เล่มที่ 37
ว่าว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเล่นว่าวในสมัยรัตนโกสินทร์

            การเล่นว่าวนิยมเล่นกันเรื่อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมีผู้นิยมเล่นกันมากจนทางการต้องออกประกาศใน จ.ศ. ๑๒๑๗ (พ.ศ. ๒๓๙๘) ให้ระมัดระวังการเล่นว่าว ดังข้อความต่อไปนี้


"ว่าว" เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ที่คนไทยสมัยโบราณทุกชนชั้นนิยมเล่นกัน

            "..พระยาเพชรปาณีรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้นายอำเภอป่าวร้องประกาศข้าราชการ และราษฎรที่เป็นนักเลงว่าว เอาว่าวขึ้น ก็ให้เล่นแต่ตามท้องสนามหลวงที่ว่างเปล่า ไม่ห้ามปรามดอก ให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ช่อฟ้าใบระกา พระมหามณเฑียร พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง และช่อฟ้าใบระกาวัดวาอารามให้หักพังได้ ถ้าผู้ใดชักว่าวไม่ระวัง ให้สายป่านพาดไปถูกต้องของหลวงและวัดวาอารามให้หักพังยับเยินไป จะเอาตัวเจ้าของว่าวเป็นโทษตามรับสั่ง..."


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตร
การแข่งขันว่าว ชิงถ้วยทองพระราชทาน

            ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า กีฬาว่าวอย่างที่เล่นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เพิ่งเริ่มมีกฎเกณฑ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก่อนไม่ปรากฏว่าเล่นกันอย่างมีระเบียบแบบแผน มีกติกา หรือมีนายสนามรับผิดชอบควบคุมความเรียบร้อย นอกจากนี้ การเล่นว่าวแต่เดิมก็ไม่ได้เล่นที่ท้องสนามหลวง เพราะทางราชการสงวนไว้สำหรับเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ สนามว่าวในสมัยนั้นจึงอยู่ในที่ต่างๆ กัน ตามแต่ตกลงกันระหว่างนายสนามและผู้เล่นทั้ง ๒ ฝ่าย เช่น สนามหน้าโรงหวย อยู่ข้างประตูสามยอด สนามสะพานเสี้ยว ด้านหน้ากระทรวงยุติธรรม รวมทั้งสนามวัดโคก โดยเฉพาะที่สนามวัดโคก ใช้เป็นที่เล่นว่าวพนันกันเป็นเวลา ๗ ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๓๒ จึงได้เลิกไป เพราะเหตุว่าบริเวณนั้น ราษฎรปลูกสร้างบ้านเรือนกันหนาแน่น ประกอบกับมีชาวยุโรปเข้ามาตั้งบ้านเรือนหลายหลัง เมื่อว่าวขาดหรือลอยไปตกในบ้าน ของชาวต่างประเทศ การจะเข้าไปนำเอาว่าวคืนมาแต่ละครั้งมีอุปสรรคมาก ต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนผ่านบริเวณนั้น ทำให้สนามวัดโคกซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักเล่นว่าวฝีมือดีต้องล้มเลิกไป เมื่อยังหาสนามเล่นว่าวไม่ได้ นักเล่นว่าวพนันก็แยกย้ายกระจายกันไป บางครั้งก็นัดไปเล่นกันที่สนามบ้านของเอกชนที่อยู่ชานเมือง หรือท้องทุ่งนอกพระนคร เช่น สนามวัดดอน ยานนาวา แต่เล่นได้ไม่นานก็ต้องเลิก เนื่องจากมีกลุ่มอันธพาลคอยตามรบกวน ส่วนที่สนามทุ่งหัวลำโพงเหตุที่เลิกเล่น เพราะรัฐบาลต้องการใช้สถานที่สำหรับสร้างสถานีรถไฟ อย่างไรก็ดี นักเล่นว่าวทุกคนซึ่งต่างมีใจรักกีฬาชนิดนี้ ก็พยายามหาสถานที่เล่นใหม่ไปเรื่อยๆ


