เล่มที่ 37
ว่าว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของว่าว


ว่าวแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ ว่าวแผง ซึ่งเป็นว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้างและส่วนยาว เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม ว่าวรูปสัตว์ ว่าวประเภทที่ ๒ คือ ว่าวภาพ เป็นว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อแสดงแนวความคิด และฝีมือในการประดิษฐ์ ว่าวภาพยังแบ่งออกย่อยๆ ได้ ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และตลกขบขัน

ว่าวภาพและว่าวแผงมีรูปทรงและสีสันต่างๆ กัน โดยมีชื่อเรียกต่างๆ ดังนี้ 


ว่าวจุฬา

ว่าวจุฬา

ว่าวจุฬาถือเป็นว่าวเอกลักษณ์ประจำชาติไทย มีรูปร่างเหมือนดาว ๕ แฉก หรือมะเฟืองผ่าฝาน สามารถบังคับให้เคลื่อนไหวในท่าต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว และสง่างาม กีฬาว่าวพนันถือว่าว่าวจุฬาเป็นว่าวตัวผู้ ใช้เล่นตัดสินแพ้-ชนะกับว่าวปักเป้า ซึ่งถือเป็นว่าวตัวเมีย ว่าวจุฬามีอาวุธประจำตัวติดอยู่ตรงสายว่าว เรียกว่า จำปา ใช้สำหรับเกี่ยวเหนียง หาง และสายป่านของว่าวปักเป้า หากว่าวจุฬาเกี่ยวเหนียง หรือสายป่านว่าวปักเป้าได้ ๒ รอบ ว่าวปักเป้าจะผ่อนไม่ออก

ว่าวปักเป้า

ว่าวปักเป้า

ว่าวปักเป้าถือเป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคกลาง และเป็นว่าวประจำชาติไทยเคียงคู่กับว่าวจุฬา มีโครงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนคล้ายว่าวอีลุ้ม แต่โครงไม้ไผ่ส่วนที่เป็นปีก จะแข็งกว่าปีกของว่าวอีลุ้มมาก จึงต้องมีหางยาวถ่วงที่ปลาย และมีอาวุธ เรียกว่า "เหนียง" ขณะลอยอยู่ในอากาศจะส่ายไปส่ายมา โฉบเฉี่ยวในท่าต่างๆ ได้อย่างฉับไวคล่องตัว เมื่อถึงฤดูแข่งขันว่าวพนัน หากพบเห็นว่าวจุฬามักเห็นว่าวปักเป้าลอยพัวพันอยู่ด้วยเสมอ

ว่าวอีลุ้ม

ว่าวอีลุ้มมีรูปแบบคล้ายว่าวปักเป้า และมีรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ที่ปลายปีก ๒ ข้างติดพู่กระดาษเพื่อช่วยการทรงตัวในอากาศ การเล่นว่าวอีลุ้มของทางภาคกลางได้พัฒนาเป็น การเล่นว่าวสายป่านคม ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากชาวอินเดีย โดยส่งว่าวอีลุ้มสายป่านคม ให้ลอยไปตัดว่าวของผู้อื่น ว่าวอีลุ้มสายป่านคมจึงกลายเป็นกีฬาว่าวอีกประเภทหนึ่ง ที่เล่นตัดสินแพ้-ชนะกัน

ว่าวดุ๊ยดุ่ย


ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวดุ๊ยดุ่ย หรือว่าวตุ๊ยตุ่ย มีรูปแบบคล้ายว่าวจุฬา แต่ต่างกันที่ว่าวดุ๊ยดุ่ยมีปีกขนาดเล็กแทนขากบ ของว่าวจุฬา และที่ส่วนหัวจะผูก ธนู หรือ สะนู หรือ อูด ทางภาคใต้เรียกว่า แอก ซึ่งทำจากไม้ไผ่ดัดโค้ง ผูกเชือกที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง คล้ายคันธนู บนเส้นเชือกติดแผ่นหวายบางๆ หรือใบลาน ทำให้เกิดเสียงดัง ดุ๊ย ดุ่ย เมื่อลอยไปมาอยู่ในอากาศ ส่วนหางจะใช้ใบลานต่อกัน ๒ ข้าง ซึ่งทำให้การเคลื่อนตัวของว่าวเชื่องช้าและสง่างาม ในจังหวัดบุรีรัมย์มีว่าวลักษณะเหมือนว่าวดุ๊ยดุ่ย แต่เรียกว่า "ว่าวสองห้อง" ซึ่งนำมาใช้แข่งขันกัน ว่าวสองห้องพบมากในภาคอีสาน


