เล่มที่ 26
สัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความสัมพันธ์ระว่างทรัพยากรประมงกับระบบนิเวศป่าชายเลน

            การศึกษาเกี่ยวกับแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ลูกกุ้ง และลูกหอย ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวกับปลาและปลาวัยอ่อน ในบริเวณป่าชายเลนในประเทศไทยนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างป่าชายเลนกับทรัพยากรประมงอย่างชัดเจน ในการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ปลาเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง และในป่าชายเลน เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลลูกปลา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอย่างถาวร และเป็นแหล่งผสมพันธุ์ด้วย เช่น ป่าชายเลนจังหวัดระนอง ป่าชายเลนจังหวัดตรัง ป่าชายเลนจังหวัดภูเก็ต ป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสงคราม และป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น ป่าชายเลนจังหวัดระนองนับว่า เป็นบริเวณที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่บนบก และในทะเล การขยายตัวของนากุ้ง และการขยายตัวของเมืองก็ตาม สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่พบมากในบริเวณนี้ จะเป็นพวกกุ้ง เคยที่ใช้ทำกะปิที่มีชื่อเสียงของจังหวัดระนอง กุ้งขนาดเล็ก และกุ้งขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และกุ้งตะกาด นอกจากนี้ ยังพบลูกปูชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในกลุ่มประชากรแพลงก์ตอน ถึงแม้ว่าบ ริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนอง จะมีการทำประมงกันมาก โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือประมงประเภทอวนรุน แต่ก็พบว่า พันธุ์ปลาในบริเวณนี้ค่อนข้างชุกชุม โดยพบปลาวัยอ่อน ประมาณ ๒๓ ครอบครัว และพบปลาที่เจริญเต็มวัย เช่น พวกปลาหลังเขียว ปลากระบอก ปลาแป้น มากกว่า ๑๑๑ ชนิด จัดอยู่ใน ๔๘ ครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหน้าดิน ซึ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งอาหาร สำหรับสัตว์หลายชนิด ปูทะเลในบริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนอง จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ โดยในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๖ ชาวประมงสามารถจับปูทะเลขายได้ปีละประมาณ ๑๐๙ ตัน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า ร้อยละ ๔๖ หรือประมาณ ๕๐ ตัน เป็นปูทะเลที่มีขนาดเล็กกว่า ๑๐ ซม. ปูทะเลที่จับได้ประมาณร้อยละ ๔๒ มีขนาดเกิน ๑๐ ซม. (ไม่รวมปูตัวเมียที่มีไข่) ปูทะเลตัวเมียที่มีไข่ขนาดระหว่าง ๑๐.๐-๑๑.๕ ซม. ที่จับได้คิดเป็นร้อยละ ๑๒ จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การประมงปูทะเลในบริเวณนี้ เริ่มแสดงให้เห็นถึงการจับปูทะเล ที่มากเกินอัตราการผลิต ผลการศึกษาประชากรปูทะเลในบริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนองในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ยิ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผลผลิตปูทะเลลดลงกว่าครึ่ง และปูทะเลที่จับได้มีขนาดเล็กลงอย่างมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปูทะเลมีการเสื่อมสภาพเพิ่มมากขึ้น ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล บริเวณชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ก็มีความสำคัญในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งเลี้ยงตัวของทรัพยากรปลามากกว่า ๑๔๐ ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาวัยอ่อน และปลาวัยเจริญพันธุ์ ป่าชายเลนบริเวณคลองสิเกา จังหวัดตรัง นับเป็นป่าชายเลนจำนวนน้อยมากของประเทศไทย ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติอยู่มาก โดยมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์นานาชนิด แพลงก์ตอนสัตว์ที่พบเป็นพวกกุ้งและปู รวมแล้วเป็นกุ้งวัยอ่อนทั้งหมด ๕ ครอบครัว และปูวัยอ่อนรวม ๑๒ ครอบครัว ปลาวัยอ่อนที่พบในบริเวณป่าชายเลนคลองสิเกามีทั้งหมด ๒๐ วงศ์ ซึ่งเป็นปลาวัยอ่อน ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าชายเลนอย่างถาวร จากระยะวัยอ่อน จนถึงระยะเต็มวัย และกลุ่มที่เข้ามาในระยะวัยอ่อนเพื่อเป็นแหล่งอนุบาล หรืออาจจะพบได้อีกครั้งว่า ได้เข้ามาหาอาหารในช่วงโตเต็มวัย