เล่มที่ 32
ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พัดยศและสมณศักดิ์

            ในส่วนของพัดยศนั้น กล่าวได้เช่นกันว่า มีพัฒนาการจากพัดใบตาลอย่างเดียวกับตาลปัตร แต่พัดยศมีความวิจิตรงดงามและมีลักษณะแตกต่างจากตาลปัตรธรรมดาทั่วๆ ไป เนื่องจาก เป็นพัดที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อพระราชทานแก่พระสงฆ์ ที่ทรงเลื่อมใสศรัทธา ต่อมา จึงกลายเป็นพัดที่พระราชทานแก่พระสงฆ์ ที่ทรงแต่งตั้ง ให้มีสมณศักดิ์ เพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ ร่วมกับเครื่องประกอบอื่นๆ ตามแต่ลำดับชั้นสมณศักดิ์ ดังนั้น พัดยศและสมณศักดิ์ของพระสงฆ์จึงมีความสัมพันธ์กัน และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระเจ้าแผ่นดิน ในการบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ยั่งยืนอย่างหนึ่ง

ธรรมเนียมการสถาปนาสมณศักดิ์

            ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ที่มีความรู้แตกฉาน ในพระไตรปิฎก มีศีลาจริยวัตรงดงาม ให้มีสมณศักดิ์โดยมีราชทินนาม และพระราชทานพัดยศนั้น เป็นธรรมเนียมที่มีมาช้านานในลังกาซึ่งไทยรับแบบอย่างมา ดังมีหลักฐานปรากฏในหนังสือ จารึกกัลยาณี ซึ่งหอพระสมุดจัดพิมพ์ทั้งอรรถและคำแปล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ความว่า

            "พระเจ้าหงษาวดีรามาธิบดี (ธรรมเจดีย์ปิฎกธร) ซึ่งเสวยราชย์ร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประสงค์จะฟื้นพระศาสนา ในรามัญประเทศ แต่งทูตพาพระเถระมอญ ๒๒ รูป ไปยังสิงหฬทวีป ให้ไปบวชแปลงเป็นนิกายลังกาวงศ์ เมื่อบวชแปลงเสร็จแล้ว พระเจ้าภูวเนกพาหุ ซึ่งครองกรุงสิงหฬ อยู่ ณ เมืองโคลัมโบเป็นราชธานี ทรงตั้งพระเถระมอญเหล่านั้น ให้มีราชทินนามต่างๆ จะยกพอเป็นตัวอย่างเช่น ตั้งพระโมคคัลลานะเถระ เป็นที่พระศิริสังฆโพธิสามิ และพระราชทาน 'ของควรแก่สมณ' หลายอย่าง อย่างหนึ่ง ในคำแปลว่า 'ตาลปัตรมีด้ามอันแล้วด้วยงา อันนายช่างกลึงผู้ฉลาดกลึงเป็นอันดีแล้วองค์ละอันหนึ่ง' ตาลปัตรลังกาอย่างที่ว่านี้ เป็นของโบราณมีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพ เป็นพัดพื้นแพรรูปคล้ายพัดรองไทย ด้ามงากลึงสั้นกว่าแต่ใหญ่เท่าด้ามพัดรองไทย"

สถาบันพระมหากษัตริย์กับการสถาปนาสมณศักดิ์

            สมณศักดิ์ คือ ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานและมีราชทินนาม มีหลายชั้น แต่ละชั้น มีพัดยศประกอบ การสถาปนาพระสงฆ์รูปใดให้มีสมณศักดิ์ และให้มีตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์เป็นธรรมเนียม ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สุโขทัย จวบจนปัจจุบัน สมณศักดิ์ของพระหากเทียบกับฝ่ายข้าราชการก็คือยศและบรรดาศักดิ์ นั่นเอง

