เล่มที่ 39
เรือไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิวัฒนาการของเรือไทย

            มนุษย์รู้จักประดิษฐ์เรือเพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง การออกไปหาอาหาร และการอพยพไปหาที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ บางครั้งก็เพื่อการศึกสงคราม วัสดุที่นำมาทำเป็นเรือส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ในทวีปยุโรป มีป่าไม้จำนวนมาก ก็นำไม้มาขุดหรือต่อเป็นลำเรือ เช่น เรือของชาวไวกิ้งในแถบทะเลเหนือ ชาวจีนนำไม้ไผ่มาต่อเป็นแพ ใช้ในการเดินทางข้าม หรือล่องไปตามลำน้ำ ชาวโพลินีเชียนแถบมหาสมุทรแปซิฟิกก็นำไม้มาขุดเป็นลำเรือ แต่ต่อด้านข้างของเรือออกไปเป็นทุ่น เพื่อกันเรือโคลงเมื่อแล่นไปในทะเล ส่วนชาวสยามในแถบสุวรรณภูมิก็นำต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ มาขุดหรือต่อขึ้น เป็นลำเรือ เพื่อใช้ในการเดินทาง การค้าขาย หรือใช้ในการสงครามเช่นเดียวกัน

๑. สมัยอยุธยา

            บริเวณที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนมาแต่โบราณ ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๙๓ โดยเป็นบริเวณที่แม่น้ำ ๓ สายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย ภายหลังจากการสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว มีคนอพยพ เข้ามาตั้งบ้านเรือนมากขึ้น และกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญด้านการค้าทั้งทางบกและทางน้ำ เมื่อราชสำนักต่างชาติ ได้ทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จึงส่งราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระมหากษัตริย์ แห่งสยามมากขึ้น ชาติแรกที่เข้ามาคือ โปรตุเกส หลังจากนั้น ชาติต่างๆ ก็เข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชาวยุโรป เช่น สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และชาวเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมถึงจีน ซึ่งได้เข้ามาค้าขาย และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวสยามมากกว่าชาติอื่น

            การเข้ามาของชาวตะวันตกมีทั้งที่มาค้าขายและเผยแผ่ศาสนา ได้มาเห็นความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ภูมิปัญญาในการใช้เรือ และการต่อเรือ ดังเห็นได้จากบันทึกของเมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de La Lubère) ที่กล่าวถึงเรือเล็ก และเรือยาวในยุคนั้นว่า "ในเรือยาวลำหนึ่ง ลางทีก็มีฝีพายตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๑๒๐ คน นั่งขัดสมาธิเรียงคู่กันไป บนแผ่นกระดาน ... พวกฝีพายนั้นร้องเพลงหรือออกเสียงให้จังหวะเพื่อที่จะพายได้พร้อมๆ กัน แล้วก็จ้วงพายเป็นจังหวะ ด้วยอาการเคลื่อนไหวแขนและไหล่อย่างแข็งขัน แต่ก็ดูง่ายๆ และสง่างามมาก น้ำหนักตัวของฝีพายนี้ เป็นอับเฉาของเรือไปในตัว และทำให้เรือแล่นอยู่บนผิวน้ำอันเนื่องจากด้ามพายนั้นสั้นมาก และอาการที่เรือบรรทุกฝีพายไว้มาก แล้วจ้วงพายพร้อมๆ กัน ด้วยกำลังแรง ทำให้เรือแล่นฉิวน่าดูนัก..."


เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์

            ภาพเรือขนาดต่างๆ ตามบันทึกยังได้แสดงให้เห็นถึงการใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง การค้าขายขนส่งสินค้า และการใช้ "เรือนแพ" เป็นที่พักอาศัย จอดประจำตามแหล่งชุมชนตลาดน้ำที่มีการค้าขายเป็นประจำ และ "เรือประทุน" ซึ่งเป็นเรือขุด ที่หลังคาสานด้วยไม้ไผ่ ใช้เป็นที่พักอาศัยและล่องไปค้าขายตามที่ต่างๆ โดยอยู่กันได้ทั้งครอบครัว

