็จประพาสต้น ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จฯ ที่เรียบง่ายกว่าเสด็จประพาสอย่างเป็นทางการ และไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดเตรียมที่ประทับแรม จะประทับที่ใดสุดแต่จะทรงพอพระราชหฤทัย ไม่มีพระราชประสงค์ให้ผู้ใดรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นในระยะแรกๆ ทรงใช้เรือมาดเก๋งสี่แจว ต่อมาทรงเปลี่ยนมาใช้เรือมาดประทุนสี่แจวหรือหกแจว โดยเปลี่ยนแปลงเรือให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่




เรือมาดเก๋ง

            เรือมาดเก๋งเป็นเรือขุดท้องกลม มีเก๋งกลางลำเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้านายผู้ใหญ่ และมีหน้าต่างเปิดได้ทั้ง ๒ ด้าน พื้นปูแคร่เสมอปากเรือ ลำเรือขุดจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ส่วนเก๋งใช้ไม้สักทาน้ำมัน แกะสลักลวดลาย ตามฐานะของเจ้าของเรือ ส่วนหัวเรือและท้ายเรือเป็นที่สำหรับฝีพายแจวเรือ รวม ๔ ฝีพาย หรือ ๖ ฝีพาย ในส่วนนี้ มีหลังคาที่ปรับให้ยื่นออกมาเพื่อกันแดดกันฝนได้ เรือมาดเก๋งของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ชื่อเรือ เก้ากึ่งพยาม ความยาว ๑๙ เมตร ส่วนของลำเรือได้มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่ ปัจจุบัน เรือลำนี้ได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

๘. เรือสามก้าว (เรือสามเก้า)

            เรือสามก้าวหรือเรือสามเก้าเป็นเรือขุด มีลักษณะคล้ายเรือมาด และมีพื้นตลอดลำ ตอนกลางลำมีเก๋ง ด้านข้างเก๋งเป็นเฟี้ยม มีช่องหน้าต่าง หัวเรือและท้ายเรือยื่นออกไปคล้ายกับเรือแม่ปะหรือเรือหางแมงป่อง แต่ไม่งอนมาก พอสง่างาม หัวเรือปาดแหลม ท้ายมนหรือตัด มีแจวหัวและท้ายส่วนละ ๓ แจว ลักษณะการแจวที่ผู้แจวจะต้องเดิน ๓ ก้าวนี้ จึงเรียกว่า เรือสามก้าว หรือ เรือสามเก้า นับเป็นเรือที่มีความสง่างาม แสดงฐานะของผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ใช้



เรือสามก้าว

๙. เรือแม่ปะ (เรือหางแมงป่อง)

            เรือแม่ปะหรือเรือหางแมงป่อง เป็นเรือขุดที่มีขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ ๑๖-๑๘ เมตร เมื่อขุดแล้ว เบิกปากเรือให้กว้าง ต่อโขนท้ายเรือให้แบน แต่กว้างกว่าหัวเรือ และงอนสูงขึ้นคล้ายหางของแมงป่อง ส่วนหัวเรือต่อให้ยาวยื่นออกไป มีความกว้าง ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร สำหรับให้ลูกเรือขึ้นไปยืนถ่อเรือได้ มีประทุนค่อนไปทางท้ายสำหรับบรรทุกสินค้า  ท้ายเรือเป็นประทุนยกระดับสูงขึ้น บางครั้งใช้ถ่อหรือใช้กรรเชียงที่ดาดฟ้าหัวเรือ หลังคาโค้งสานด้วยไม้ไผ่ พอนด้วยชันกันแดดกันฝน ด้านบนหลังคามีหลังคาเสริมอีกชั้น เพื่อใช้เลื่อนมากันฝนได้ นายท้ายเรือถือใบพายขนาดใหญ่ สำหรับบังคับทิศทางของเรืออยู่ในห้องถือท้ายที่ยกพื้นให้สูงขึ้นกว่าห้องโดยสาร เรือบางลำใช้ส่วนท้ายเรือสำหรับผู้โดยสาร ตามโอกาสและความต้องการของเจ้าของเรือ ในอดีต ใช้บรรทุกสินค้าจากภาคเหนือล่องลงมายังภาคกลาง ได้แก่ สินค้าจำพวกของป่า เช่น น้ำมันยาง ชัน น้ำผึ้ง เมื่อกลับขึ้นภาคเหนือ ก็จะซื้อสินค้าจากภาคกลาง เช่น เสื้อผ้า เพื่อนำขึ้นไปขาย สลับกันเช่นนั้น



