เล่มที่ 32
ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คุณค่าของตาลปัตรพัดยศ

            พัดยศมิใช่เป็นเพียงสิ่งของอย่างหนึ่งสำหรับใช้ในงานพิธีของพระสงฆ์ใน พระพุทธศาสนา และมิใช่เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงความสำคัญของพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราช ทานเท่านั้นแต่พัดยศยังมีคุณค่าเฉพาะตัว ซึ่งจะหาไม่ได้ในศาสนวัตถุอื่น กล่าวคือ พัดยศเพียงเล่มเดียว สามารถสื่อความหมาย และแสดงคุณค่าเรื่องราวได้หลายอย่างพร้อมๆกัน คือ


พัดยศแต่ละเล่มจะบอกให้ทราบได้ว่า พระสงฆ์ที่ใช้พัดยศนั้น มีตำแหน่งสมณศักดิ์ และตำแหน่งปกครองใด
ทำให้สามารถจัดระบบการนั่งของพระสงฆ์ ตามลำดับสมณศักดิ์ได้สะดวก

๑. แสดงถึงวิจิตรศิลป์

            แม้ตาลปัตรพัดยศมีวิวัฒนาการมาจากพัดใบตาลธรรมดา ซึ่งหาได้ง่ายและชาวบ้านใช้กันอยู่เกือบจะทั่วโลก และมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์โดยมีการคิดประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ หลายรูปแบบ ส่วนวัสดุที่ใช้ เปลี่ยนจากใบตาล มาเป็นอย่างอื่น เข้ากับศิลปะการตกแต่งได้อย่างกลมกลืน แต่ก็ยังคงชื่อเดิมไว้โดยยังคงเรียกว่า "ตาลปัตร และพัดพระ" นอกจากนี้ ยังเป็นศาสนวัตถุที่มีลวดลายงามวิจิตรและหลากหลาย เป็นวิจิตรศิลป์ซึ่งมีแบบเฉพาะและแต่ละเล่มไม่ซ้ำกัน เพราะสร้างครั้งละหนึ่งเล่ม หากจะมีซ้ำบ้างก็เพียงพัดรอง ซึ่งสร้างจำนวนมากในแต่ละครั้ง แต่โดยรวม ก็มีจำนวนไม่มากนัก


สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้ทรงมีผลงานการออกแบบพัดพระสงฆ์ที่วิจิตรงดงาม

๒. แสดงภูมิปัญญาไทยที่แท้จริง

            แม้ว่าตาลปัตรพัดยศจะได้รับอิทธิพลมาจากลังกา แต่คนไทยตั้งแต่ยุคโบราณ ได้คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์สีสัน และลวดลายเส้นสายลงบนตาลปัตร ด้วยภูมิปัญญาไทยโดยแท้จริง ความวิจิตรที่ปรากฏอยู่บนตาลปัตรพัดยศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องต่างๆ ตามยุคตามสมัย พัดยศแต่ละเล่มแสดงถึงประวัติศาสตร์ของผู้ทำ ประวัติศาสตร์ของงาน และแสดงถึงความเชื่อในศาสนาอย่างมั่นคงแน่วแน่ แม้ว่าพื้นที่ที่จะให้แสดงภูมิปัญญานี้จะมีเพียงเล็กน้อย แต่สามารถบรรจุความคิดของผู้ประดิษฐ์ลงได้อย่างกลมกลืน สวยงาม และมีความหมาย

๓. แสดงสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย 

            วัสดุ รูปทรง ลักษณะ และลวดลายการปักตกแต่งของพัดยศแต่ละเล่มสามารถแสดงว่า พระสงฆ์ผู้ถือนั้นมีสมณศักดิ์ชั้นใด มีตำแหน่งใด โดยที่พระสงฆ์ที่ถือพัดยศ มิต้องบอกกล่าว หรือแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร พัดยศสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน และเป็นที่เข้าใจในหมู่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ได้รับพัดยศเป็นอย่างดี

๔. แสดงการจัดระบบอาวุโสและการปกครอง

            เนื่องจากในวงการคณะสงฆ์มีการจัดระบบการนั่งตามลำดับอาวุโส ๒ แบบ คือ แบบอาวุโสตามพระวินัย คือ พระภิกษุรูปใดที่อุปสมบทก่อน ถือว่ามีพรรษาอาวุโสกว่า ให้นั่งหน้าพระภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า กับแบบอาวุโสตามสมณศักดิ์ โดยพระภิกษุรูปใดที่มีสมณศักดิ์ หรือมีตำแหน่งทางการปกครองสูงกว่า ก็ให้นั่งหน้าพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือมีตำแหน่งทางการปกครองต่ำกว่าได้ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธี หรืองานรัฐพิธี ที่ต้องใช้พัดยศ จะใช้แบบอาวุโสตามสมณศักดิ์เป็นเกณฑ์ ส่วนในงานทั่วๆ ไปจะถือแบบอาวุโสตามพระวินัย หรือทั้ง ๒ แบบ ผสมกันไป สุดแต่ความสะดวกและยินยอมกัน ดังนั้น เมื่อพระภิกษุไปในงานพระราชพิธีหรืองานรัฐพิธีซึ่งเรียกว่า งานหลวง จำนวนหลายรูป แม้ไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน เพียงแต่เห็นพัดยศที่ถือไปเท่านั้น ทั้งเจ้าหน้าที่ และพระภิกษุที่ไป ต่างก็จะรู้กันทันทีว่า รูปใดจะต้องนั่งอยู่ในลำดับที่เท่าไร โดยไม่จำเป็นต้องถามถึงชั้นสมณศักดิ์และตำแหน่ง นับเป็นความสะดวกอย่างยิ่ง พัดยศเล่มเดียวสามารถทำให้รู้จักพระภิกษุรูปนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นชั้นสมณศักดิ์ ตำแหน่งปกครอง และอาวุโส

            ในอดีต ผู้ที่มีผลงานการสร้างพัดพระสงฆ์ที่มีความสวยงามและมีผลงานมากที่สุด คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับสนองการสร้างพัดยศ พัดพิเศษอื่นๆ โดยเฉพาะพัดรอง ที่นิยมสร้างกันมากที่สุด ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงสร้างพัดรอง ทั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อพระราชทานในงานพิธีต่างๆ และที่พระราชวงศ์บางพระองค์ทูลขอให้ทรงสร้างให้ในโอกาสต่างๆ มากกว่า ๕๐ งาน การออกแบบพัดรองในสมัยหลัง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะทรงเริ่มใช้ตรา "น" ซ่อนไว้ในลายพัด ทั้งนี้ เพราะพัดฝีพระหัตถ์ที่ทรงออกแบบนั้นมีผู้ลอกแบบและดัดแปลงเป็นของตนเอง ต่อมา แม้ใช้ตราพระนามในงานที่เป็นฝีพระหัตถ์ก็ยังมีผู้ไปลบตราพระนามออก แต่ก็มิได้ทรงกริ้ว ทรงถือว่าเป็นวิทยาทาน พัดบางเล่มที่เป็นงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปัจจุบัน ยังคงจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร