แหล่งแร่ทองคำที่สำคัญของโลก
ประเทศที่มีการทำเหมืองผลิตแร่ทองคำ มีประมาณ ๘๒ ประเทศทั่วโลก โดยอัตราเฉลี่ยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ ปรากฏว่า ทั่วโลกผลิตทองคำได้ปีละประมาณ ๒,๕๐๐ เมตริกตัน ประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย รัสเซีย แคนาดา และเปรู ประเทศที่มีแหล่งแร่ทองคำมากที่สุดในโลก คือ แอฟริกาใต้ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และบราซิล
ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ สหรัฐอเมริกาได้ประเมินปริมาณสำรองแหล่งแร่ทองคำที่ยังคงเหลืออยู่ทั่วโลกมีประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ เมตริกตัน
ใน พ.ศ. ๒๕๕๐ ผลผลิตทองคำทั่วโลกลดต่ำลงเหลือประมาณ ๒,๓๔๐ เมตริกตัน โดยประเทศไทยผลิตทองคำได้เพียงประมาณ ๒.๔๐ เมตริกตัน ผลผลิตทองคำของแต่ละประเทศที่สำคัญ มีรายละเอียดดังนี้
๑. ประเทศจีน ผลิตทองคำได้ประมาณ ๒๗๕ เมตริกตัน
๒. ประเทศแอฟริกาใต้ ผลิตทองคำได้ประมาณ ๒๕๒ เมตริกตัน
๓. ประเทศออสเตรเลีย ผลิตทองคำได้ประมาณ ๒๔๖ เมตริกตัน
๔. สหรัฐอเมริกา ผลิตทองคำได้ประมาณ ๒๓๘ เมตริกตัน
๕. ประเทศปาปัวนิวกินี ผลิตทองคำได้ประมาณ ๑๗๐ เมตริกตัน
๖. ประเทศอินโดนีเซีย ผลิตทองคำได้ประมาณ ๑๑๗ เมตริกตัน
แหล่งแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดและมีประวัติการทำเหมืองแร่ที่ยาวนานที่สุดในโลกคือ แหล่งแร่ทองคำในพื้นที่แอ่งที่ราบวิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand Basin) ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบทุติยภูมิ หรือแหล่งแร่ทองคำแบบลานแร่ ที่มีหน่วยหินหลักคือ หินกรวดมน (conglomerates) โดยในพื้นที่แหล่งแร่ทองคำแห่งนี้ ได้มีการทำเหมืองแร่ทองคำมาแล้วกว่า ๑๐๐ ปี และได้ผลิตโลหะทองคำไปแล้วรวมประมาณ ๔๑,๐๐๐ เมตริกตัน
ออสเตรเลีย
เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ที่ก้าวหน้า และเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ทองคำเป็นสินค้าออก ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เป็นอันดับที่ ๒ รองจากแร่ถ่านหิน โดยใน พ.ศ. ๒๕๕๐ ประเทศออสเตรเลียสามารถผลิตทองคำได้ประมาณ ๒๔๖ เมตริกตัน เป็นอันดับที่ ๓ รองลงมาจากประเทศจีน และประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้น ส่วนปริมาณสำรองแหล่งแร่ทองคำมีประมาณร้อยละ ๑๐ ของปริมาณสำรองแหล่งแร่ทองคำของโลก หรือประมาณ ๑๐,๐๐๐ เมตริกตัน ซึ่งเป็นอันดับที่ ๓ รองจากประเทศแอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา
เป็นประเทศที่มีการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำมาเป็นเวลานาน ใน พ.ศ. ๒๕๕๐ สามารถผลิตทองคำได้ประมาณ ๒๓๘ เมตริกตัน เป็นอันดับ ๔ ของโลก และด้วยเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่ที่ทันสมัย ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศ ที่มีผลผลิตแร่ทองคำอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด ประกอบกับเนื้อที่ของประเทศที่มีขนาดกว้างใหญ่ และมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดแร่ทองคำ จึงมีโอกาสสูง ที่จะสำรวจพบแหล่งแร่ทองคำเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต สหรัฐอเมริกามีการทำเหมืองแร่ทองคำจากแหล่งกำเนิดแร่ทองคำทั้ง ๒ แบบ คือ แหล่งแร่ทองคำแบบทุติยภูมิหรือแบบลานแร่ โดยมีการทำเหมืองแร่ทองคำหลายพื้นที่ เช่น ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) รัฐอะแลสกา (Alaska) รัฐไอดาโฮ (Idaho) และรัฐออริกอน (Oregon) ส่วนแหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ ก็มีการทำเหมืองแร่ทองคำหลายพื้นที่เช่นกัน เช่น ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) รัฐโคโลราโด (Colorado) รัฐเนวาดา (Nevada) รัฐอะแลสกา (Alaska) และรัฐเซาท์ดาโกตา (South Dakota)
จีน
เป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในโลก มีหลายพื้นที่ที่ยังไม่มีการเข้าไปสำรวจ ซึ่งคาดว่า ยังมีแหล่งแร่ทองคำอีกมาก ในปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองแร่ทองคำมากที่สุดในโลก โดยใน พ.ศ. ๒๕๕๐ สามารถผลิตทองคำได้ถึงประมาณ ๒๗๕ เมตริกตัน พื้นที่แหล่งแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในมณฑลเสฉวน (Szechwan) กานซู (Gansu) มองโกเลียใน (Inner Mongolia) และหูหนาน (Hunan) นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ที่มณฑลฉ่านซี (Shaanxi) ซึ่งคาดว่า เป็นแหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งของโลก จากการประเมินในเบื้องต้นพบว่า มีปริมาณสำรองแหล่งแร่ทองคำประมาณ ๑๖ ล้านเมตริกตัน ที่ค่าความสมบูรณ์ของทองคำประมาณ ๕ กรัมต่อเมตริกตัน คาดว่า จะสามารถผลิตทองคำได้ประมาณ ๘๐ เมตริกตัน