ว่าวงู

ว่าวงู

ว่าวงูเป็นว่าวรูปสัตว์ที่นิยมเล่นทั่วทุกภาคโครงว่าวทำง่ายๆ เป็นส่วนหัวและส่วนหา ส่วนหัวมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ด้านบนโค้งมนคล้ายหัวงูกำลังแผ่แม่เบี้ย หางทำจากกระดาษย่น ยาวเรียวคล้ายหางงู รูปทรงที่ดูแปลกตาและสีสันฉูดฉาด ทำให้สวยงามโดดเด่น ถ้าเขียนเกล็ดจะสวยงามมากขึ้น ว่าวงูเป็นว่าวแผงที่ขึ้นง่ายที่สุด เพราะมีหางที่ถ่วงให้ขึ้น แต่การเล่นว่าวงูหรือว่าวแผงอื่นๆ ต้องเล่นในสภาพลมกำลังดี หากลมแรงมาก ว่าวจะควงทุกตัว 

ว่าวหัวแตก


ว่าวหัวแตก

ว่าวหัวแตกดัดแปลงรูปแบบมาจากว่าวอีลุ้ม แต่ผ่าหัวเป็น ๒ แฉก แล้วใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ขึงติดกับด้ายให้ตึง โยงติดระหว่างหัวที่ผ่าออก เมื่อว่าวลอยติดลมบน จะมีเสียงดัง


ว่าวเต่า

ว่าวเต่า

ว่าวเต่ามีโครงว่าวรูปร่างเหมือนเต่า เมื่อติดกระดาษทับแล้ววาดเส้นระบายสี ดูคล้ายตัวเต่า เป็นว่าวที่สร้างสรรค์จินตนาการมาจากเต่าที่คนไทยมีความคุ้นเคย โดยเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน และการปล่อยเต่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ ดังนั้น การชักว่าวรูปเต่า จึงเป็นเสมือนการต่ออายุ ให้ผู้เล่นว่าวด้วย ว่าวเต่าเปิดให้ลมเข้าทางโครงด้านบน ส่วนโครงด้านล่างเป็นทางลมออก ลมจึงดันว่าวให้ขึ้นไปได้ อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ว่าวแผงที่เป็นว่าวเต่า แต่ใส่หางยาว ๒ ข้าง ผูกคอซุงให้เอียง หากตั้งว่าวให้เอียง ๖๐ องศา ว่าวจะขึ้นได้ดีมาก


ว่าวใบไม้

ว่าวใบไม้

ว่าวใบไม้ใช้ใบไม้ เช่น ใบตองชาด หรือใบตองกุง เมื่อตากแห้งแล้วสามารถนำมาผูกคอซุง ด้านหน้า ๒ เส้น และใส่หางไว้สำหรับผูกเชือก ที่ปลายใบประมาณ ๓ ช่วง แล้วนำหญ้าแฝกหรือหญ้าคามาผูกเป็นหางว่าว เป็นของเล่นพื้นบ้าน นิยมเล่นกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออาจผูกโครงว่าว แล้วนำใบไม้มากรุ แทนกระดาษว่าว ก็สามารถทำได้ โดยมักผูกขึ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม ครึ่งวงกลม ฯลฯ และต้องมีหาง ว่าวใบไม้มักไม่ทนทาน มีอายุการใช้งานสั้น แต่มีความโดดเด่นแปลกตาด้วยลักษณะพิเศษ ของวัสดุที่ใช้


ว่าวประทุน


ว่าวประทุน

ว่าวประทุนมีรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนปีกพับเข้าทั้ง ๒ ข้าง ความสวยงามอยู่ที่ขนาด การออกแบบลวดลาย และสีสันของตัวว่าว เป็นว่าวที่เด็กๆ นิยมเล่นกัน โดยใช้กระดาษสมุดนำมาพับ ปัจจุบัน ว่าวชนิดนี้ทำน้อยหรือไม่ค่อยพบเห็นแล้ว


ว่าวคากตี่

ว่าวคากตี่ ว่าวคากตี่เป็นว่าวที่ดัดแปลงพัฒนามาจากว่าวดุ๊ยดุ่ยและว่าวจุฬา โดยมีส่วนปีกบนคล้ายว่าวดุ๊ยดุ่ย มีพู่ห้อย ๒ ข้าง และปีกล่างทำมุมคล้ายขากบของว่าวจุฬา แต่แคบและเล็กกว่า


