การเล่นว่าวในสมัยสุโขทัย
การเล่นว่าวของไทยนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด ต้องอาศัยการสันนิษฐาน ในสมัยโบราณก่อนสร้างกรุงสุโขทัย ชาวไทยได้อพยพมาจากทางทิศใต้ของประเทศจีน เข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมหลายอย่างของไทยคล้ายกับจีน ในหนังสือ เอนไซโคลพีเดียบริทานิกา ได้กล่าวว่า จีนเป็นชาติที่นิยมเล่นว่าว มาตั้งแต่สมัยโบราณ ฉะนั้น จึงพออนุมานได้ว่า ก่อนสมัยสุโขทัย คนไทยคงรู้จักว่าวและวิธีนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้ามาแล้วเช่นกัน
จิตรกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ แสดงให้เห็นการเล่นว่าวของคนไทย
ต่อมาในสมัยสุโขทัยมีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ว่าคนไทยคงรู้จักเล่นว่าวมาแล้ว คือ หนังสือ พงศาวดารภาคเหนือ มีข้อความกล่าวถึงพระร่วงว่า "...พระยาร่วงนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยและว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวพระยา เสด็จไปไหนก็ไปคนเดียว..." และการชักว่าวของพระร่วงยังทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ยุ่งยากอีกด้วยคือ ว่าวขาดลอยไปตกที่เมืองตองอู อีกหลักฐานหนึ่ง คือ ในหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีข้อความกล่าวถึงว่าวว่า "...เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษกเถลิงพระโคกินเลี้ยงเป็นนักขัตฤกษ์ หมู่นางในได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี…"
หลักฐานการเล่นว่าวในสมัยสุโขทัยจากที่ปรากฏอยู่ในหนังสือที่กล่าวมา จึงพออนุมานได้ว่าเป็นการเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน คือ ทำว่าวเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ปล่อยให้ขึ้นไปลอยอยู่บนท้องฟ้าแบบว่าวจีน ส่วนการชักว่าวนั้น มักทำในพิธีนักขัตฤกษ์หรือพิธีเรียกลม สำหรับการเล่นพนันว่าวอย่างในปัจจุบัน น่าจะยังไม่มีในสมัยสุโขทัย