เล่มที่ 36
ทองคำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความสัมพันธ์ของทองคำกับคนไทย

            ปัจจุบันทองคำเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น สามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ หรือสามารถพบเห็นโดยทั่วไป เช่น ถ้าไปวัด ก็จะสังเกตเห็นองค์พระพุทธรูปที่เป็นทองคำเหลืองอร่าม ทองคำเปลวที่ใช้ปิดทอง หรือทองคำ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้าง ภายในวัด อุโบสถ หรือวิหาร

            ด้วยเหตุที่ทองคำมีความผูกพันกับคนไทยมาตลอด ในภาษาไทยจึงมีคำหลายคำที่มีความหมายว่า ทองคำ เช่น สุวรรณ กาญจนา กนก สุพรรณ นอกจากนี้คนไทยยังถือว่า ทองคำเป็นโลหะมงคลและเป็นของมีค่าสูงส่ง จึงมักนำมาเรียกขานสิ่งต่างๆ ได้แก่ ชื่อคน เช่น ทอง ทองคำ สุวรรณ สุพรรณ  ชื่อจังหวัด เช่น อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี  ชื่อวัด เช่น วัดธาตุทอง วัดสุวรรณคูหา วัดสุวรรณาราม วัดภูเขาทอง หรือแม้แต่ดินแดน ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยก็ยังได้รับการขนานนามว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ หรือแหลมทอง ซึ่งแสดงถึงดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง

            อาชีพของคนไทยในสมัยโบราณที่เกี่ยวข้องกับทองคำ คือ ช่างทอง เช่น ทำถมทอง ทองลงยา คร่ำทอง ลงรักปิดทอง ในเครื่องหัตถกรรม หล่อพระพุทธรูปทองคำ เหรียญทองคำ สร้างโบสถ์ วิหาร และสิ่งประดับ หรืออุปกรณ์ตกแต่งภายในวัด ส่วนใหญ่เป็นงานสร้างสรรค์ทางด้านหัตถกรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรมไทย ที่มักใช้ทองคำมาเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ได้ผลงานที่งดงามโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่ดีงาม และความอุดมสมบูรณ์ของสังคมไทยในสมัยโบราณ และเป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วอายุคนตราบจนทุกวันนี้


พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร มีการนำทองคำเปลวมาประดับตกแต่ง เช่น หน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา

            ปัจจุบันทองคำเข้ามามีบทบาทในสังคมและการดำรงชีวิตของคนไทยมากกว่าในอดีต เนื่องจาก คนไทยในปัจจุบัน นิยมใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับ หรือเก็บสะสมทองคำเป็นทรัพย์สมบัติ โดยเห็นได้จากการมีธุรกิจค้าทองคำในเกือบทุกอำเภอ และมีการประกาศกำหนดราคากลางในการซื้อ-ขายทองคำ เพื่อให้มีระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นในแต่ละวันมีการหมุนเวียนของเงินตราที่เกิดจากการซื้อ-ขายทองคำ ซึ่งเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ คือ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้แก่คนไทยที่อยู่ในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทองคำ  นับตั้งแต่การสำรวจแร่ทองคำ การร่อนแร่ การทำเหมืองแร่ การแต่งแร่หรือการถลุงแร่ การแปรรูปทองคำในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ และในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนร้านค้ารับซื้อ-ขายทองคำ 

            ราคาทองคำจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง ภาวะเงินฝืดเงินเฟ้อ ค่าเงินไม่มั่นคง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก โดยเฉพาะการที่ทองคำได้เข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจโลก  เมื่อใดที่ระบบเศรษฐกิจของโลกมีปัญหา เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อ หรือค่าเงินผันผวนในหลายๆ ประเทศ ราคาทองคำก็จะพุ่งสูงขึ้น ในช่วงนั้น ทองคำจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงยิ่งกว่าเงินตราหรือสินทรัพย์อื่นๆ ทำให้ประชาชนนิยมซื้อ ขาย และสะสมทองคำมากขึ้น เมื่อความต้องการทองคำมีมากขึ้น จึงทำให้ราคาสูงขึ้นด้วย ดังเห็นได้จากในปัจจุบันที่ราคาทองคำสูงขึ้นมาก ดังนั้นจึงมีการสำรวจค้นหาแหล่งแร่ทองคำ และการทำเหมืองแร่ทองคำกันมากขึ้น โดยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีด้านการสำรวจ การวิเคราะห์ การทำเหมืองแร่ ตลอดจน การถลุงแร่ทองคำจากสินแร่ที่มีความสมบูรณ์ต่ำ เพื่อให้ได้ทองคำปริมาณมากขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับแร่ทองคำ เช่น สมบัติแร่ทองคำ การเกิด ธรณีวิทยาแหล่งแร่ทองคำ การทำเหมืองแร่ ตลอดจนเศรษฐศาสตร์แร่ทองคำ