กำเนิดดั้งเดิมของว่าว
ว่าวเป็นเครื่องเล่นที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยมีหลักฐานจากหนังสือ เอนไซโคลพีเดียบริทานิกา กล่าวถึง ศิลปะการอาศัยกระแสลม ที่ส่งโครงรูปเบาๆ ซึ่งมีขนาดและรูปทรงแตกต่างกัน ติดด้วยกระดาษหรือผ้าให้ขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ มนุษย์รู้จักว่าว มาเป็นระยะเวลา ๔๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งในสมัยนั้น มักทำว่าวเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปทรงสามเหลี่ยม ส่วนหัวเป็นรูปครึ่งวงกลม และมักติดแถบที่หาง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล เช่นเดียวกับลูกตุ้มนาฬิกา
การเล่นว่าวของชาวญี่ปุ่น
ในสมัยก่อน
ในทวีปเอเชีย หลายชนชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ หรือชนเผ่าโบราณบางเผ่า เช่น เผ่าเมารี (Maori) ในประเทศนิวซีแลนด์ รู้จักการชักว่าวมานานแล้ว แต่การชักว่าวในลักษณะดั้งเดิมนั้น เข้าใจว่า คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิทางศาสนา โดยเห็นได้จากในระหว่างที่ส่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า จะมีการร้องเพลงสวดที่เรียกว่า "เพลงว่าว" คลอไปด้วย ปัจจุบัน ชนเผ่าเมารียังคงรักษาประเพณีทางลัทธินี้ ไว้อย่างเคร่งครัด
ในประเทศไทย มีหลักฐานเป็นหนังสือที่กล่าวอ้างถึงเรื่องว่าว ทั้งที่เป็นว่าวไทย และว่าวต่างชาติหลายชาติ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ชื่อหนังสือ ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าวฯ ผู้แต่ง คือ พระยาภิรมย์ภักดี มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ว่าวเกาหลีใต้
ในประเทศญี่ปุ่น มีการเล่นว่าวมาตั้งแต่โบราณ ว่าวที่เล่นกันเป็นว่าวภาพต่างๆ แต่ว่าวลักษณะที่ทำเป็นแผงสี่เหลี่ยม นิยมเล่นกันมากกว่าแบบอื่น ซึ่งตรงกับในตำนานบางเล่มของญี่ปุ่น ที่กล่าวว่า เมื่อประมาณ ๖๐๐ ปีมาแล้ว ชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง ได้ช่วยกันทำว่าวตัวหนึ่ง เป็นว่าวรูปแผงสี่เหลี่ยม มีขนาดใหญ่มาก สามารถพาคน ข้ามไปอีกเกาะหนึ่งได้
ว่าวอินเดีย
ในประเทศจีน ถือเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมมาแต่สมัยโบราณ ชาวจีนถือเอาวันที่ ๙ เดือน ๙ เป็น "วันว่าว" ผู้ชายทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ทุกชนชั้นต่างชวนกันไปเล่นว่าวตามเนินใกล้ๆ บ้าน โดยมีหลักฐานระบุว่า จีนมีการเล่นว่าวมาก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว และเป็นต้นแบบของว่าวหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออก รวมทั้งประเทศไทย ชาวจีนรู้จักประดิษฐ์ว่าวเป็นรูปภาพต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น ว่าวโป๊ยกั๊ก (แปดเหลี่ยม) ว่าวถัง ว่าวผีเสื้อ ว่าวตะขาบ ว่าวแมงดาทะเล ว่าวภาพเหล่านี้เมื่อชักขึ้นสู่ท้องฟ้า ลมจะปะทะส่วนปีกและหางของว่าวให้ส่ายหรือสะบัดพลิ้วไปมา ทำให้เด็กๆ ชอบกันมาก
ว่าวมาเลเซีย
ในประเทศอินเดีย ประเทศที่รวมชนชาติต่างๆ หลายเผ่าพันธุ์ จึงมีการเล่นว่าว ที่แตกต่างกัน ชาวฮินดูมีการเล่นว่าวก่อนเผ่าพันธุ์อื่น และมีว่าวชนิดหนึ่งเรียกว่า "ว่าวหง่าว" เป็นว่าวที่นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือกันว่า เป็นว่าวที่กำหนดโชคชะตา ของบ้านเมือง เมื่อบ้านเมืองเกิดภัยพิบัติขึ้น กษัตริย์ก็จะโปรดให้ชักว่าวหง่าวนี้ขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วโปรดให้ประกอบพิธี เรียกว่า พระราชพิธีเสี่ยงเคราะห์โศกของบ้านเมือง สำหรับพิธีเอาว่าวขึ้นเสี่ยงทายของไทยที่มีในสมัยสุโขทัย หรือที่ปรากฏหลักฐาน อยู่ในหนังสือ พระราชพิธี ๑๒ เดือน สันนิษฐานว่าคงได้ต้นแบบมาจากพิธีดังกล่าวนี้
หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องว่าวนอกจากมีอยู่ในหนังสือ ตำนานว่าวพนันฯ ดังที่กล่าวแล้ว ยังมีเรื่องเล่าขานกันต่อๆ มาคือ ในประเทศเกาหลีใต้ มีแม่ทัพคนหนึ่งมีวิธีปลุกขวัญกำลังใจทหารของตนเอง ด้วยการชักว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยผูกโคมไฟติดไปกับว่าวด้วย เมื่อข้าศึกเห็น ก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นดาวดวงใหญ่ เป็นสัญญาณของสวรรค์ ที่ส่งมาช่วยเหลือ หรือปกปักรักษาฝ่ายตรงข้าม ทำให้ข้าศึกเสียกำลังใจ นอกจากนี้ แม่ทัพอีกคนหนึ่ง คิดใช้ว่าวให้เกิดประโยชน์ ในการวัดระยะเป็นคนแรก โดยการใช้สายว่าวที่มีสายลวดผูกติดอยู่เป็นเครื่องวัดความกว้างของลำธารสายหนึ่ง ทำให้รู้ตำแหน่งศูนย์กลางของสะพาน ที่ทอดข้ามไปได้