เล่มที่ 36
ทองคำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การใช้ประโยชน์จากทองคำ

ทองคำเป็นโลหะที่มีค่าสูง สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้หลากหลาย การใช้ประโยชน์จากทองคำในด้านหลักๆ มีดังนี้

๑. ด้านเครื่องประดับ

            ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเป็นการใช้ประโยชน์จากทองคำมากที่สุด มนุษย์ได้นำทองคำมาทำเป็นเครื่องประดับตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู กำไล ผู้ที่มีทองคำหรือเครื่องประดับทองคำไว้ในครอบครองแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่ง ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า จึงนำทองคำมาทำเป็นเครื่องประดับได้หลากหลายรูปแบบ สามารถซื้อ-ขาย และครอบครองได้ง่ายขึ้น


ทองคำนำมาใช้ประโยชน์ด้านเครื่องประดับมากที่สุด

๒. ทางด้านอวกาศ

            เนื่องจากทองคำมีความหนา ๐.๐๐๐๐๐๖ นิ้ว และมีสมบัติช่วยสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ทำลาย หรือลดประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ จึงมีการนำทองคำมาเป็นส่วนผสมของชุดนักบินอวกาศและแคปซูล เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับรังสีในอวกาศที่มีพลังงานสูง หรือนำไปเคลือบหมวกเหล็ก เกราะบังหน้า และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในอวกาศ 

๓. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และด้านการสื่อสารโทรคมนาคม

            เป็นการนำทองคำมาใช้เป็นส่วนประกอบในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สวิตช์ โดยการใช้ลวดทองคำขนาดจิ๋ว เชื่อมต่อกับวัสดุกึ่งตัวนำ ในหลอดสุญญากาศใช้ลวดทังสเตนและโมลิบดีนัมเคลือบทองคำ ส่วนประโยชน์ในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น เคลือบผิวเสาอากาศด้วยทองคำ และในเครื่องถ่ายเอกสาร มีส่วนประกอบที่ใช้อะลูมิเนียมเคลือบทองคำ

๔. ด้านทันตกรรม

            ทองคำไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการทำฟันปลอม อุดฟัน ครอบฟัน จัดฟันและดัดฟัน

๕. เป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินการคลัง

            ทองคำถูกเก็บสำรองไว้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพราะทองคำมีความมั่นคงในมูลค่า ไม่ผันผวนมาก

            นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในงานหัตถกรรม งานสถาปัตยกรรม และเป็นการลงทุนหรือสะสมทรัพย์สมบัติอย่างหนึ่ง

            ความบริสุทธิ์ของทองคำเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ซึ่งหากคิดเป็นกะรัต (karat) หรือไฟน์เนส (fineness) ทองคำบริสุทธิ์จะเท่ากับ ๒๔ กะรัต หรือ ๑,๐๐๐ ไฟน์เนส ดังนั้นทองคำ ๑๘ กะรัต หมายถึง โลหะที่มีทองคำ ๑๘ ส่วน อีก ๖ ส่วนนั้น เป็นโลหะชนิดอื่น เช่น เงิน ทองแดง นิกเกิล


ทองคำใช้เป็้นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ

หน่วยวัดความบริสุทธิ์และมาตราชั่งทองคำ มีดังนี้
  • ทองคำบริสุทธิ์  มีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง ร้อยละ ๙๙.๐๐ ขึ้นไป
  • ทองคำรูปพรรณ  มีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง ร้อยละ ๙๖.๕๐ ขึ้นไป
  • ทองคำ 24K  มีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง ร้อยละ ๙๙.๐๐ ขึ้นไป
  • ทองคำ 18K  มีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง ร้อยละ ๗๕.๐๐ ขึ้นไป
  • ทองคำแท่ง  ๑  บาท หนัก ๑๕.๒๔ กรัม
  • ทองคำรูปพรรณ ๑ บาท หนัก ๑๕.๑๖ กรัม
  • ทองคำรูปพรรณ ๑ สลึง  หนัก ๓.๗ กรัม
ทองคำ ๑ ออนซ์  หนัก ๓๑.๑๐ กรัม