การเล่นว่าวในสมัยอยุธยา
สมัยอยุธยามีหลักฐานกล่าวถึงว่าวไว้หลายแห่ง เช่น ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ห้ามไม่ให้ผู้ใดเล่นว่าวข้ามพระราชวัง และในจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งมาเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ มีใจความสรุปได้ว่า การเล่นว่าวในเมืองไทย เป็นการเล่นเพื่อสนุกสนานและเป็นที่นิยมกันในหมู่เจ้านายและขุนนาง แต่ไม่ทราบว่า จะเป็นส่วนหนึ่ง ของพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่ ทั้งนี้ ว่าวของพระเจ้ากรุงสยามนั้นได้ชักขึ้นไปลอยอยู่บนท้องฟ้าทุกๆ คืน เป็นเวลา ๒ เดือน ตลอดฤดูหนาว โดยมีราชเสวกคอยระวังผลัดเปลี่ยนกันถือสายป่าน
ในสมัยอยุธยา มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ปรากฏว่า เจ้าเมืองนครราชสีมาไม่ยอมสวามิภักดิ์ คงตั้งตนแข็งเมืองอยู่ จึงโปรดให้ยกกองทัพขึ้นไปตีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๒ แต่ไม่สามารถตีแตกได้ เพราะชาวเมืองช่วยกันป้องกันเมืองไว้ ในปีต่อมาจึงโปรดให้ยกทัพไปตีเมืองนครราชสีมาอีกครั้ง ในครั้งนี้แม่ทัพนายกองได้คิดอุบายเผาเมือง โดยให้ทหารชักว่าวจุฬาผูกหม้อดินดำที่มีสายชนวนติดอยู่ ให้ลอยอยู่เหนือเมืองนครราชสีมา เมื่อชักว่าวขึ้นแล้ว จึงจุดชนวน ทำให้หม้อดินปืนลุกเป็นไฟตกลงไปไหม้บ้านเรือนภายในเมือง เมื่อชาวเมืองและทหารซึ่งรักษาหน้าที่อยู่บนกำแพงเมืองเห็นไฟไหม้ลุกลามติดกันหลายแห่ง ก็แตกตื่นตกใจไม่เป็นอันรักษาหน้าที่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกทัพเข้าตีเมืองได้
เรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวไว้ ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่ของตำรวจสมัยอยุธยาดังข้อความว่า "ถ้าทรงว่าว เพลาเช้าเพลาเย็นนั้น เจ้ากรมปลัดกรมผู้อยู่เวร เข้ามาคอยกราบทูลพระกรุณาด้วยลมกล้าลมอ่อน ถ้าเสด็จไปทรงว่าว เจ้ากรมปลัดกรมซึ่งอยู่เวรประณมมือแห่เสด็จไปถึงลานว่าว เข้าเฝ้าคอยรับสั่ง ครั้นวิ่งราว (คือวิ่งรอก) เรียกหัวหมื่นตัวสี ตำรวจเลวขึ้นไปวิ่งราวและเกณฑ์ให้คอยเค้าสายป่าน ถ้าพานว่าวปักเป้าติดเข้ามานั้นให้เอาบัญชีกราบทูลพระกรุณาตามชื่อทุกครั้ง"
นอกจากนี้ เรื่อง "สุวรรณหงส์" ซึ่งได้แปลงเป็นบทละคร ที่นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเนื้อเรื่องที่กล่าวถึง "ว่าว" โดยย่อ ดังนี้
"พระสุวรรณหงส์พบผอบทองเสี่ยงทายหาคู่ของนางเกศสุริยงลอยน้ำมา ก็อยากจะพบนางเกศสุริยง พระราชบิดาจึงตรัสแนะอุบาย ให้ทำว่าวชักขึ้นอากาศเสี่ยงทายไป ถ้านางอยู่เมืองใด ขอให้ว่าวลอยไปตกในเมืองนั้น แล้วจงไต่สายป่านว่าวตามไป ก็จะพบนางสมความปรารถนา สุวรรณหงส์ทรงทราบอุบายนี้ก็ดีพระทัยนัก จึงสั่งให้ทำว่าวตัวใหญ่ผูกสายป่านเตรียมไว้ พอตกเย็นวันหนึ่ง ก็ทรงชักว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ผ่อนสายป่านตามลมไปจนสุดสายตา ว่าวก็ลอยไปตกลงในเมืองมัตตัง สายป่านไปพันอยู่บนยอดปราสาทของนางเกศสุริยง สุวรรณหงส์จึงเอาสายป่านทางนี้ผูกไว้ในเมืองไอยรัตน์ แล้วเสด็จไต่ขึ้นสายป่านตามไป...."
