เล่มที่ 37
ว่าว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การก่อตั้งสมาคมกีฬาสยาม

            สมาคมกีฬาสยามเป็นสมาคมหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับสมาคมกีฬาอื่นๆ เช่น สมาคมกรีฑา สมาคมฟุตบอล สมาคมว่ายน้ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬาประเภทต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ


ตราสมาคมกีฬาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

            วัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งสมาคมกีฬาสยามขึ้นเนื่องจากการแข่งขันกีฬาว่าวพนันได้ซบเซาลงไปมาก ภายหลังจากในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ และการนำว่าวเข้ามาแข่งขัน ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ การเล่นกีฬาว่าวพนันจึงได้ชะงักไประยะหนึ่ง


การระบายสีให้สวยงาม

            ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ นักเล่นกีฬาว่าวพนันซึ่งมีจำนวน ๔-๕ คน เห็นว่ากีฬาสยามหลักๆ ที่เคยเล่นกันอยู่ คือ ว่าวพนัน หมากรุกไทย และตะกร้อ เป็นกีฬาที่แสดงถึง ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่มีการจัดแข่งขันหรืออนุรักษ์ไว้ อาจเสื่อมความนิยม และหายไปในที่สุด จึงร่วมก่อตั้งเป็นสมาคมขึ้น เรียกชื่อว่า "สมาคมกีฬาสยาม" โดยมีวัตถุประสงค์ทำนุบำรุง และส่งเสริมสนับสนุนกีฬาของไทยประเภทต่างๆ ให้คงอยู่ตลอดไป คณะกรรมการชุดแรกที่เป็นผู้ก่อตั้งสมาคม ได้แก่

๑.    พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร)  นายกสมาคมและนายสนาม
๒.    นายยิ้ม  ศรีหงษ์  กรรมการ
๓.    หลวงบรรณสารประสิทธิ์  กรรมการ
๔.    หลวงมงคลแมน (สังข์  บูรณศิริ)  กรรมการและเหรัญญิก
๕.    นายชื่น  กรรมการและปฏิคม
๖.    นายสงัด  พลายานนท์  กรรมการ

            การก่อตั้งสมาคมกีฬาสยามในระยะแรก ยังไม่ค่อยราบรื่น แม้แต่สำนักงานก็ใช้บ้านพัก ของพระยาภิรมย์ภักดี จึงยังไม่ได้จดทะเบียนก่อตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย คณะกรรมการมีการประชุมเกี่ยวกับการร่างระเบียบของสมาคมฯ และปรับปรุงกฎกติกาต่างๆ ขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งขออนุญาตจากกรมสุขาภิบาล ใช้สนามหลวงเป็นที่แข่งขันว่าว และหมากรุก นับแต่นั้นเป็นต้นมา การแข่งขันกีฬาว่าวพนันจึงเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง ที่สนามหลวง โดยมีการจัดแข่งขันกีฬาว่าวพนัน จุฬา-ปักเป้า ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ของทุกปี
พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร) ผู้ก่อตั้งสมาคมกีฬาสยาม และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเล่นว่าวปักเป้า ที่หาคู่ต่อสู้ได้ยาก จนได้รับยกย่องให้เป็น "ครูของการเล่นว่าวไทย" ทั้งยังเป็นผู้แต่งหนังสือ ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ ซึ่งถือเป็นตำราว่าวเล่มเดียวในเมืองไทย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๒ สมาคมกีฬาสยามได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สมาคมกีฬาไทย" และใน พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณรับสมาคมกีฬาไทย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน