สัตว์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในป่าชายเลนในบางช่วงระยะ
กุ้งทะเล
เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าชายเลนในบางช่วงชีวิต เพื่อหาอาหาร ผสมพันธุ์ และอนุบาลตัวอ่อน โดยเฉพาะกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และกุ้งตะกาด ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ กุ้งทะเลเหล่านี้ จะมีเพศแยกจากกัน การผสมพันธุ์เกิดขึ้นบริเวณนอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเค็มสูง ตัวอ่อนระยะแรกคือ ระยะนอลเพลียส (Naulplius) ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอีกหลายระยะ ระยะที่เป็นตัวอ่อน ที่มีรูปร่างเริ่มเรียวยาว ว่ายน้ำได้ดี จะเป็นระยะซูเอีย (Zoea) และระยะไมซิส (Mysis) ซึ่งเป็นระยะที่มีรูปร่างคล้ายตัวแก่แล้ว และท้ายที่สุดก็เปลี่ยนรูปร่างเป็นลูกกุ้งวัยรุ่น ซึ่งเป็นระยะที่ชอบอยู่ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ ลูกกุ้งวัยรุ่นสามารถว่ายน้ำได้ดี จึงมีการอพยพเข้าหาฝั่งบริเวณป่าชายเลน เพื่อเข้ามาอยู่อาศัย และหากิน ตลอดจนหลบซ่อนศัตรู ป่าชายเลนจึงเป็นแหล่งอนุบาลของกุ้งทะเล เมื่อเจริญวัย กุ้งกุลาดำ และกุ้งแชบ๊วยจะอพยพออกสู่ทะเล เพื่อวางไข่ในแหล่งน้ำที่มันเกิด ด้วยเหตุนี้ เราจะพบว่า การเลี้ยงกุ้งทะเลในประเทศไทยในระยะแรก ต้องพึ่งลูกกุ้งจากธรรมชาติทั้งสิ้น
ปูทะเล
เป็นสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าชายเลน และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน ดำรงชีวิตโดยการจับปูทะเล และเลี้ยงหรือขุนปูทะเล เพื่อขาย โดยทั่วไป ปูทะเลชอบอาศัยอยู่ตามพื้นโคลน หรือพื้นโคลนปนทรายในบริเวณป่าชายเลนปากแม่น้ำ โดยปูทะเลวัยอ่อนที่มีกระดองกว้างระหว่าง ๒๐ - ๙๙ มิลลิเมตร จะอาศัยอยู่ในป่าชายเลน ทั้งในบริเวณชายฝั่งในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ปูทะเลวัยรุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะอพยพเข้ามาหาอาหารในป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงในขณะที่น้ำขึ้นสูงสุด และกลับออกสู่บริเวณชายฝั่งในขณะที่น้ำลง ส่วนปูทะเลที่โตเต็มวัย จะสามารถเข้ามาหาอาหารในบริเวณต่างๆ ในป่าชายเลนได้
แมงดาทะเล
เป็นสัตว์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิต (Living fossil)” เพราะรูปร่างลักษณะของมัน มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมน้อยมาก นับตั้งแต่ถือกำเนิดมาบนโลกมากกว่า ๔๐๐ ล้านปีที่ผ่านมา แมงดาทะเลที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลของไทยมี ๒ ชนิด คือ แมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) และแมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) แมงดาทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน ทั้งรูปร่าง และการดำรงชีวิต ในช่วงน้ำขึ้น เราพบว่า แมงดาจานจะขึ้นมาวางไข่ที่หาดทราย ส่วนแมงดาถ้วยจะขึ้นมาวางไข่ในป่าชายเลน ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ ๑ เมตร แมงดาถ้วยจะขุดหลุมลึกจากผิวดิน ประมาณ ๓ - ๘ เซนติเมตร เพื่อวางไข่หลุมละประมาณ ๑๐๐ - ๑๕๐ ฟอง โดยจะวางไข่ในแต่ละครั้งเพียง ๑ - ๒ หลุมเท่านั้น แต่ใช้เวลานานนับเดือนในการฟักตัว