ตามข้อความที่ได้กล่าวมา สันนิษฐานได้ว่า คนไทยเล่นว่าวเป็นกีฬามาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่สามารถค้นหาหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า มีนายสนาม และมีกติกาหรือระเบียบแบบแผนในการเล่น ที่พอนำมาอ้างอิงได้คือ ฝ่ายหนึ่งชักว่าวจุฬา อีกฝ่ายหนึ่งชักว่าวปักเป้า และเล่นคว้ากัน ฝ่ายว่าวจุฬามีการวิ่งรอก เพื่อให้สายป่านว่าวปักเป้าติดจำปา ส่วนการพนันว่าวถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกีฬาชนิดนี้ เชื่อกันว่า ถ้าไม่มีการพนันกันแล้ว ก็จะไม่เร้าใจผู้เล่น และการเล่นก็คงไม่มีความสนุก
หลักฐานจากในหนังสือส่วนใหญ่กล่าวว่า การเล่นว่าวในสมัยโบราณมักเล่นกันในหน้าหนาว คือ มักเล่นว่าวในขณะที่มีลมหนาว ซึ่งพัดจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ทิศทางของว่าวที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่เดิมนั้น จะลอยจากทิศเหนือไปทิศใต้ แต่ปัจจุบันนิยมเล่นกันในฤดูร้อนประมาณเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทิศทางของว่าวจึงเป็นจากทิศใต้ไปทิศเหนือ โดยต้องอาศัยลมตะเภา ซึ่งก็คือ "ลมว่าว" ในปัจจุบันนั่นเอง ดังข้อความที่กล่าวไว้ชัดเจน หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ว่า "...เดือนอ้าย (ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม) มีพิธีแครงว่าวหง่าวเรียกลม..." และในหนังสือ ปฐม ก กา ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนเก่า ก็มีคำกล่าวที่ยืนยันว่า การเล่นว่าวในสมัยโบราณ คงเล่นกันในหน้าหนาว คือ "...ลมว่าวหนาวกล้า ต้องห่มผ้าผวย…" เป็นต้น
ปัจจุบันชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยังนิยมเล่นว่าวกันในฤดูหนาว คือ เริ่มตั้งแต่กลางเดือน ๑๒ เป็นต้นไป จนถึงปลายเดือนยี่ หรือต้นเดือน ๓ ที่ไม่มีลมหนาวแล้ว การที่คนไทยนิยมเล่นว่าวกันในหน้าหนาวแต่เดิมมานั้น เพราะในหน้าหนาวลมแรง สามารถส่งว่าวให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้เกือบทั้งวัน ผู้ที่นิยมเล่นว่าวดุ๊ยดุ่ยก็จะปล่อยว่าวไว้ตลอดทั้งคืน โดยว่าวไม่ตกลงสู่พื้นเลย เสียงของว่าวฟังแล้วเพลินทำให้สบายใจได้
ในภาษามอญ คำว่า "ว่าว" แปลว่า หนาว ฉะนั้น คำว่า "ลมว่าว" ในภาษาไทย ทั้งในสมัยสุโขทัยและอยุธยาคงหมายถึง ลมหนาว ดังนั้นแต่เดิมคำว่า "ว่าว" คงมาจากภาษามอญ เพราะมีความหมายที่เกี่ยวเนื่องด้วยการละเล่นในหน้าหนาว หากพิจารณาว่า เหตุใดไทยจึงยืมภาษามอญมาใช้เรียกว่าว ก็คงมาจากเหตุผลที่ชาวมอญเคยมีอิทธิพลในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อชาวไทยอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนที่มอญปกครองอยู่ ก็รับเอาภาษาและวัฒนธรรมบางอย่างของมอญมา และคำว่า "ว่าว" ก็คงรับเข้ามาใช้ในภาษาไทยด้วย ดังเห็นได้ว่า ปัจจุบันยังคงมีคำภาษามอญหลงเหลืออยู่ในภาษาไทยไม่น้อย อย่างไรก็ตาม แต่เดิมชาวไทยจะเรียก "ว่าว" ว่าอย่างไร ยังไม่สามารถค้นหาหลักฐานได้ แต่ถ้าเรียกโดยยืมคำในภาษาจีนมาใช้ คำคำนั้นอาจถูกกลืนไปแล้ว ด้วยอิทธิพลของภาษามอญที่เข้ามาครอบงำในภายหลัง