ข้าราชบริพารชมการแข่งขันว่าว
ชิงถ้วยทองพระราชทาน

            ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ ซึ่งยื่นออกมาทางสนามหลวงออก แล้วสร้างกำแพงใหม่ โดยร่นเขตพระบรมมหาราชวังเข้าไป พื้นที่ของสนามหลวงจึงเป็นรูปวงกลม และมีถนนตัดผ่านให้รถวิ่งได้โดยรอบ นอกจากทำให้บ้านเมืองสวยงามแล้ว สนามหลวงยังกว้างขวางกว่าเดิม และไม่มีสิ่งกีดขวางกลางสนามเหมือนแต่ก่อน ทำให้เล่นว่าวสะดวกยิ่งขึ้น และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แข่งขันว่าวพนันที่ท้องสนามหลวงได้ ในปีนั้น พลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด  ศิริสัมพันธ์) เป็นนายสนาม นักเล่นว่าวพนันจึงนิยมนำว่าวมาแข่งขันเพิ่มขึ้น การเล่นว่าวพนันในช่วงนั้น จึงเป็นกีฬา ที่สนุกสนานอย่างยิ่ง เมื่อถึงฤดูแข่งขันว่าวพนัน ประชาชนจะไปชมกันทุกเพศทุกวัย ท้องสนามหลวงจึงเป็นที่ชุมนุมของนักเล่นว่าวพนันจากหลายๆ แห่ง
ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ผ่านท้องสนามหลวง ทอดพระเนตรเห็นนักเล่นว่าว กำลังแข่งขันกันอยู่อย่างสนุกสนานครึกครื้น ก็ทรงพอพระทัย จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นักเล่นว่าวพนันนำว่าวไปแข่งขันกัน หน้าพระที่นั่ง ณ สนามพระราชวังสวนดุสิตหรือสนามสวนดุสิต โดยกำหนดเขตให้ว่าวจุฬาอยู่หน้าสนามเสือป่า (ในสมัยก่อนเป็นสนามม้า) ส่วนเขตว่าวปักเป้าให้อยู่ในแนวกำแพงสวนดุสิต ผู้ชนะการแข่งขันแต่ละวัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพวงมาลัย โดยทรงสวมให้เพื่อเป็นเกียรติ สำหรับว่าวจุฬานั้นได้รับพระราชทานผ้าแพรปักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ติดที่ตัวว่าว ผ้าแพรมี ๓ สี คือ สีทอง สีชมพู และสีทับทิม ส่วนว่าวปักเป้าได้รับดอกจันทน์ ๓ สีเหมือนกัน ในระหว่างการแข่งขัน มีแตรวงและพิณพาทย์บรรเลงเพลงต่างๆ ทำให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น เช่น ว่าวกำลังติดพันกันเป็นที่น่าตื่นเต้น ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเหาะ แตรวงก็ทำเพลงเชิด หรือเมื่อว่าวจุฬาประกบว่าวปักเป้าหมุนลงไปในแต่ละครั้งก็บรรเลงเพลงโอด ทำให้สนามสวนดุสิตเป็นสนามแข่งขันว่าวที่ครึกครื้น และสนุกสนานกว่าสนามแห่งอื่นๆ ต่อมา เมื่อมีการจัดแข่งขันว่าว ชิงถ้วยทองพระราชทาน รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ แก้ไขกฎข้อบังคับการเล่นว่าวที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว ให้รัดกุมยิ่งขึ้น กฎข้อบังคับที่แก้ไขใหม่ เรียกว่า กติกาเล่นว่าวที่สนามสวนดุสิต รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ กำหนดให้นำว่าวที่จะเข้าร่วมแข่งขันมาจดทะเบียน ให้นายสนามตรวจจำกัดขนาดของว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า ส่วนสายเครื่องและป่านชักให้ทำเครื่องหมายเป็นสีที่แตกต่างกัน ในการนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาอนุชิตชาญไชย (ทองคำ  สีหอุไร) เป็นนายสนาม และให้รับเงินวางเดิมพันของทั้ง ๒ ฝ่าย ขณะที่ว่าวกำลังแข่งขัน ให้แตรวง ของทหารมหาดเล็กมาบรรเลง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงเครื่องว่างแก่ผู้ที่นำว่าวมาแข่งขัน 


ผู้เล่นว่าวจุฬา
เตรียมนำว่าวเข้าแข่งขัน

            การคิดคะแนนในการแข่งขันว่าวในสมัยนั้น เป็นการคิดคะแนนจากการที่ว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า ต่อสู้กันจนเกิด อาการเข้าร้าย (หมายถึง ส่วนใดส่วนหนึ่งของว่าวจุฬา และว่าวปักเป้าหักหรือขาดจากกัน) แต่สำหรับว่าวจุฬา แม้มีอาการเข้าร้าย แต่ถ้าสามารถนำว่าวปักเป้า เข้ามายังแดนตนเองได้ ก็จะได้รับการพิจารณาให้ได้คะแนน เช่นเดียวกันกับว่าวปักเป้า เพราะถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือด การให้คะแนนลักษณะนี้ ได้นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการต่อสู้ระหว่างว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า ซึ่งอาจทำให้เกิดการสมยอมกัน ของว่าวปักเป้าและว่าวจุฬา การแพ้-ชนะจะบันทึกอยู่ในใบให้คะแนนของว่าว สมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าวปักเป้าที่มีชื่อเสียงมาก คือ ว่าวของพระภิรมย์ภักดี (ชม  เศรษฐบุตร) ซึ่งเป็นบิดาของพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร)