เรือแม่ปะ

เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ประทับเรือแม่ปะ ซึ่งมีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระยุพราช (รัชกาลที่ ๖) ในขณะนั้น และพระราชทานนามว่า "สุวรรณวิจิก" แปลว่า แมงป่องทอง

๑๐. เรือยาว (เรือแข่ง)

            เป็นเรือขุดด้วยไม้ซุงทั้งต้น โดยเลือกจากไม้ตะเคียนลำต้นตรงไม่มีตาหรือรูรอยแตกร้าว โขนหัว-ท้ายใช้ไม้ต่อให้งอนสวยงาม ท้ายเรือจะงอนมากกว่าหัวเรือ มีกระทงที่นั่ง ของฝีพายจำนวนตามต้องการ และตามขนาดของเรือ คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีได้ถึง ๕๐ ฝีพาย มีความยาวประมาณ ๑๖-๒๕ เมตร กลางลำเรือขันชะเนาะด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ เพื่อให้ตัวเรือแข็งแรง มากขึ้น ปัจจุบัน การแข่งเรือเป็นที่นิยม และได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในทุกภาคของประเทศไทย โดยมีการจัดการแข่งขันเรือยาวนานาชาติขึ้น เป็นประจำทุกปี ที่ลำน้ำเจ้าพระยา หน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

            การขุดเรือยาวในสมัยก่อนจะต้องเลือกไม้ตะเคียนที่มีลักษณะดี ลำต้นตรง ก่อนโค่นจะตั้งศาลเพียงตาทำพิธีเชิญนางตะเคียน มาประทับ เมื่อจะลากไม้มาที่วัด ต้องมีการจัดเครื่องบวงสรวงเทวดาเจ้าป่าเจ้าเขา และชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันขุด โดยใช้ชื่อวัดเป็นชื่อเรือหรือชื่อคณะที่ส่งเข้าแข่งขัน เมื่อขุดเรือเสร็จแล้วจึงทำพิธีบวงสรวงผูกผ้าแพรหลากสี เชิญแม่ย่านาง ลงประทับในเรือ ก่อนทำพิธีปล่อยลงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล ในสมัยก่อนการฝึกซ้อมเรือ และการแข่งขันเรือระหว่างตำบล หรือหมู่บ้าน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของหมู่คณะ และเป็นงานรื่นเริงประจำปี นอกจากนี้ การเดินทัพทางเรือสมัยโบราณ ก็ใช้การฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งในยามปกติเป็นชาวบ้าน ยามมีศึกสงครามก็เป็นทหารรับใช้ชาติ


เรือยาว
๑๑. เรือพระราชพิธี

            เรือพระราชพิธีที่ใช้ในพิธีการสำคัญของพระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนครในอดีต มีต้นกำเนิดมาจากเรือขุดเช่นกัน แต่มีลักษณะพิเศษคือ การแกะสลักลวดลาย ประดับธงทิวให้มีความสวยงามแตกต่างจากเรือของสามัญชนทั่วไป ดังพบเห็นได้จาก หลักฐานภาพสลักหินที่ระเบียงฐานทักษิณในปราสาทขอมศิลปะแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ จากภาพสลัก ที่ปรากฏบนทับหลัง ศิลปะลพบุรี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ก็มีภาพของเรือพระที่นั่งโบราณเช่นกัน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ได้มีการพัฒนาให้มีความสวยงามผสมผสานกับงานศิลปะเชิงช่างในแต่ละสมัย สืบทอดนำมาใช้ในเรือพระราชพิธี ดังจะเห็นได้จาก เรือพระราชพิธีในปัจจุบัน ที่ถือว่าเป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมของโลกที่รวมงานฝีมือของช่างสิบหมู่ไว้ในเรือพระราชพิธีของไทย ดังนี้

