เล่มที่ 33
วิวัฒนาการของมนุษย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนกลาง

            มีหลายสกุล ได้แก่

เคนยาพิเทคัส (Kenyapithecus)

            ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรกในแหล่งโบราณคดีชื่อ ฟอร์ต เทอร์แนน (Fort Ternan) ในประเทศเคนยา โดย หลุยส์ ลีกกี (Louise Leakey) เมื่อทศวรรษ  ๒๕๐๐ ต่อมา ก็ได้พบซากดึกดำบรรพ์โฮมินอยด์สกุลนี้อีกในบริเวณอื่นๆ ของประเทศเคนยา อายุของเคนยาพิเทคัส อยู่ระหว่าง ๑๖ - ๑๔ ล้านปีมาแล้ว


ภาพเขียนชิ้นส่วนกรามบนของเคนยาพิเทคัส

            ลักษณะทั่วไปของ เคนยาพิเทคัส คล้ายกับอะโฟรพิเทคัส แต่ก็มีความแตกต่างกันบ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการอีกช่วงหนึ่ง ของโฮมินอยด์ เช่น ฟันเขี้ยวมีขนาดเล็กกว่าฟันของลิงไม่มีหางรุ่นก่อน ขากรรไกรล่างมีรูปร่างที่ค่อนข้างพัฒนา โดยยื่นไปข้างหลังมากขึ้น แก้มกว้าง ลึก และค่อนข้างยื่นมาข้างหน้า ซึ่งเป็นลักษณะที่พบ ในโฮมินิดส์รุ่นต่อมา

            เคนยาพิเทคัสมีน้ำหนักตัวประมาณ ๒๕ - ๓๐ กิโลกรัม แขนยาวเกือบเท่ากับขา คล้ายชะนี แสดงว่า มีการเคลื่อนย้ายทั้งบนต้นไม้ และบนพื้นดิน จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ ของสัตว์ชนิดอื่นที่พบ ชี้ให้เห็นว่า เคนยาพิเทคัส อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อม แบบป่าเบญจพรรณ ที่มีอากาศค่อนข้างแห้ง

เทอร์แคนาพิเทคัส (Turkanapithecus)

            เป็นลิงไม่มีหางสมัยไมโอซีนตอนปลายอีกสกุลหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง ๑๘ - ๑๖ ล้านปีมาแล้ว ค้นพบหลักฐานในประเทศเคนยา เป็นกะโหลกที่เกือบสมบูรณ์ ขากรรไกรล่าง และชิ้นส่วนกระดูกใต้คอลงมา เช่น กระดูกต้นขา

            เทอร์แคนาพิเทคัส มีลักษณะเด่น คือ มีรูปร่างขนาดเล็กมาก ใกล้เคียงกับ โพรคอนซุล มีเบ้าตาเล็ก บริเวณจมูกกว้าง ฟันเขี้ยวค่อนข้างใหญ่ เคลือบฟันบาง เพดานปากตื้น และไม่มีสันกะโหลก

ไดรโอพิเทคัส (Dryopithecus)

            เป็นลิงไม่มีหางสมัยไมโอซีนตอนกลางที่พบในทวีปยุโรป มีชีวิตอยู่ระหว่าง ๑๔  - ๑๐ ล้านปีมาแล้ว ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ ไดรโอพิเทคัส ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ที่บริเวณใกล้หมู่บ้านแซงต์โกดอง (Saint Gaudens) ในประเทศฝรั่งเศส ซากที่พบ เป็นชิ้นส่วนขากรรไกรล่าง ซึ่งมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับของชิมแปนซีปัจจุบัน ต่อมา ก็มีผู้ค้นพบ ไดรโอพิเทคัส มากขึ้นในทวีปยุโรป เช่น ในประเทศสเปน ฮังการี กรีซ ซากดึกดำบรรพ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นขากรรไกรล่างและฟัน รวมทั้งได้พบชิ้นส่วนกระดูกปลายแขน ๑ ชิ้น ในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศฮังการี มีลักษณะบางส่วน คล้ายกับของอุรังอุตัง ส่วนซากที่พบที่ประเทศกรีซมีหน้าคล้ายกอริลลา ดังนั้น อาจแสดงว่า ไดรโอพิเทคัสมีหลายสายพันธุ์

            ไดรโอพิเทคัส อาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่ารกและป่าโปร่ง ชอบเดินแบบสี่เท้า มีฟันเขี้ยวใหญ่ สารเคลือบฟันบาง ปุ่มฟันกลมและตื้น แสดงว่า กินผลไม้เป็นหลัก มีฟันหน้าเล็ก แขนและนิ้วค่อนข้างยาว ลักษณะเหล่านี้คล้ายกับของลิงไม่มีหางในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ไดรโอพิเทคัสมีความสัมพันธ์ทางชีววิทยา ใกล้เคียงกับลิงไม่มีหางมากกว่าโฮมินอยด์ สมัยไมโอซีนตอนต้น ไดรโอพิเทคัส สูญพันธุ์ไปจากยุโรป เมื่อราว ๑๐ ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเย็นลง และป่าไม้ลดลง