            การเล่นว่าวที่สนามสวนดุสิตได้ดำเนินไปอย่างสนุกสนานเพียง ๒ ปีเท่านั้น ก็ต้องล้มเลิกไปอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากรัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงว่างจากพระราชกิจ เมื่อไม่มีการเล่นว่าวที่สนามสวนดุสิต นักเล่นว่าวจึงกลับไปเล่นกันที่ท้องสนามหลวง โดยมีนักเล่นว่าวที่มีฝีมือดีทั้งว่าวจุฬาและว่าวปักเป้ามาชุมนุมเล่นกันอย่างคับคั่ง ในช่วงแรกมีผู้นำว่าวเข้าแข่งขันพร้อมเพรียงกันดี แต่เนื่องจากนักเล่นว่าวที่มีฝีมือดีมักรุมคว้าแต่ว่าวหน้าใหม่ ทำให้ผู้ที่เพิ่งเข้ามาเล่นใหม่ๆ ค่อยๆ หายไป คงเหลือแต่นักเล่นว่าวคนเดิมๆ ทำให้การเล่นว่าวกร่อยลงไปจนในที่สุดการเล่นว่าวที่ท้องสนามหลวงก็จำต้องเลิกไป แต่ยังมีผู้ที่เล่นว่าวจำนวนหนึ่ง ซึ่งเล่นว่าวพนันได้แยกย้ายกันไปเล่นตามสถานที่อื่นๆ เช่น สนามบางซื่อ สนามวัดดอน สนามตำบลบ้านทวาย สนามวัดหงส์รัตนาราม จังหวัดธนบุรี สนามต่างๆ เหล่านี้มักมีผู้ที่หัดเล่นใหม่อยู่ด้วยทุกสนาม จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๐ มีพระราชกระแสรับสั่งห้ามเล่นว่าวพนันชิงถ้วยทองอันเป็นถ้วยพระราชทาน


ผู้เล่นว่าวปักเป้าตรวจดูความเรียบร้อยของหางว่าว

            ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงเจนสถลรัถย์ (จัน  ภูมิจิตร) เริ่มนัดเล่นว่าวพนันขนาดเล็ก โดยใช้ว่าวจุฬาที่มีอกยาวเพียง ๓ ศอกคืบ สนามที่เล่นใช้ทุ่งศาลาแดงซึ่งเป็นทุ่งที่กว้างใหญ่ และอยู่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ถ้าว่าวตกก็สามารถตามเก็บได้สะดวก เพราะไม่มีบ้านเรือนหนาแน่น จึงมีผู้นิยมนำว่าวไปเล่นหรือไปชมจำนวนมาก แม้กระทั่ง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ  อมาตยกุล) พระยาประชุมพลขันธ์ (ขัน  ศรียาภัย) นำว่าวจุฬามาเล่นเดิมพันกับว่าวปักเป้า โดยขอให้พระยาภิรมย์ภักดี พระอรสุมพลาภิบาล ซึ่งเป็นผู้ชักว่าวปักเป้าฝีมือดี นำว่าวปักเป้าไปล่อ และพนันกันเป็นที่สนุกสนาน นักเล่นว่าวฝีมือดีจำนวนมากจึงไปเล่นที่สนามทุ่งศาลาแดง ต่อมา สนามแห่งนี้ ได้เลิกเล่นว่าวขนาดเล็ก เปลี่ยนเป็นว่าวจุฬาขนาดใหญ่ ๔ ศอกเศษ และคงเล่นว่าวขนาดใหญ่กันเรื่อยมา


