สัตว์ไพรเมตรุ่นแรก
สัตว์ไพรเมต (Primates) มีกำเนิดขึ้นในตอนต้นของยุคเทอร์เชียรีเมื่อประมาณ ๖๖ ล้านปีมาแล้ว บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว บางชนิดยังพบอยู่จนถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่า สัตว์ไพรเมตมีกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริกาเป็นแห่งแรก ต่อมา จึงกระจายออกไปยังทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป เมื่อครั้งที่แผ่นดินของทวีปทั้งสาม ยังเชื่อมติดต่อกันเป็นผืนเดียว ทั้งนี้เป็นไปตามทฤษฎีว่าด้วยทวีปเลื่อน (Theory of Continental Drift) ซึ่งนักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ อัลเฟรด โลทาร์ เวเกเนอร์ (Alfred Lothar Wegener) เสนอไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ตามทฤษฎีนี้ เวเกเนอร์ให้ความเห็นว่า ในยุคเทอร์เชียรีจนถึงต้นยุคควอเทอร์นารี ทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชียยังอยู่ติดต่อกันอย่างใกล้ชิด โดยทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลแดง มีขนาดเล็กมากกว่าในปัจจุบันนี้
ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไพรเมตเก่าแก่ที่สุดที่พบ เรียกชื่อว่า อัลไทแอตลาซีอัส (Altiatlasius) ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดี อาดราร์ เอมกอร์น (Adrar Mgorn) ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ในประเทศโมร็อกโก กำหนดอายุได้ประมาณ ๕๕ ล้านปีมาแล้ว ในตอนนั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในลำดับต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น ม้า วาฬ โลมา หนู ต่อมา สัตว์ไพรเมต ได้แพร่กระจายไปยังที่ต่างๆ ดังที่ได้พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไพรเมต ทั้งในทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย
ซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบบ่งชี้ได้ว่า วิวัฒนาการสัตว์ไพรเมตเกิดขึ้นเป็นลำดับตามขั้นตอน กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการได้ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละอย่าง เริ่มจากระบบการมองเห็นแบบสามมิติก่อน หลังจากนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของสมอง และลักษณะทางร่างกายอื่นๆ ตามมา ไม่ใช่เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างพร้อมกันในครั้งเดียว