สายพันธุ์ของโฮโมรุ่นปัจจุบัน
สายพันธุ์ของโฮโมรุ่นปัจจุบัน เรียกชื่อว่า โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่า "มนุษย์ที่ฉลาด" (homo = มนุษย์ sapiens = ฉลาด) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของมนุษย์ที่ปัจจุบันพบในทุกพื้นที่ของโลก ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวทางวัฒนธรรมได้ดีที่สุด และได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมต่างๆ มากที่สุดด้วย
กำเนิดของ โฮโมเซเปียนส์ หรือคำถามที่ว่า โฮโมเซเปียนส์ มาจากที่ใด ยังเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่ โดยมีอยู่ ๒ ทฤษฎี คือ ทฤษฎีความต่อเนื่อง (Continuity Theory) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมเดลพหุภูมิภาค (Multiregional Model) และทฤษฎีการเข้ามาแทนที่ (Replacement Theory) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมเดลอพยพออกจากแอฟริกา (Out of Africa Model)
โมเดลทฤษฎีการเข้ามาแทนที่
ฝ่ายที่เชื่อในทฤษฎีความต่อเนื่อง หรือโมเดลพหุภูมิภาค ให้ความเห็นว่า โฮโมเซเปียนส์ มีวิวัฒนาการมาจากโฮมินิดส์รุ่นเก่าที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ มาก่อน โดยวิวัฒนาการนั้น เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก นักวิชาการฝ่ายนี้เชื่อว่า โฮโมอีเรกตัส บางกลุ่มเดินทางออกจากทวีปแอฟริกาผ่านไปยังดินแดนต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป โฮโมอีเรกตัส กลุ่มนี้ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีลักษณะทางชีววิทยาและวัฒนธรรม แตกต่างกันออกไป เนื่องจากมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ หรือมีปัจจัย ที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการ เช่น การเลือกสรรโดยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม และการถ่ายโอนยีนโดยผ่านการผสมพันธุ์กัน เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง กลุ่มต่างๆ เหล่านั้น จึงมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านชีววิทยา และด้านวัฒนธรรม อันเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตามโมเดลพหุภูมิภาค เชื่อกันว่า บรรพบุรุษของชาวยุโรปปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาจากกลุ่มโฮโมรุ่นแรก และรุ่นหลัง เช่น โฮโมไฮเดลเบอร์เกนซิส โฮโมนีแอนเดอร์ธาลเอนซิส ส่วนบรรพบุรุษของชาวแอฟริกันปัจจุบันมีวิวัฒนาการมาจากโฮโมรุ่นแรก เช่น โฮโมโรดีเซียนซิส ในขณะที่โฮโมเซเปียนส์ ในทวีปเอเชียมีวิวัฒนาการมาจากโฮโมอีเรกตัส ทฤษฎีนี้ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงจากบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิก มาเป็นรุ่นสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในพื้นที่แห่งเดียวก่อน แล้วจึงแพร่ขยายวงออกมา หากแต่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และวิวัฒนาการในแต่ละพื้นที่เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยยกตัวอย่างว่า ในปัจจุบันมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก มีความแตกต่างหลากหลาย อย่างชัดเจน แต่มนุษย์ปัจจุบันทุกแห่งทั่วโลก ล้วนแต่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน คือ สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์
โมเดลทฤษฎีความต่อเนื่อง
ส่วนฝ่ายที่เชื่อในทฤษฎีการเข้ามาแทนที่ หรือ โมเดลอพยพออกจากแอฟริกา ก็เชื่อว่า โฮโมเซเปียนส์ มีวิวัฒนาการเริ่มต้นมาจากทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ - ๑๕๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมา จึงแพร่กระจายออกจากทวีปแอฟริกา เข้าไปแทนที่ หรือขับไล่ หรือต่อสู้แข่งขันจนชนะกลุ่มโฮมินิดส์รุ่นบุกเบิกที่อยู่มาก่อนในพื้นที่ต่างๆ ของโลก นักวิชาการฝ่ายนี้เชื่อว่า การเข้ามาแทนที่ของโฮโมเซเปียนส์ เนื่องจากมนุษย์กลุ่มนี้มีการปรับตัว และมีความสามารถทางวัฒนธรรม ที่ก้าวหน้ามากกว่ากลุ่มโฮมินิดส์รุ่นบุกเบิก ซึ่งหายสาบสูญไป เมื่อถูกกลุ่มโฮโมเซเปียนส์เข้ามาแทนที่ นักวิชาการกลุ่มนี้ ใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์ ที่พบว่า มนุษย์ทุกกลุ่มบนโลกในปัจจุบันเคยมีบรรพบุรุษคนเดียวกันที่พบในแอฟริกา เมื่อประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ หลักฐานชิ้นสำคัญล่าสุด ที่นักวิชาการฝ่ายนี้ นำมาอ้างก็คือ การค้นพบกะโหลกของโฮโมเซเปียนส์ อายุประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่แหล่งเฮอร์โต (Herto) ในประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งนักวิชาการที่ค้นพบได้ตั้งชื่อว่า โฮโมเซเปียนส์ไอดาลตู (Homo sapiens idaltu) แปลว่า "มนุษย์ผู้ฉลาดรุ่นเก่าแก่"
ตัวอย่างซากกะโหลกของโฮโมเซเปียนส์ ที่พบในประเทศเอธิโอเปีย จัดเป็นโฮโมเซเปียนส์ ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน
ซากโครงกระดูกของ โฮโมเซเปียนส์ พบที่ถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่
จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์และหลักฐานโบราณคดี พบว่า โฮโมเซเปียนส์ได้แพร่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ปรากฏในทวีปแอฟริกา เมื่อประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมา ได้พบในตะวันออกกลาง ในช่วงเวลาประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ปรากฏขึ้นในทวีปยุโรปเมื่อประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี มาแล้ว พบในเอเชียตะวันออกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ - ๖๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว แพร่กระจายไปยังทวีปออสเตรเลีย เมื่อราว ๖๐,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา และเดินทางเข้าไปในดินแดนโลกใหม่ หรือทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้เมื่อราว ๑๕,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนในประเทศไทย พบหลักฐานเกี่ยวกับโฮโมเซเปียนส์ที่เก่าแก่ที่สุด เป็นเครื่องมือหิน และโครงกระดูก ที่เพิงผาหลังโรงเรียน และถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ กำหนดอายุได้ประมาณ ๔๐,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว และที่ถ้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำหนดอายุได้ประมาณ ๑๒,๐๐๐ - ๑๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์และหลักฐานโบราณคดีที่พบจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ ของโลกบ่งชี้ว่า โฮโมเซเปียนส์ เป็นมนุษย์ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างมากมายและก้าวหน้ากว่า โฮโม สายพันธุ์อื่นๆ ดังในช่วงเวลาประมาณ ๕๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งได้พบหลักฐานหลายอย่างที่แสดงถึงการประดิษฐ์ หรือการสร้างสรรค์งานฝีมือของมนุษย์ เช่น มีเทคโนโลยีใหม่ ในการทำเครื่องมือหิน และเครื่องมือที่ทำจากกระดูกสัตว์หรือเปลือกหอย ตลอดจนงานศิลปะ ที่เป็นภาพวาด ตามผนังถ้ำ และเมื่อประมาณ ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้พบว่า โฮโมเซเปียนส์รู้จักทำการเกษตรกรรม มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาเมื่อราว ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว ก็มีชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นเมือง หรือเป็นรัฐ จนกระทั่งมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเมื่อ ๒๕๐ ปีที่ผ่านมา และเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ก็มีการสำรวจและใช้ประโยชน์ จากอวกาศ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก