เล่มที่ 37
ว่าว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การทำว่าว
  
การทำว่าวแต่ละตัว จะเป็นว่าวประเภทใด และขนาดใด ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ คือ

วัสดุอุปกรณ์

            วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำว่าว ได้แก่ ไม้ไผ่ กระดาษสาบาง หรือผ้าเนื้อบาง เชือกป่าน กาวแป้งเปียก มีดเหลาไม้ไผ่ กรรไกรตัดกระดาษ พู่กันและสี ไม้ไผ่ที่ใช้ทำโครงว่าวจัดว่าเป็นวัสดุสำคัญ ควรเลือกใช้ไม้ไผ่สีสุก เพราะเป็นไม้ที่มีเนื้อหยุ่นเหนียว ไม่หักง่าย และสามารถตัดแต่งประกอบเป็นโครงว่าวรูปทรงต่างๆ ได้ดี


การผูกว่าวจุฬา

วิธีการผูกว่าว

            การผูกว่าวเริ่มจากการเหลาไม้ไผ่ให้ตรงได้ขนาดและลักษณะ ตามที่ต้องการ เพื่อขึ้นรูปโครงว่าว ที่สำคัญคือ ไม้อก ซึ่งเป็นแกนหลักของโครงว่าว หากไม้ไผ่คด ให้นำมาอิงกับเตา หรือใช้ไฟลน แล้วทาด้วยน้ำตาลปี๊บ ใช้ไม้หน้าสามทำเป็นตะขอ คอยดัดให้ไม้ตรง นอกจากไม้อกแล้วยังมีไม้ปีกว่าวที่ตัดเป็นรูปทรงต่างๆ จากนั้น จึงนำโครงว่าวมาผูกเป็นตัวว่าวตามที่ออกแบบไว้ แล้วติดกระดาษให้ตึง การติดกระดาษควรทำในตอนกลางคืน หรือตอนเช้า เพราะอากาศไม่ร้อนจัด เพื่อป้องกันการขยายตัวของกระดาษ สุดท้ายจึงระบายสีสันบนตัวว่าวให้สวยงาม

ก. การผูกสายซุงว่าวแผง

            สายซุงเป็นสายป่าน ๒ สายที่ผูกติดกับไม้อกว่าว ๒ จุดเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อนำมาต่อกับสายว่าวอีกทีหนึ่ง สายซุงมีประโยชน์ ช่วยประคองตัวว่าวให้ต้านลมได้ดี ไม่เสียการทรงตัว ผู้ที่ฝึกเล่นว่าวครั้งแรกควรใช้ว่าวที่ผูกสายซุงเท่ากัน ว่าวจึงจะขึ้นตรง และหน้าแหงน ทำให้ว่าวลอยนิ่งบังคับง่าย เมื่อเล่นว่าวจนชำนาญแล้ว ก็อาจเปลี่ยนวิธีผูกสายซุงแบบกินหน้า เพื่อให้ว่าวขึ้นผงาด และโฉบพลิกแพลงไปมา การผูกสายซุงถ้าผูกกินหน้ามากไป อาจทำให้ว่าวเสียหลักเรียกว่า ว่าวแฉลบ หัวปักดินได้


การผูกสายซุงว่าวปักเป้า

ข. การผูกสายซุงว่าวภาพ

            การผูกสายซุงว่าวภาพเป็นการผูกสายซุงว่าวอีกลักษณะหนึ่ง โดยใช้เชือกคอซุงจำนวน ๘-๑๐ เส้น ผูกให้ว่าวเอียง ๖๐ องศา ว่าวจะขึ้นในลักษณะเหมือนเครื่องบิน โดยลมจะดันด้านล่างให้ปะทะกับแผงว่าว ทำให้ว่าวสามารถขึ้นได้