สายพันธุ์ของโฮโมรุ่นแรก
ก. โฮโมแฮบิลิส (Homo habilis)
ซึ่งแปลว่า "มนุษย์ผู้สามารถในการใช้มือ" พบครั้งแรกโดย แมรี และหลุยส์ ลีกกี ในทศวรรษ ๒๕๐๐ จากการขุดค้นที่โอลดูไว กอร์จ (Olduvai Gorge) ในประเทศแทนซาเนีย ต่อมาก็มีการค้นพบที่อื่นๆ อีก เช่น ที่แหล่งกูบี โฟรา (Koobi Fora) ในประเทศเคนยา และที่สเติร์กฟอนทีน (Sterkfontein) ในประเทศแอฟริกาใต้ ซากที่พบส่วนมากเป็นกะโหลก มีความจุสมองระหว่าง ๕๑๐ - ๖๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๖๓๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร) หรือประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดสมองของมนุษย์ปัจจุบัน และมีใบหน้าใหญ่ ฟันยังมีขนาดใหญ่พอสมควร นอกจากนี้พฤติกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญคือ มีการใช้เครื่องมือหิน จากการขุดค้นได้พบเครื่องมือหินกะเทาะอย่างหยาบ เป็นเครื่องมือสับตัด เรียกกันว่า เครื่องมือหินแบบโอลโดวาน (Oldowan) ตามชื่อแหล่งที่พบครั้งแรก โฮโมแฮบิลิส มีชีวิตอยู่ในช่วง ๒ - ๑.๘ ล้านปีมาแล้ว
เครื่องมือหินแบบโอลโดวานประเภทต่างๆ
ข. โฮโมรูดอล์ฟเฟนซิส (Homo rudolfensis)
เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่จัดให้เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์สกุลโฮโม แต่เดิมเชื่อกันว่า น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับ โฮโมแฮบิลิส เนื่องจากลักษณะทั่วไปคล้ายกัน แต่ต่อมาเมื่อมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมก็พบว่าเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีขนาดรูปร่างใหญ่กว่าโฮโมแฮบิลิส ความจุสมองเฉลี่ย ๗๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร หลักฐานส่วนมากพบในประเทศเคนยา และมาลาวี กำหนดอายุได้ประมาณ ๑.๙ - ๑.๗ ล้านปีมาแล้ว ซึ่งร่วมสมัยกับโฮโมแฮบิลิส ลักษณะเด่นอีกอย่างคือ หน้าค่อนข้างแบน แต่ก็สัมพันธ์กับฟันที่มีขนาดใหญ่ และกว้าง คล้ายฟันของออสตราโลพิเทคัส
ลักษณะโดยรวมของ โฮโมรูดอล์ฟเฟนซิส ค่อนข้างดั้งเดิมมากกว่า โฮโมแฮบิลิส ดังนั้น นักวิชาการจึงเชื่อกันว่า น่าจะสูญพันธุ์ไป ในขณะที่ โฮโมแฮบิลิส พัฒนาไปสู่สายพันธุ์ใหม่
ค. โฮโมเออร์แกสเตอร์ (Homo ergaster)
เป็นโฮโมอีกสายพันธุ์หนึ่ง ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาประมาณ ๑.๘ - ๑.๕ ล้านปีมาแล้ว มีรูปร่าง และส่วนสัด คล้ายมนุษย์มากขึ้น เช่น ทรวงอกแคบและยาวเรียว (เรียกกันว่า ทรงถังเบียร์) กระดูกเชิงกรานหดแคบลง ลำตัวสูงประมาณ ๑.๖ เมตร แขนสั้นกว่าขา และโพรงจมูกคล้ายกับของมนุษย์ปัจจุบันมาก นอกจากนี้ยังมีความจุสมองมากขึ้น เฉลี่ยประมาณ ๘๗๕ ลูกบาศก์เซนติเมตร (มากกว่ากลุ่ม โฮโมรุ่นแรก แต่ก็ยังมีน้อยกว่ามนุษย์ปัจจุบันถึงประมาณ ๔๕๐ - ๕๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร) ซากดึกดำบรรพ์ของ โฮโมเออร์แกสเตอร์ ค้นพบที่ประเทศเคนยา ในแอฟริกาตะวันออก และที่แหล่งสวาร์ตครานส์ (Swartkrans) ในแอฟริกาใต้
ง. โฮโมอีเรกตัส (Homo erectus)
ซึ่งแปลว่า "มนุษย์ที่ยืนตัวตรง" ปรากฏขึ้นในช่วงหลังต่อจาก โฮโมเออร์แกสเตอร์ เมื่อราว ๑.๔ ล้านปีถึงเมื่อประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพบทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป โดยพบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ และต่อมาพบในประเทศจีน ในช่วงทศวรรษ ๒๔๖๐ จากนั้นจึงค้นพบกระจายเกือบทั่วทวีปแอฟริกา ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในทวีปยุโรปพบในยุโรปใต้และยุโรปตะวันตก ส่วนใหญ่พบเป็นเครื่องมือหินมากกว่าซากกระดูก ลักษณะทางร่างกายที่สำคัญคือ ความจุสมองใหญ่ขึ้นเฉลี่ย ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือประมาณ ๓ ใน ๔ ของสมองมนุษย์ปัจจุบัน กะโหลกหนากว่าของโฮโมเออร์แกสเตอร์ มีสันคิ้วโปนอย่างเด่นชัด และที่สำคัญคือ โฮโมสายพันธุ์นี้ รู้จักทำเครื่องมือหิน ที่มีการประดิษฐ์อย่างประณีตกว่าเครื่องมือหินแบบโอลโดวาน ส่วนมาก เป็นขวานมือรูปหยดน้ำ กะเทาะสองหน้า วัฒนธรรมเครื่องมือหินเหล่านี้เรียกว่า เครื่องมือหินแบบอะชูเลียน (Acheulian Tool) ตามแหล่งที่พบครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ โฮโมอีเรกตัสดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และเก็บอาหารป่า พฤติกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโฮโมอีเรกตัส คือ การรู้จักใช้ไฟ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ภาพเขียนตัวอย่างเครื่องมือหินแบบอะชูเลียน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องมือหินแบบอะชูเลียนส่วนใหญ่พบในแอฟริกา เอเชียตะวันตก และยุโรป แต่ไม่พบในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครื่องมือหินที่มักพบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์โฮโมอีเรกตัส ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเครื่องมือสับตัด กะเทาะอย่างง่ายๆ จากหินกรวดแม่น้ำ นักวิชาการอธิบายความแตกต่างในรูปแบบของเครื่องมือนี้ว่า เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่วนมากเป็นป่าร้อนชื้น มีพืชที่สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือได้สารพัด รูปแบบ และหน้าที่ คือ ต้นไผ่ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำเครื่องมือหินที่ประณีต เพื่อใช้ในการล่าสัตว์เหมือนอย่างในยุโรป และแอฟริกา อีกทั้งเครื่องมือหินที่พบ ก็เป็นเครื่องสับตัด หรือเป็นเครื่องมือ เพื่อใช้ทำเครื่องมืออื่นๆ ที่เป็นไม้