เรือยนต์ราชการ
นอกจากเรือของบริษัทเอกชนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรือยนต์ที่ต่อขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ทางราชการด้วย ที่สำคัญมีดังนี้
๑. เรือพระที่นั่งไอยราพต
เป็นเรือที่สั่งต่อจากต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ ๕ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๕ ใช้เครื่องจักรไอน้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ดีเซล อุปกรณ์บางอย่างทำด้วยทองคำแท้
๒. เรือปานมารุต
เป็นเรือกลไฟที่ใช้ลากจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินใน พ.ศ. ๒๔๒๓ และเกิดอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่มที่ตำบลบางพูด แขวงเมืองนนทบุรี
เรือปานมารุต
๓. เรือชลประทาน ๖
เป็นเรือกลไฟขนาดใหญ่ ยาว ๗๒ ฟุต คู่กับเรือพญาไม้ ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด ๙ นิ้ว ของประเทศเยอรมนี ต่อขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าของเดิม คือ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นเรือที่สวยงามมาก อุปกรณ์ทุกอย่างทำด้วยทองเหลือง ใช้เป็นเรือท่องเที่ยวและเรือลากจูง
เรือชลประทาน ๖
ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่อู่เรือกรมชลประทาน ปากเกร็ด แต่น่าเสียดายที่ถูกดัดแปลงจนไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว
๔. เรือพญาไม้
ต่อขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๖ คู่กับเรือชลประทาน ๖ เจ้าของเดิมคือ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมป่าไม้ เป็นทั้งเรือท่องเที่ยวและเรือลากจูงขนาดหนัก เรือลำนี้แข็งแกร่งมาก เรือเขียวเรือแดงทุกลำไม่สามารถแล่นได้เร็วเท่าลำนี้ ในเรือมีสุขภัณฑ์พร้อม มีห้องนอน ห้องน้ำ มีอ่างอาบน้ำทันสมัย เครื่องยนต์เป็นเครื่องจักรไอน้ำขนาด ๙ นิ้ว ผลิตในประเทศเยอรมนี อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายที่เรือลำนี้ไม่ได้รับการดูแล ปล่อยให้ผุพังเป็นเศษเหล็ก ในที่สุดก็ขายไปในราคาไม่กี่ร้อยบาท
เรือพญาไม้
๕. เรือเวชพาหน์
เรือ "เวชพาหน์" เป็นเรือพยาบาลพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด ต่อขึ้นสำหรับใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่บรรเทาทุกข์ และรักษาพยาบาลประชาชนตามลำน้ำ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