สมัยสุโขทัย

            ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้มีการจัดกระบวนเรือพระที่นั่งไปรับ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี เป็นเจ้า โอรสพ่อขุนรามคำแหง และนัดดาพ่อขุนผาเมือง ซึ่งไปบวชเรียนที่ลังกากลับสู่กรุงสุโขทัย แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องรายละเอียดของการจัดริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี อย่างไรก็ดี นับได้ว่าเป็นบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเรือพระราชพิธีของไทย

สมัยอยุธยา

            การจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการบำเพ็ญพระราชกุศลกรานกฐิน หรือถวายผ้าพระกฐิน และการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี นับตั้งแต่มีการค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

            ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถือเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยา คือ การค้าขายมีความเจริญรุ่งเรือง รวมทั้ง มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า มีการจัดกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ซึ่งเป็นริ้วกระบวนที่ยิ่งใหญ่ มีความงดงาม แม้กระทั่งชาวต่างประเทศที่เข้ามาเวลานั้น คือ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ในคณะราชทูตฝรั่งเศส ก็ได้มีการบันทึกไว้ และใน พ.ศ. ๒๒๒๘ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคออก รับพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ตามบันทึกของบาทหลวง ผู้หนึ่ง ชื่อ กี ตาชาร์ (Guy Tachard) ในหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ตอนหนึ่งเล่าไว้ว่า "...มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่สี่ลำมา แต่ละลำ มีฝีพายถึงแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน สองลำแรกนั้นทำเป็นรูปเหมือนม้าน้ำปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกล ในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์สองนาย มาในเรือทั้งสองลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการ ของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลา ที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่งและไม่มีเรือลำใดเลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง แลเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น..." แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เรือพระราชพิธีซึ่งมีทั้งความงดงามและยิ่งใหญ่ ได้ถูกเผาทำลายไปทั้งหมดเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ โดยสาเหตุของการเสียกรุงในครั้งนั้น ก็มาจากการแตกความสามัคคีของคนไทย ซึ่งถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย


เรือพระราชพิธี


สมัยธนบุรี

            สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชและทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ของไทย แม้ว่า ต้องมีการทำศึกสงครามเพื่อรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น และปกป้องดินแดน แต่การพัฒนาบ้านเมือง และการทำนุบำรุงศาสนาก็ได้ดำเนินไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ในหมายรับสั่งที่โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จไปที่ท่าเจ้าสนุก สระบุรี เพื่อรับพระแก้วมรกตนั้น มีการกล่าวถึงเรือพระราชพิธี คือ

๑. เรือพระที่นั่ง
๒. เรือโขมดยาทอง
๓. เรือคู่แห่
๔. เรือโขมดยาใหญ่
๕. เรือโขมดยาน้อย
๖. เรือศีรษะนก
๗. เรือกราบ
๘. เรือพระที่นั่งกราบ
๙. เรือดั้ง
๑๐. เรือสามป้าน
๑๑. เรือกุแหละ
๑๒. เรือญวน
๑๓. เรือโขมดยาแห่ไพร
๑๔. เรือโขมดยาไพรดั้ง
๑๕. เรือโขมดยานวย

สมัยรัตนโกสินทร์

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือขึ้นใหม่ เพื่อทดแทน เรือพระราชพิธีที่ถูกทำลายไปเมื่อครั้งเสียกรุง โดยมีเรือที่สร้างขึ้นจำนวน ๖๗ ลำ เป็นเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซ เรือที่สำคัญเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือเอกไชยเหินหาว เรือเอกไชยหลาวทอง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือแตงโม เรืออีเหลือง

