ประเภทของเรือไทย
เรือพื้นบ้านของไทยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เรือขุด และเรือต่อ
๑. เรือขุด
เป็นเรือที่นำไม้ซุงทั้งต้นมาขุดเซาะเนื้อไม้ออกให้เป็นร่อง โดยเว้นส่วนหัวเรือและท้ายเรือไว้ ไม้ที่นำมาใช้ต้องเป็นไม้ที่มีลำต้นตรง ไม่มีโพรงหรือแตกร้าว แล้วขยายความกว้างของลำเรือออกเพื่อให้มีพื้นที่ในเรือมากขึ้น โดยใช้วิธี "เบิกเรือ" ซึ่งมี ๓ วิธี คือ
ก. เบิกไฟ
นำเรือที่ขุดไว้มาคว่ำลง แล้วใช้แกลบสุมไฟ นำมาลนให้ร้อนทั้งลำ จากนั้นใช้ไม้ปากกาถ่างปากเรือค้ำไว้ ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำไม้ค้ำออก ทำซ้ำอีกหลายครั้ง และเพิ่มความยาวของไม้ถ่างปากเรือ จนได้ความกว้างตามที่ต้องการ
ข. เบิกน้ำ
เป็นการใส่น้ำลงในท้องเรือที่ขุดแล้วทิ้งไว้หลายๆ วันจนเนื้อไม้อ่อนตัวลง จึงใช้ไม้ถ่างปากเรือออก ทำซ้ำกันหลายๆ ครั้ง จนได้ความกว้างตามที่ต้องการ แล้วจึงขุดแต่งท้องเรือต่อไป
ค. เบิกปากขวาน
เป็นการใช้ขวานและผึ่ง (ผึ่งถากไม้ มีลักษณะคล้ายจอบ) ฟันเนื้อไม้ออกให้ได้เรือตามขนาดที่ต้องการ
บางครั้งการเบิกเรือ จะใช้ทั้ง ๓ วิธีตามความชำนาญของช่าง แล้วตกแต่งเรือให้เรียบ หลังจากนั้นจึงเสริมกงด้านในท้องเรือ เพื่อเสริมความแข็งแรง ของเรือ และป้องกันไม่ให้ลำเรือหดตัวบีบเข้ามา ต่อไปจึงปูพื้นกระทงที่นั่งในเรือด้วยไม้กระดาน หรือเสริมกราบเรือก่อนจะปูพื้นกระทงที่นั่งตามประเภทของเรือที่ช่างต้องการจะขุด ขั้นตอนสุดท้ายคือ การทาน้ำมันยาง เพื่อรักษาเนื้อไม้ให้เรือมีความทนทาน ใช้งานได้นาน ส่วนเรือขุดที่ต้องการใช้ขนส่งหรือเป็นที่อยู่อาศัย ก็จะทำหลังคาคลุมท้องเรือ เพื่อกันแดดกันฝนด้วย
๒. เรือต่อ
เป็นการใช้ไม้ให้คุ้มค่าและได้เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยใช้ไม้กระดานมาประกอบกันเป็นลำเรือ เริ่มจากการวางกระดูกงู ยาวตลอดจากทวนหัวเรือถึงท้ายเรือ จากนั้นนำกงมาวางบนกระดูกงูตามขวาง แล้วนำไม้กระดานเปลือกเรือมายึดติดกับกงเรือ ด้วยลูกประสักตามลักษณะของท้องเรือ แล้วยาแนวรอยต่อของไม้เปลือกเรือด้วยการตอกหมันและยาชันเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าเรือ หลังจากนั้น จึงปูพื้นกระดานที่นั่งหรือปูพื้นดาดฟ้าเรือ เพื่อใช้เป็นที่บรรทุกหรือที่อยู่อาศัย และมีการทำหลังคาคลุมในเรือ เพื่อกันแดดกันฝน โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบไผ่ ใบจาก หรือไม้ไผ่สานขัดแตะ ทาด้วยชันผสมน้ำมันยางกันน้ำ ต่อมา จึงใช้แผ่นสังกะสีแทนเพราะทนทานกว่า เรือต่อขนาดเล็กขับเคลื่อนโดยการใช้พาย ส่วนเรือต่อขนาดใหญ่ใช้แจว เรือบางประเภท จะติดตั้งเสาใบเรือ เพื่อช่วยผ่อนแรงในการขับเคลื่อนเรือให้ไปได้ในระยะทางไกลมากขึ้น
นอกจากเรือขุดและเรือต่อแล้ว ต่อมาได้มีการใช้เรือยนต์ ซึ่งเป็นเรือที่มีการพัฒนาให้แล่นได้เร็วขึ้น โดยการนำเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรไอน้ำมาขับเคลื่อนใบพัด ช่วยให้เรือแล่นไปได้ ที่เรียกว่า เรือกลไฟ แต่เรือกลไฟในยุคแรกต้องใช้ฟืน หรือถ่านหิน ในการต้มน้ำเพื่อให้ไอน้ำมาขับดันเครื่องจักรไอน้ำ เรือจึงมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และต่อมา เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จึงสามารถนำมาใช้ในเรือที่มีขนาดเล็กลงมาและเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงเรือหางยาว ซึ่งเป็นนวัตกรรมของคนไทยในอดีตด้วย
เรือกลไฟ ๒ ชั้น