ผู้เข้าแข่งขันนำรอกมานั่งทับป่านจุฬา และลูกทีมกำลังดึงว่าวจุฬาเข้าแดน

            ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่สนามทุ่งศาลาแดงต้องหยุดเล่นว่าวพนันไประยะหนึ่ง เนื่องจากพระยาประชากรกิจวิจารณ์ และพระยาประชุมพลขันธ์ ติดราชการ ไม่สามารถมาชักว่าวพนันด้วยตนเองเหมือนเช่นเคยได้ จึงทำให้ว่าวที่เข้าร่วมแข่งขัน มีจำนวนน้อยลง ต่อมานักเล่นว่าวฝีมือดี เช่น พระอรสุมพลาภิบาล และอาจารย์แดง ก็ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันด้วย จึงทำให้การแข่งขันว่าวพนันที่สนามทุ่งศาลาแดงได้รับความนิยมลดลงไปเรื่อยๆ จนต้องล้มเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๖๕


พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร)
ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายสนามว่าวคนแรก พร้อมธงประจำตำแหน่ง

            ในปลาย พ.ศ. ๒๔๖๗ นักเล่นว่าวพนันขอให้พระยาภิรมย์ภักดีจัดการแข่งขันว่าว และเป็นนายสนาม พระยาภิรมย์ภักดีจึงวางข้อบังคับการแข่งขันว่าวพนันขึ้นใหม่ โดยเรียกชื่อว่า "ระเบียบการและกติกาว่าวแข่งขัน ใน พ.ศ. ๒๔๖๗" ซึ่งกำหนดหน้าที่ของนายสนาม และข้อห้ามทั้งฝ่ายว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ตลอดจนระเบียบการนับคะแนนแต้มแข่งขัน และระเบียบอื่นๆ อีกหลายอย่าง การแข่งขันว่าวพนันในปีนั้นมีการจัดกันที่ท้องสนามหลวง มีผู้นำว่าวไปลงชื่อแข่งขันจำนวนมาก จนนายสนามไม่สามารถจัดให้เล่นพร้อมกันได้ ต้องแบ่งเวรผลัดเปลี่ยนกันเล่นในแต่ละวัน

            วันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งเป็น "วันกาชาด" สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี องค์สภานายิกาแห่งสภากาชาดสยาม เสด็จมาประทานรางวัลแก่เจ้าของว่าวภาพที่ชนะการประกวด ภายในงาน นายสนามได้จัดให้ประลองฝีมือกัน ระหว่างว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ผู้ที่ชักว่าวทั้ง ๒ ฝ่าย มีฝีมือยอดเยี่ยม ฝ่ายว่าวจุฬามีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นผู้ทรงชักเอง ฝ่ายว่าวปักเป้าได้แสดงความสามารถคว้า และล่อหลอก เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นของผู้ชมเป็นอย่างมาก ในงานนี้ เก็บเงินรายได้บำรุงสภากาชาดสยามเป็นจำนวนกว่า ๕,๐๐๐ บาท โดยมีพระยาภิรมย์ภักดีเป็นนายสนามครั้งแรก


พระภิรมย์ภักดี (ชม  เศรษฐบุตร)

            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ากีฬาว่าวเป็นกีฬากลางแจ้งของไทยมาแต่โบราณ ควรส่งเสริมให้ดำรงอยู่สืบไป ดังนั้น ในปลาย พ.ศ. ๒๔๖๙ โปรดเกล้าฯ ส่งว่าวจุฬาที่มีเครื่องหมายลูกศรสีเขียว ๓ ดอกติดที่อกว่าว ซึ่งนักเล่นว่าวเรียกเครื่องหมายนี้ว่า "สามศร" เข้าร่วมแข่งขันด้วย นอกจากนี้ยังมีว่าวจุฬาสายสำคัญของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ติดเครื่องหมาย "ดาวทอง" เข้าแข่งขันอีกสายหนึ่ง ทำให้สนุกสนานครึกครื้นกว่าทุกปี โดยมีข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน เข้าชมการแข่งขันว่าวพนันกันจนแน่นขนัด ดังนั้น ท้องสนามหลวงจึงคราคร่ำไปด้วยประชาชนทุกเพศทุกวัย การแข่งขันครั้งนั้น ได้ดำเนินมาด้วยความครึกครื้นจนเสร็จสิ้นรอบแรก ในวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ต่อมาในวันที่ ๖ เมษายน ปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ประทับ ณ ปะรำพิธี ท้องสนามหลวง ทอดพระเนตรการแข่งขันว่าวพนัน และโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ที่ชนะการแข่งขัน พระยาภิรมย์ภักดีซึ่งเป็นนายสนาม ได้คัดผู้เข้าแข่งขันทั้งว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าที่อยู่ในเกณฑ์ฝีมือดี และได้รับพระราชทานรางวัลในวันนั้น มาแข่งขันกันใหม่อีกครั้ง เพื่อชิงถ้วยรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