รัชกาลต่อมาที่ทรงสร้างเรือ คือ รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้าง ๒ ลำ รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง ๒๔ ลำ รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง ๗ ลำ รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเพียงลำเดียว คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างเรืออีก ๒ ลำคือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แทนลำเดิมที่สร้างในรัชกาลที่ ๔ และสร้างขึ้นใหม่ ๑ ลำคือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งใช้ในกระบวนเรือพระราชพิธีมาจนถึง ปัจจุบัน

สำหรับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรสร้างขึ้น เนื่องในโอกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ รัฐบาลกำหนดให้มีการจัดงานพระราชพิธี กาญจนาภิเษก นับเป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างในรัชกาลปัจจุบัน

เรือพระราชพิธีในปัจจุบัน  

เรือที่สำคัญที่สุดในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ เรือพระที่นั่ง เป็นเรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ เรือพระราชพิธี ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีดังนี้

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

            เป็นเรือที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (เรือเดิมมีนามว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ ซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) นาวาสถาปนิกคือ พลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร  หงสกุล) จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง โขนเรือเป็นรูปหงส์ลงรักปิดทองประดับกระจก ลำเรือภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ความยาว ๔๔.๗๐ เมตร ความกว้าง ๓.๑๕ เมตร ลึก ๐.๙๐ เมตร ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย คนถือธงท้าย ๑ นาย พลสัญญาณ ๑ นาย และคนเห่เรือ ๑ นาย



โขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

            เป็นเรือที่กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร สร้างขึ้น เป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญาเทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ โขนเรือเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ สร้างด้วยไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีน้ำเงินเข้ม มี ๔ พระกร ทรงเทพศาสตราทุกพระกร คือ ตรี คทา จักร สังข์ มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ใต้ตัวครุฑ ลำเรือเป็นไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจก ลำเรือและท้องเรือภายในทาสีแดงชาด ความยาว ๔๔.๓๐ เมตร ความกว้าง ๓.๒๐ เมตร ลึก ๑.๑๐ เมตร ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย คนถือธงท้าย ๑ นาย พลสัญญาณ ๑ นาย และคนเห่เรือ ๑ นาย



โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

            สร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนลำเดิมซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง โขนเรือเป็นรูปพญานาค ๗ เศียร ปิดทองประดับกระจก ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ความยาว ๔๒.๙๕ เมตร ความกว้าง ๒.๙๕ เมตร ลึก ๐.๗๖ เมตร ฝีพาย ๕๔ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย คนถือธงท้าย ๑ นาย พลสัญญาณ ๑ นาย และคนเห่เรือ ๑ นาย




โขนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

            เป็นเรือที่สร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี โขนเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ความยาว ๔๕.๕๐ เมตร ความกว้าง ๓.๑๕ เมตร ลึก ๑.๑๑ เมตร ฝีพาย ๖๑ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๒ นาย คนถือธงท้าย ๑ นาย พลสัญญาณ ๑ นาย และคนเห่เรือ ๑ นาย



โขนเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือเอกไชยเหินหาว และ เรือเอกไชยหลาวทอง

            เรือทั้ง ๒ ลำนี้ใช้นำหน้า หรือใช้ชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ และจัดเป็นเรือกระบวนทั้ง ๒ ลำ ลงรักปิดทอง เขียนลายเป็นรูปเหราหรือจระเข้ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มีความยาว ๒๗.๕ เมตร ความกว้าง ๑.๙๙ เมตร ฝีพาย ๓๘ นาย นายท้าย ๒ นาย