ว่าวแมลงวันหัวเขียว
ว่าวแมลงวันหัวเขียว ว่าวแมลงวันหัวเขียวมีรูปร่างคล้ายแมลงวัน เป็นว่าวประเภทตลกขบขัน ผู้ที่คิดทำว่าวตัวนี้ คือ นายเกิด สุขชิต บิดาบุญธรรมของนายปริญญา สุขชิต ขณะทำว่าว มีอายุ ๘๒ ปี ถือว่าเป็นผู้ทำว่าวที่มีอายุมากที่สุดในขณะนั้น เมื่อชักว่าวขึ้นไป ต้องกระตุกให้ว่าวขึ้นและตกหัวทิ่มพื้น ทำให้ขบขัน เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ ว่าวแมลงวันหัวเขียวได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันว่าว ที่ท้องสนามหลวง และว่าวตัวนี้ได้นำไปแสดงที่ประเทศสิงคโปร์


ว่าวปลาปีกแอ่น

ว่าวปลาปีกแอ่น

ว่าวปลาปีกแอ่นมีรูปร่างคล้ายตัวปลา มีปีกยื่นออกมา ๒ ข้างคล้ายครีบ ดัดแปลงพัฒนามาจากว่าวอีลุ้ม แต่ยื่นส่วนโครงไม้ไผ่โค้งออกมา ๒ ข้าง และเพิ่มส่วนหางปลาด้านล่าง ชาวไทยภาคใต้ ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตชาวทะเล ที่หาปลาเป็นอาหาร ได้นำเอารูปร่างของปลาที่พบเห็นทุกวันมาดัดแปลง ทำเป็นว่าว สำหรับใช้เล่นเพื่อความบันเทิง

ว่าวปลา

ว่าวปลา ว่าวปลามีรูปแบบคล้ายว่าวปลาปีกแอ่น ทำโครงว่าวแบบเดียวกัน แต่ส่วนปีกไม่มีไม้ยื่นออกมาทั้ง ๒ ข้าง เป็นแบบง่ายๆ คือ มีหัว ลำตัว และหาง ความสวยงามอยู่ที่เกล็ดปลา ซึ่งใช้กระดาษติดที่ตัวว่าว เขียนลวดลายเหมือนเกล็ดปลา แล้วระบายสีสันหลายสี บางตัวอาจแต้มจุดหรือลาย

ว่าวปลาวาฬ

ว่าวปลาวาฬ

ว่าวปลาวาฬมีรูปแบบคล้ายว่าวปลาปีกแอ่น แต่ไม่มีปีกยื่นออกมา ๒ ข้าง ส่วนหัวทำคล้ายรูปปากปลาวาฬ โดยทำเป็นว่าวหัวแตก ผ่าหัวปลาเป็น ๒ แฉก และมีไม้ไผ่วงกลมติดที่ปลายปาก เมื่อติดกระดาษว่าวแล้ววาดเป็นรูปร่างของปลาวาฬ ทำให้ดูเหมือนจริงมากขึ้น 


ว่าวควาย

ว่าวควาย

ว่าวควายเปรียบเหมือนว่าวดุ๊ยดุ่ยของภาคใต้ ตอนบนมีปีกโค้งเช่นเดียวกับว่าวดุ๊ยดุ่ย แต่ตอนล่างทำโครงรูปร่างเหมือนหัวควาย มีเขายาวโค้งรับกับปีกบน ส่วนหัวติดแอก เพื่อให้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงร้องของควายขณะเมื่อว่าวถูกชักขึ้นสู่ท้องฟ้า ว่าวควายจัดได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคใต้ประเภทหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับว่าว ของภาคอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดสตูลซึ่งเริ่มทำว่าวควายเป็นแห่งแรก และนำมาใช้ในการแข่งขัน ประเภทมีเสียงดังกังวาน แต่ละปีมีว่าวควายเข้าร่วมแข่งขัน จำนวนถึง ๓๐๐ ตัว เป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นประเพณีที่มีมาจนถึงปัจจุบัน

ว่าวอีแพรด

ว่าวอีแพรด

ว่าวอีแพรดภาคกลางมีรูปแบบเช่นเดียวกับว่าวอีแพรดภาคเหนือ ต่างกันที่ว่าวอีแพรดภาคกลาง นิยมติดพู่ที่ห้อยปีกทั้ง ๒ ข้าง  ส่วนภาคเหนือ ไม่นิยมติดพู่ ชื่อของว่าวน่าจะมาจากเสียงของชายกระดาษที่ติดอยู่ที่ด้านข้าง (ซึ่งเหลือทิ้งไว้ไม่ตัดออก) เวลาปะทะกับลมจะเกิดเสียงดังแพรดๆ