            ศูนย์กลางการค้าทางน้ำ ซึ่งเรียกว่า ตลาดน้ำ ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนที่สำคัญ มีความสะดวกในการเดินทาง นำสินค้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยน และยังเป็นท่าเรือรับ-ส่งผู้โดยสาร เรือสินค้าที่มาจากภาคอื่นของประเทศ เช่น เรือใหญ่ท้ายแกว่ง* จากเมืองพิษณุโลก บรรทุกน้ำอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง และสินค้าจากภาคเหนือ เรือข้าวจากอ่างทองและสุพรรณบุรี เรือมอญบรรทุกมะพร้าว ไม้แสมทะเล เกลือจากสมุทรสงครามและสมุทรสาคร เรือจีนและเรือจามที่บรรทุกสินค้าจากหัวเมืองทางใต้มาขายที่บางกะจะ นอกเกาะกรุงศรีอยุธยา


กระบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค จากภาพเขียนของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยา
ภาพจาก: ไปรษณียบัตร (Postcard) ของบริษัทริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด

            แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสิ้นสุดการเป็นราชธานีของสยามใน พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่ในระยะเวลาเพียง ๘ เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ทรงกอบกู้เอกราชขึ้นมา และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยที่ราชธานีแห่งใหม่นี้ ก็ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใกล้ทางออกทะเล หากมีความจำเป็นในการศึกสงคราม ก็สามารถออกทะเลกลับไปตั้งหลักที่จันทบุรี ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นในการกอบกู้เอกราชมาแล้ว

๒. สมัยรัตนโกสินทร์

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี และตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของสยามอย่างสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ การใช้ชีวิต ของชาวสยามยังคงมีความสัมพันธ์กับการใช้เรือเป็นพาหนะในการติดต่อค้าขาย เป็นที่อยู่อาศัย ตลอดจนการลำเลียงทหารและยุทธปัจจัยในยามศึกสงคราม การค้าขาย กับชาติต่างๆ ก็มีมากขึ้น ทำให้การส่งเรือสำเภาออกไปค้าขายกับต่างประเทศ และหัวเมืองต่างๆ มีการแข่งขันกันมากขึ้น


เรือมาดเก๋งและเรือมาดประทุน รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น

            การที่เรือสำเภาของชาวตะวันตกซึ่งมีความทันสมัยและมีขนาดใหญ่มากกว่าเรือสำเภาของชาวสยามมาติดต่อค้าขายด้วย จึงเกิดการเปลี่ยนมาใช้เรือสำเภาแบบตะวันตกในการขนส่งและการค้ามากขึ้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิตกกังวลว่า สำเภาสยามจะสูญสิ้นไป ลูกหลานในวันข้างหน้าจะไม่มีโอกาสได้เห็น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างฐานพระเจดีย์ เป็นรูปเรือสำเภาสยามขึ้นที่วัดคอกกระบือ (ปัจจุบันคือ วัดยานนาวา) ซึ่งยังคงมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามจำเป็นต้องเปิดประเทศทำสัญญาการค้ากับชาวตะวันตก โดยมีการทำสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ ที่เรียกว่า สนธิสัญญาเบาริง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ต่อมาชาติอื่นๆ ก็เข้ามาทำสนธิสัญญาการค้าเช่นเดียวกับอังกฤษ ชาวสยามจึงมีโอกาสได้เห็นเรือสำเภาชาติต่างๆ มากขึ้น รวมถึง วัฒนธรรมความเจริญสมัยใหม่ก็ได้เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้สยามมีการต่อเรือกลไฟลำแรกขึ้นในประเทศ ชื่อว่า เรือ "สยามอรสุมพล" โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่เกิดขึ้น จึงทรงริเริ่มการพัฒนาประเทศ ตามแบบอย่างชาวตะวันตก โดยการเสด็จฯ ไปยังประเทศต่างๆ และทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ กลับมาพัฒนาบ้านเมือง มีการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามารับราชการในราชสำนัก เพื่อนำศิลปวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ ในสยาม รวมถึงด้านการค้า การขนส่ง และการทหารเรือ ทำให้สยามสามารถต่อเรือสำเภาสมัยใหม่ ที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำ อีกจำนวนมาก นอกเหนือจากเรือสำเภาขนาดใหญ่แล้ว เรือยนต์และเรือกลไฟขนาดเล็กก็ได้นำมาใช้ในลำน้ำมากขึ้น โดยพระองค์ได้เสด็จฯ ไปยังหัวเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาจักรด้วยเรือพระที่นั่ง ข้าราชบริพารและประชาชนก็ได้มีโอกาสเดินทาง โดยเรือสมัยใหม่ ทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม


เรือที่ใช้ค้าขายและเป็นเรือที่พักอาศัย

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การคมนาคมทางน้ำของชาวสยาม มีการใช้เรือกลไฟและเรือยนต์ ทั้งในการเดินทาง การขนส่ง และการค้าขายมากขึ้น แม้ว่า จะมีการสร้างทางรถไฟและถนนขึ้นหลายเส้นทางแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งการเดินทางทางเรือ ก็มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ถึงแม้ประเทศทางแถบทวีปเอเชีย จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่มีผลทำให้ สินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศบางประเภทขาดแคลน เมื่อสงครามสงบ ประเทศสยามมีโอกาสขอแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายประการ รวมถึงการเก็บภาษี ที่เสียเปรียบต่างชาติ ฐานะของประเทศ จึงเริ่มดีขึ้น รวมทั้งกิจการการค้าทางเรือ และการทหารเรือก็มีความก้าวหน้าทันสมัย สยามจึงเป็นประเทศแรก ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่มีเรือรบทันสมัยประจำการ คือ เรือหลวงพระร่วง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ รวมกับเงินบริจาคของประชาชน สั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดแหล่งการค้า แหล่งธุรกิจ และกิจการอู่ต่อเรือขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก

            ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรปและลุกลามจนกลายเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามในครั้งนี้ ประเทศสยามได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ แม้ว่าพยายามวางตัวเป็นกลางในช่วงแรก แต่ก็ถูกรุกรานจากญี่ปุ่น จึงจำเป็นต้องประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ เพื่อที่จะสร้างทางรถไฟ ต่อไปยังแหลมมลายูและประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สงครามที่ยาวนานทำให้เกิดการขาดแคลนทั้งอาหาร เชื้อเพลิง และของใช้ที่จำเป็นหลายอย่าง กิจการเรือโดยสารและการคมนาคมขนส่งซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงต้องหยุดกิจการ ส่งผลให้เรือที่ใช้แรงงานคนและแรงลมในการขับเคลื่อนกลับมาเฟื่องฟูขึ้นใหม่อีกระยะหนึ่ง จนเมื่อสงครามสงบลง ทั้งรถยนต์ และเรือยนต์ที่ยังหลงเหลือจากสงครามได้ถูกนำมาดัดแปลง เพื่อใช้งานให้เป็นประโยชน์ต่อไป เช่น  เครื่องยนต์จากเรือ ของฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่ทิ้งไว้ก็ได้นำมาใช้เป็นเครื่องยนต์ของเรือโดยสารในเวลาต่อมา


ฐานพระเจดีย์ สร้างเป็นรูปเรือสำเภาสยาม ที่วัดคอกกระบือ (ปัจจุบัน คือ วัดยานนาวา กรุงเทพฯ)

            ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ในการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ อย่างมีแบบแผนในระยะยาวทั่วทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ได้มีการสร้างถนนหนทาง เพื่อพัฒนาการคมนาคมทางบก ให้มีความทันสมัยและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น การใช้เรือเพื่อกิจการต่างๆ ดังเช่นในอดีตจึงเริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้ เส้นทางการคมนาคมทางน้ำและเรือแพเริ่มลดความสำคัญลง ประชาชนได้กลับมาใช้รถยนต์และรถไฟมากขึ้น ศูนย์กลางของหน่วยราชการและการค้าก็ย้ายไปตั้งในสถานที่ที่รถยนต์และรถไฟเข้าถึงได้ พาหนะที่ใช้เดินทางทางน้ำกลายเป็นอดีต ที่กำลังจะสูญหายไป เรือไม้ที่เคยมีใช้งานกันทุกบ้านก็ลดลง โดยเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่มีความสะดวกสบายกว่า เรือไม้ทั้งหลาย จึงถูกรื้อทิ้งหรือจำหน่ายไปในราคาถูก แม้แต่เรือประมงที่เคยใช้ในการจับปลาและสร้างรายได้ให้อย่างมาก เจ้าของก็ต้องเลิกใช้เรือไม้ เปลี่ยนมาใช้เรือเหล็ก เนื่องจากเรือไม้ไม่คุ้มค่ากับการบำรุงรักษาทุกปี


เรือสุริยมณฑล เป็นเรือกลไฟใช้ฝีจักรด้านข้าง

            การจัดทำบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเรือไทย จึงเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การศึกษา เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงความเจริญ ของการคมนาคมทางน้ำของไทยที่มีมาแต่โบราณ