โขนเรือเอกไชยเหินหาว

เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือครุฑเตร็จไตรจักร

            ทั้ง ๒ ลำมีโขนเรือเป็นรูปพญาครุฑยุดนาค จัดเป็นเรือกระบวน เขียนสี ลงรักปิดทอง ลำเดิมสร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ความยาว ๒๘.๕ เมตร ความกว้าง ๒.๑๐ เมตร เรือครุฑเหินเห็จมีฝีพาย ๓๘ นาย เรือครุฑเตร็จไตรจักรมีฝีพาย ๓๔ นาย นายท้าย ๒ นาย



โขนเรือครุฑเหินเห็จ

เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง

            ทั้ง ๒ ลำมีโขนเรือเป็นรูปพญาวานรหรือขุนกระบี่ เรือพาลีรั้งทวีปเป็นขุนกระบี่สีเขียว ส่วนเรือสุครีพครองเมืองเป็นขุนกระบี่สีแดง จัดเป็นเรือกระบวน เขียนสี และลงรักปิดทอง สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ความยาว ๒๙ เมตร ความกว้าง ๒ เมตร ฝีพาย ๓๔ นาย นายท้าย ๒ นาย


โขนเรือสุครีพครองเมือง

เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร

            ทั้ง ๒ ลำมีโขนเรือเป็นรูปพญาวานรหรือขุนกระบี่ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์เป็นขุนกระบี่สีดำ ส่วนเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นขุนกระบี่สีขาว จัดเป็นเรือกระบวน เขียนสี ลงรักปิดทอง สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ความยาว ๒๘.๕ เมตร ความกว้าง ๒.๑๐ เมตร ฝีพาย ๓๖ นาย นายท้าย ๒ นาย


โขนเรือกระบี่ปราบเมืองมาร

เรืออสุรวายุภักษ์ และ เรืออสุรปักษี

            ทั้ง ๒ ลำมีโขนเรือเป็นรูปนกหน้ายักษ์ เรืออสุรวายุภักษ์ใส่เสื้อสีม่วง มือและเท้าเป็นสีคราม เรืออสุรปักษีใส่เสื้อด้านหน้าสีม่วง ด้านหลังสีเขียว มือและเท้าสีเขียว จัดเป็นเรือกระบวน เขียนสี ลงรักปิดทอง สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ยาว ๓๑ เมตร กว้าง ๒.๐๓ เมตร ฝีพาย ๔๐ นาย นายท้าย ๒ นาย

โขนเรืออสุรวายุภักษ์

เรือเสือทะยานชล และ เรือเสือคำรณสินธุ์

            ทั้ง ๒ ลำเป็นเรือพิฆาต โขนเรือเขียนสีเป็นรูปเสือ ลำเรือภายนอกทาสีเหลืองลายเสือ ภายในท้องเรือทาสีแดง สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ความยาว ๒๒.๒๐ เมตร ความกว้าง ๑.๗๕ เมตร ฝีพาย ๒๖ นาย นายท้าย ๒ นาย นายเรือ ๑ นาย นั่งคฤห์กัญญา ๓ นาย พลสัญญาณ ๑ นาย มีปืนจ่ารง (ปืนบรรจุปากกระบอก) ๑ กระบอก


โขนเรือเสือคำรณสินธุ์

เรือดั้งปิดทองทึบ

เป็นเรือขุด ปิดทองทึบทั้งลำ มีจำนวน ๒ ลำ เรียกว่า เรือโขมดยา (เรือประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช)

เรือดั้ง

เป็นเรือขุดทาน้ำมัน โขนเรือท้ายเรืองอนขึ้น

เรือกราบ

เป็นเรือขุดทาน้ำมัน ลักษณะโขนเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำ

เรือดั้งทองขวานฟ้า และ เรือดั้งทองบ้าบิ่น

เป็นเรือขุดแบบเรือดั้ง โขนท้ายเรืองอนขึ้น ทาน้ำมันเกลี้ยงทั้งลำ แต่ยอดดั้งปิดทองความยาว ๓๒ เมตร ความกว้าง ๑.๗๕ เมตร ฝีพาย ๓๙ นาย นายท้าย ๒ นาย