ประวัติของทองคำ
ทองคำมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษโบราณว่า จีโอลู (geolu) แปลว่า เหลืองอร่าม เปล่งปลั่ง อ่อน ยืด ดึงได้ ภาษาอังกฤษในปัจจุบันคือ โกลด์ (gold) ภาษาละตินเรียกว่า ออรัม (aurum) และภาษาจีนเรียกทองคำว่า กิม (kim) ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ร่ำรวย และเป็นสื่อแห่งวัฒนธรรม เครื่องทองเก่าแก่ที่สุดค้นพบได้ที่เมืองวาร์นา ประเทศบัลแกเรีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ มีอายุประมาณ ๖,๖๐๐ ปี
พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำ
ประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพฯ
ประวัติทองคำของประเทศไทยมีหลักฐานจากหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยระบุว่า “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือน ค้าทอง ค้า” แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจค้าขายทองคำมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูปที่ประดับ หุ้ม หรือหล่อด้วยทองคำ ในสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวารวดี ศรีวิชัย เชียงแสน ก็ถือเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ทองคำของไทยได้เป็นอย่างดี ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ มีการค้นพบพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อทองคำ” อายุประมาณ ๗๐๐ ปี มีน้ำหนักกว่า ๕ เมตริกตัน เป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสส์บุ๊ก ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