การเกิดแร่ทองคำ
ทองคำเป็นแร่โลหะธรรมชาติซึ่งมีการเกิดได้ ๒ แบบ คือ แบบปฐมภูมิ และแบบทุติยภูมิ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว ทองคำเป็นส่วนประกอบของหิน ดิน หรือแม้แต่น้ำทะเล
หินอัคนีมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ ๐.๐๐๓๕ ส่วนในล้านส่วน
หินชั้นมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ ๐.๐๔๐๓ ส่วนในล้านส่วน
หินแปรมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ ๐.๐๑๐๙ ส่วนในล้านส่วน
น้ำทะเลมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ ๐.๐๐๐๐๔ ส่วนในล้านส่วน
ตัวอย่างหินที่จะนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาแร่ทองคำในเนื้อหิน
แหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ
คือ แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น สายน้ำแร่ร้อน กระบวนการเติมสารละลายซิลิกา กระบวนการแปรสัมผัส ฯลฯ กระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินชนิดต่างๆ ทั้งหินอัคนี หินชั้น และหินแปร โดยอาจพบทองคำในลักษณะฝังประ หรือเป็นสายแร่ในเนื้อหินซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ส่วนใหญ่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะทราบปริมาณของแร่ทองคำในเนื้อหิน จากการเก็บตัวอย่างหิน และส่งวิเคราะห์ทางเคมีเท่านั้น แหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบปฐมภูมิในประเทศไทย ได้แก่
แหล่งแร่ทองคำโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส
แหล่งแร่ทองคำเขาสามสิบ จังหวัดสระแก้ว
แหล่งแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์
แหล่งแร่ทองคำดอยตุง จังหวัดเชียงราย
แหล่งแร่ทองคำเขาพนมพา จังหวัดพิจิตร
การร่อนและเลียงแร่ เพื่อค้นหาเกล็ดหรือเม็ดทองคำ
แหล่งแร่ทองคำแบบทุติยภูมิ หรือแหล่งแร่ทองคำแบบลานแร่
เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบ หรือจากแหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ ทองคำจะหลุดออกมาเป็นเม็ดกลม หรือเกล็ดเล็กๆ และพบในแหล่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ โดยสะสมตัวในที่เดิม หรือถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ ในบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย ในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำใหญ่ ชาวบ้านจะนำดินหรือตะกอนทางน้ำมาร่อน และเลียง คือ ไล่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากแร่ เพื่อค้นหาเกล็ดหรือเม็ดทองคำ แหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบทุติยภูมิ ในประเทศไทย ได้แก่
แหล่งแร่ทองคำบ้านป่าร่อน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
แหล่งแร่ทองคำบ้านนาล้อม จังหวัดปราจีนบุรี
แหล่งแร่ทองคำบ้านทุ่งฮั้ว จังหวัดลำปาง
แหล่งแร่ทองคำดอยตุง จังหวัดเชียงราย
แหล่งแร่ทองคำเขาพนมพา จังหวัดพิจิตร
แหล่งแร่ทองคำ เขาพนมพา จังหวัดพิจิตร
แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัด ยกเว้นพื้นที่ในส่วนที่เป็นที่ราบสูงโคราช และพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง พื้นที่ที่มีศักยภาพของแร่ทองคำสูงมีอยู่ ๒ บริเวณ บริเวณแรก คือ ขอบตะวันตกและตอนเหนือ ของที่ราบสูงโคราช ตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ หนองคาย ลงมาทางตอนบนของภาคกลาง และบางส่วนของภาคตะวันออก ในจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง อีกบริเวณคือ ทางภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และตาก ส่วนในพื้นที่อื่นๆ มักพบทองคำกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี