เล่มที่ 33
วิวัฒนาการของมนุษย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โฮมินอยด์สมัยไพลสโตซีน

            ไจแกนโทพิเทคัส (Gigantopithecus) จัดเป็นลิงไม่มีหางสมัยไพลสโตซีน ในยุคควอเทอร์นารี ค้นพบครั้งแรกโดยบังเอิญ ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยนักบรรพชีวินชาวเยอรมัน ชื่อ ราล์ฟ ฟอน เคอนิกสวาลด์ (Ralph von Koenigswald) ในร้านขายยาแผนโบราณแห่งหนึ่งในฮ่องกง เคอนิกสวาลด์สังเกตพบว่า ฟันกรามที่พบในร้านขายยาดังกล่าว มีขนาดใหญ่เทอะทะผิดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นฟันกราม ของสัตว์ตระกูลไพรเมตชนิดหนึ่ง จึงตั้งชื่อว่า ไจแกนโทพิเทคัส โดยกำหนดอายุประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ - ๑๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว

            ต่อมาในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ นักวิชาการชาวจีนได้ออกสำรวจ และขุดค้นตามถ้ำหลายแห่ง ในตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศจีน ได้พบฟันของไจแกนโทพิเทคัส มากกว่า ๑,๐๐๐ ซี่ และพบกระดูกขากรรไกรด้วย ที่สำคัญคือ พบอยู่ในบริเวณที่เชื่อได้ว่า เคยเป็นแหล่งอาศัยของไจแกนโทพิเทคัส โดยพบปะปนกับกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ชนิดอื่นๆ เช่น หมีแพนด้า โฮโมอีเรกตัส กระดูกขากรรไกรและฟันของ ไจแกนโทพิเทคัส ที่พบในประเทศจีนนี้ กำหนดอายุระหว่าง ๔๐๐,๐๐๐ - ๓๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับช่วง สมัยไพลสโตซีน

            ช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ นักวิชาการชาวอเมริกันอีกคนหนึ่งชื่อ รัสเซล ไซโอชอน (Russell Ciochon) ได้สำรวจพื้นที่ทางตอนเหนือ ของประเทศเวียดนาม พบตัวอย่างฟันกราม และขากรรไกรของไจแกนโทพิเทคัสที่ถ้ำแห่งหนึ่ง กำหนดอายุได้ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี ซึ่งใกล้เคียงกับอายุที่เคอนิกสวาลด์ ได้เคยเสนอไว้

            ลักษณะทางกายภาพของ ไจแกนโทพิเทคัส คือ ฟันกรามหรือฟันเคี้ยวมีขนาดใหญ่มาก ขากรรไกรใหญ่เทอะทะ ฟันเขี้ยวใหญ่ แต่ก็ไม่ใหญ่เท่าฟันอื่นๆ และมีเคลือบฟันหนา เหมือนคน ลักษณะบางอย่างเหมือนกับศิวะพิเทคัส แต่บางอย่างก็คล้ายคน แสดงว่า เป็นสายวิวัฒนาการอีกสายหนึ่ง

            การที่ ไจแกนโทพิเทคัส มีขากรรไกรใหญ่เทอะทะ แสดงว่า มีการปรับตัวให้เข้ากับการกิน หรือเคี้ยวอาหารที่ค่อนข้างแข็ง ฟันเขี้ยวก็สึก แสดงถึงความสัมพันธ์กับการเคี้ยวบด อาหารแข็ง