            ในสมัยสุโขทัยซึ่งพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เริ่มได้รับความเลื่อมใสอย่างมาก มีคณะสงฆ์เดินทางไปบวชแปลงที่ลังกาจำนวนหนึ่ง และมีพระนัดดาองค์หนึ่ง ของพ่อขุนผาเมืองได้ไปบวชแปลงที่ลังกา และมีราชทินนามที่ได้รับพระราชทาน จากกษัตริย์ลังกาด้วย คือ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฑามณี ศรีรัตน-ลังกาทวีป มหาสามีเป็นเจ้า จากหลักฐานในจารึกหลักต่างๆ จะพบว่า พระสงฆ์ในสมัยสุโขทัยตอนต้น และในแถบล้านนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้เริ่มแผ่ขยายเข้ามายังดินแดนประเทศไทย พระสงฆ์ที่ได้ทรงแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์ ในราชทินนามจะมีคำว่า มหาเถระ มหาสามี มหาสวามี พระมหาสวามีสังฆราช ตัวอย่างของพระเถระลังกา เช่น ในจารึกหลักที่ ๔๕ ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๔๒) มีพระเถระผู้ใหญ่ ที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ ๒ คณะ คือ สมเด็จพระมหาเถรสังฆราชรัตนวงศาจารย์ เป็นเจ้าคณะใหญ่ของพระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี (คือ คณะสงฆ์ที่อยู่ในตัวเมืองและรอบๆ เมืองหลวง) และพระมหาเถรสุเมธังกร พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี (คือ คณะสงฆ์ที่อยู่นอกเมืองและเป็นพระนักปฏิบัติ) ส่วนจารึกหลักที่ ๙ ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พ.ศ. ๑๙๔๒ - ๑๙๖๒) ก็กล่าวถึงพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีราชทินนามว่า พระสังฆราชญาณรุจีมหาเถระ หัวหน้าคณะฝ่ายคามวาสี และพระบรมครูติโลกดิลก ติรัตนศีลคันธวนวาสี ธรรมทิตติสังฆราชมหาสวามีเจ้า

            หนังสือ ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัยว่า "เมื่อพระนครสุโขทัยเป็นราชธานี เห็นจะมีพระสังฆราชกว่าองค์เดียว ด้วยวิธีปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานีที่เป็นเมืองใหญ่ ก็ตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ออกไปปกครอง อย่างทำนองเจ้าประเทศราชเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง น่าจะมีพระสังฆราชองค์หนึ่ง ไปเป็นสังฆปริณายกของสังฆบริษัท ตลอดเขตเมืองนั้น" ในสมัยสุโขทัยนี้ตำแหน่งพระสังฆราช (ปัจจุบันนี้ หมายถึง สมณศักดิ์สูงสุดของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา และมีเพียงองค์เดียว) จึงเป็นเพียงตำแหน่งปกครองสงฆ์ เฉพาะเขตเมืองใหญ่ที่สำคัญๆ แต่ละเมืองที่ "พ่อขุน" จะสถาปนาพระเถระผู้ใหญ่ ให้ไปปกครองดูแล

            ในสมัยอยุธยา เมื่อมีการแบ่งคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสีออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายใต้ และฝ่ายเหนือ และมีการเปลี่ยนราชทินนามของพระสงฆ์ ที่ทรงแต่งตั้ง ให้ดูแลคณะสงฆ์คามวาสีฝ่ายใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่ว่า "พระวันรัตน์" หรือ "พระพนรัตน์" (ปัจจุบันนี้ใช้ว่า สมเด็จพระวันรัต) ส่วนพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้ง ให้ดูแลคณะสงฆ์คามวาสีฝ่ายเหนือ หรือเจ้าคณะใหญ่มีราชทินนามว่า "พระพุทธโฆษาจารย์" และพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์ ฝ่ายอรัญวาสี ให้มีราชทินนามว่า "พระพุทธาจารย์" (ปัจจุบันใช้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์) และทรงสถาปนาพระสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งเลื่อนจากเจ้าคณะใหญ่รูปใดรูปหนึ่งเป็น "สมเด็จพระสังฆราช" โดยเป็นสมณศักดิ์ และประมุขสูงสุดดูแลปกครองพระสงฆ์ ทั่วราชอาณาจักรเพียงองค์เดียว

            ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ยังคงมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุดฝ่ายสงฆ์ และมีพระสงฆ์ที่ทรงสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ชั้นรองๆ ลงไปบางรูปให้มีตำแหน่ง ในการปกครองสงฆ์ด้วย โดยพระราชอำนาจในการสถาปนาสมณศักดิ์นี้ เป็นของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพิจารณาแต่งตั้ง ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ทำให้มีองค์กรสงฆ์ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่การแต่งตั้งสมณศักดิ์ ยังคงเป็นไปตามพระราชอำนาจ ต่อมาในสมัยหลังประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐ วิธีปฏิบัติในเรื่องการพิจารณาพระสงฆ์รูปใด เพื่อทรงแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของฝ่ายคณะสงฆ์ ที่จะพิจารณา แล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และพระราชทานสมณศักดิ์ อย่างไรก็ดี สมณศักดิ์ที่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งได้รับ ก็ยังคงเป็นการรับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ โดยจะพระราชทานสมณศักดิ์ และพัดยศ ในการพระราชพิธีสำคัญๆ ประจำปี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา การพระราชทานพัดยศในการตั้งเปรียญธรรมก่อนวันวิสาขบูชาหนึ่งวัน หรือในการพระราชพิธีในโอกาสพิเศษ เช่น ในการพระราชพิธีกาญจนาภิเษก แต่มีสมณศักดิ์บางลำดับชั้น ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง หรือพระราชาคณะแต่งตั้งด้วย

ลำดับสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยปัจจุบัน

ลำดับสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา มีการจัดลำดับและชื่อตำแหน่งสมณศักดิ์ไว้ดังนี้

            ๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

            ๒. สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ ชั้นสุพรรณบัฏ มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๘ รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย ๔ รูป และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๔ รูป ราชทินนาม ของสมเด็จพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สมเด็จพระมหามุนี สมเด็จพระมหาธีราจารย์

            ๓. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๒๐ รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย ๑๓ รูป และธรรมยุติกนิกาย ๗ รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระศาสนโสภณ พระญาณวโรดม พระพรหมมุนี พระสุธรรมาธิบดี

            ๔. พระราชาคณะชั้นธรรม มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๔๕ รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย ๓๐ รูป และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๑๕ รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระธรรมโสภณ พระธรรมโกศาจารย์ พระธรรมราชานุวัตร พระธรรมคุณาภรณ์
            
            ๕. พระราชาคณะชั้นเทพ มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๘๖ รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย ๕๖ รูป และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๓๐ รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระเทพมงคลเมธี พระเทพวิสุทธิโมลี พระเทพเวที พระเทพโสภณ

            ๖. พระราชาคณะชั้นราช มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๑๘๙ รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย ๑๓๕ รูป ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๕๔ รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระราชปัญญาโมลี พระราชวิสุทธาจารย์ พระราชวรเมธี พระราชปัญญาภรณ์

            ๗. พระราชาคณะชั้นสามัญ  มีจำนวนที่กำหนดไว้ ๔๗๗ รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย ๓๔๘ รูป ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๑๒๙ รูป ราชทินนามของพระราชาคณะชั้นนี้ เช่น พระจริยเวที พระอินทโมลี พระวินัยการกวี พระนิมมานโกวิท

            พระราชาคณะชั้นสามัญนี้ยังแบ่งเป็น ๔ ฝ่าย คือ ชั้นสามัญที่เป็นเปรียญ ชั้นสามัญเทียบเปรียญ ชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนา และชั้นสามัญยก ซึ่งชั้นสามัญยกนี้ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ

            ๘. พระครู ตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้นพระครู แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ 
  • พระครูชั้นสัญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง และพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ มีราชทินนามต่อท้าย เช่น พระครูสุนทรธรรมวิฑูร พระครูศาสนภารพินิจ   
  • พระครูฐานานุกรม คือ พระสงฆ์ที่พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไป แต่งตั้งจากพระรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควร ตามจำนวนที่มีระบุไว้ในสัญญาบัตร คือ ที่มีพระบรมราชานุญาตไว้ ไม่มีพัดยศ และไม่มีสัญญาบัตร
  • พระครูชั้นประทวน เป็นพระสงฆ์ที่คณะสงฆ์แต่งตั้ง เนื่องจาก ได้ทำคุณประโยชน์ แก่ศาสนา ประเทศชาติ ไม่มีราชทินนาม ไม่มีสัญญาบัตร มีแต่ใบประกาศแต่งตั้ง และไม่มีพัดยศ