เล่มที่ 32
ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความหมาย และที่มา

            ตาลปัตร หรือในบางแห่งใช้ว่า ตาลิ-ปัตร มาจากคำว่า ตาลซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ประเภทปาล์ม ชนิดหนึ่ง มีใบใหญ่ รวมกับคำว่า ปัตร แปลว่า ใบ ตาลปัตร จึงมีความหมายว่า ใบตาลแม้ต่อมาภายหลังจะมีการใช้ใบของต้นลาน ซึ่งเป็นไม้ประเภทปาล์มเช่นเดียวกับต้นตาล ก็ยังคงเรียกว่าตาลปัตรเช่นเดิม

            ใบตาลนี้ ชาวบ้านสมัยก่อนพุทธกาลในอินเดียและลังกา นำมาตัดแต่งเป็นพัดโดยใช้เส้นหวายจัก หรือตอกไม้ไผ่ ประกอบเข้าเป็นกรอบ เย็บติดกับขอบใบ เพื่อกันใบแตก หรือฉีก ใช้พัดโบกลมหรือบังแดดต่อมาพระสงฆ์ได้นำพัดใบตาลที่ชาวบ้านใช้นี้ ไปในเวลาแสดงธรรมด้วย

            พัดที่พระสงฆ์ใช้ แรกเริ่มคงจะใช้เป็นประจำเหมือนเป็นบริขาร (เครื่องใช้ของพระ) อย่างหนึ่งเมื่อชาวบ้านเห็นพระใช้ประจำก็คิดทำถวายเพื่อหวังบุญกุศล แต่ด้วยพัดใบตาลนั้น ฉีกขาดง่ายเป็นของไม่คงทนจึงคิดหาวัสดุอื่นที่คงทนถาวรกว่าและที่เห็นว่าดีว่างาม เช่น ไม้ไผ่สาน งาสาน ผ้าไหม ผ้าแพร สุดแต่กำลังศรัทธาของตน นำมาประดิษฐ์ตกแต่งให้วิจิตรงดงาม ถวายแด่พระสงฆ์ที่ตนเคารพนับถือ พัดใบตาลเดิมจึงเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ทำถวายพระบ้างซึ่งในชั้นเดิม คงจะพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงคุ้นเคย และเลื่อมใสเป็นส่วนพระองค์ก่อน ต่อมาจึงพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ (ตำแหน่งยศที่ได้รับพระราชทาน) ทำให้เกิดการถวายตาลปัตรที่งดงามตามสมณศักดิ์ขึ้น กลายเป็นเครื่องยศประกอบสมณศักดิ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า พัดยศ


พัดรองที่ระลึกงามเฉลิมพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร พ.ศ. ๒๔๓๕
ด้านหนึ่งปักตรารูปอาร์ม อีกด้านหนึ่งปักอักษรข้อความชื่องาน

            ในปัจจุบัน ตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้ และเราพบเห็นเป็นปกตินั้น คือ ตัวพัดมีลักษณะเป็นวงกรอบคล้ายรูปไข่เรียกว่า พัดหน้านาง ด้านบนมน และกว้างกว่าด้านล่างเล็กน้อย พื้นพัดมักทำด้วยผ้าชนิดต่างๆ อาจปักตกแต่งให้สวยงาม ที่ตรงกลางกรอบพัดด้านล่างมีด้าม ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร   ตาลปัตรชนิดนี้ ปัจจุบัน ยังเรียกอีกอย่างว่า พัดรอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพัดขึ้นด้วยโครงไม้ไผ่ ใช้ผ้าแพรอย่างดีหุ้มทั้ง ๒ ด้าน ขลิบด้วยผ้าโหมด (ผ้าชนิดหนึ่งใช้กระดาษเงินกระดาษทองพันเส้นไหมทอกับไหมสี) พระราชทานพระสงฆ์ใช้แทนพัดใบตาลที่มีลักษณะงองุ้ม และให้เรียกว่า พัดรอง ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยที่นิยมสร้างพัดรองกันมากที่สุด โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีต่างๆ ปัจจุบัน มักทำพัดรองถวายพระสงฆ์เป็นที่ระลึกการจัดงาน ทั้งงานที่เป็นมงคลต่างๆ และงานศพ พื้นพัดจึงมักปักตกแต่งเป็นรูปสัญลักษณ์ของงาน หรือปักอักษรข้อความที่เกี่ยวกับงานนั้นๆ