ว่าววงเดือน

ว่าววงเดือน

ว่าววงเดือนได้รับเอาแบบอย่างมาจากว่าวบุหลัน หรือว่าวพระจันทร์ของประเทศมาเลเซีย ปลายว่าวเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม ว่าววงเดือนนิยมเล่นกันในหมู่ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ในจังหวัดภาคใต้ ที่อยู่ถัดจากจังหวัดสงขลาลงไป และเล่นเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ เพื่อความสมัครสมานสามัคคี


ว่าวขึ้นสูง

ว่าวขึ้นสูง

ลักษณะเหมือนว่าวควาย แต่ตัดบางส่วนออก นิยมใช้เพื่อการแข่งขัน ซึ่งแต่ละครั้ง มีว่าวเข้าร่วมประมาณ ๔๐๐ ตัว โดยแข่งรอบละ ๔ ตัว อุปกรณ์ในการตัดสินคือ อุปกรณ์วัดองศา แต่ละรอบจะนำว่าวจำนวน ๔ ตัวไปผูกไว้ แล้วให้ว่าวแต่ละตัว ดันลวดที่ผูกไว้ให้ขึ้นสูง ตามเวลาที่กำหนด โดยใช้ขันเจาะรูใส่ลงในโถแก้วที่มีน้ำ เมื่อขันจมถือว่าหมดเวลา ว่าวตัวใดขึ้นสูงที่สุดถือว่าผ่านเข้ารอบ และไปรอแข่งขัน ในรอบต่อๆ ไปกับว่าวที่คัดไว้แต่ละรอบ โดยแข่งไปจนกว่าจะเหลือว่าว ที่ได้เข้าแข่งขัน ในรอบสุดท้าย และมีว่าวที่ชนะเลิศอยู่เพียงตัวเดียว การแข่งขันว่าวขึ้นสูงนี้ จัดขึ้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสตูลและสงขลา ซึ่งจัดขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


ว่าวนก

ว่าวนก

โครงของว่าวนกในช่วงปีกตอนบนมีลักษณะรูปร่างคล้ายว่าวควาย ต่างกันตรงตอนล่าง ที่มีการออกแบบ ให้เป็นรูปหางนกแบบต่างๆ ส่วนหัวทำเป็นรูปหัวนก และมักติดแอก เพื่อให้เกิดเสียงดัง ความสวยงามของว่าวนกอยู่ที่การออกแบบลวดลายและสีสันของตัวนก ว่าวนกบางตัวออกแบบรูปร่างของปีกคล้ายปีกนกจริงมาก เมื่อว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า จึงมีลีลา คล้ายการโผบินของนก ตามธรรมชาติ

ว่าวสกายแล็บ

ว่าวสกายแล็บ

เป็นว่าวที่มีมิติ มีความกว้าง ยาว สูง และมีความหนาเหมือนของจริง จัดอยู่ในประเภท ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อทำเสร็จสมบูรณ์จะใส่ควันสีตรงส่วนหาง ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษ ที่เหมือนกับของจริง ว่าวสกายแล็บจะขึ้นยาก เพราะเป็นว่าวทรงกลม แต่มีปีก จึงทำให้สามารถขึ้นได้ ว่าวสกายแล็บได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดชิงถ้วยพระราชทาน โดยผู้คิดทำว่าวนี้ คือ นายปริญญา  สุขชิต


ว่าวนกยูง

ว่าวนกยูง

ว่าวนกยูงมีรูปแบบคล้ายกับว่าวนกทั่วไปของภาคใต้ ความสวยงามโดดเด่นอยู่ที่ส่วนหาง ซึ่งออกแบบให้คล้ายกับหางนกยูงรำแพน รวมทั้งสีสันและลวดลายของว่าว ที่ใกล้เคียงกับนกยูงจริง จึงจัดเป็นว่าวประเภทสวยงามตัวหนึ่ง ในบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งประชาชนนิยมนำว่าวมาเล่น มีว่าวนกยูงจำหน่าย ซึ่งมีลวดลายอยู่ ๒ แบบ คือ เขียนลายทั้งตัวแบบหนึ่ง และสกรีนสีดำแล้วใส่สีตามช่องอีกแบบหนึ่ง ราคาจะแตกต่างกั