โฮโม : บรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นใหม่
ข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ของบรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นแรกๆ ที่นำเสนอมาข้างต้น แม้ว่าจะมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่มีการค้นพบ ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๖ แต่ก็ยังไม่ให้ภาพที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ ภาพที่พอมองเห็นขณะนี้ก็คือ วิวัฒนาการของมนุษย์เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ และเป็นชุด โดยเกิดขึ้นในลักษณะค่อนข้างก้าวกระโดด (abrupt) สลับกับช่วงเวลา ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และชีววิทยา หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก อย่างไรก็ตามจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การปรับตัว เพื่อเดินบนสองเท้า ซึ่งอาจนำไปสู่วิวัฒนาการอย่างอื่นๆ ดังเช่นที่พบในบรรพบุรุษของมนุษย์ ในสกุลโฮโม
ภาพเขียนจำลองมนุษย์ โฮโม ลักษณะเดินตัวตรง และมีร่างกายที่ได้สัดส่วนเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน
จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี และกระดูกสัตว์ที่มีรอยตัดจากการใช้เครื่องมือหินที่ประเทศเอธิโอเปีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ และการค้นพบเครื่องมือหินอายุประมาณ ๒.๖ - ๒.๕ ล้านปี ที่แหล่งโกนา (Gona) ในเอธิโอเปียเช่นกัน ทำให้นักโบราณมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่า ออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี น่าจะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์สกุลโฮโม ซึ่งรู้จักใช้เครื่องมือหิน นอกจากนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หรือช่วงเวลาหลังจากการปรากฏ ของออสตราโลพิเทคัสการ์ฮีเล็กน้อย เราได้พบซากดึกดำบรรพ์ ของบรรพบุรุษของมนุษย์ สกุลโฮโม ๔ สายพันธุ์ คือ โฮโมแฮบิลิส (Homo habilis) โฮโมรูดอล์ฟเฟนซิส (Homo rudolfensis) โฮโมเออร์แกสเตอร์ (Homo ergaster) และโฮโมอีเรกตัส (Homo erectus) ซึ่งจัดเป็นสายพันธุ์ของโฮโมรุ่นแรก