เล่มที่ 26
สัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การฟื้นฟูและการปลูกป่าชายเลน   

            ในปัจจุบัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ อัตราการเสื่อมสภาพของป่าชายเลน ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าความพยายามของมนุษย์ ที่จะทำการอนุรักษ์ ตลอดจนฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลน อัตราการเสื่อมสภาพของป่าชายเลน จะเร็วกว่าการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆ ของระบบนิเวศป่าชายเลน โดยเฉพาะแนวทางในการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน และการปลูกป่า ซึ่งแนวทางในการศึกษาการปลูก และการฟื้นฟูป่าชายเลน จำเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญนี้ ให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป ความสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ ประชาชนในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรเอกชน และนักวิชาการหลายสาขาวิชา นักวิชาการจะมีบทบาทในการหาวิธีการที่เหมาะสม ที่ใช้ในการปลูกป่า และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนในแต่ละพื้นที่ และควรมีการประเมินผลการปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนในแต่ละพื้นที่ด้วย


            การปลูกสวนป่าชายเลนในประเทศไทยเริ่มครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ที่สวนป่าบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เริ่มมีการปลูกสวนป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรม เช่น ที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และปัตตานี วัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นแหล่งผลิตไม้ฟืน สำหรับเผาถ่าน และเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม อีกทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนด้วย พื้นที่ที่ทำการปลูกป่า และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ที่ดำเนินการอยู่ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ดินเลนงอกใหม่ บริเวณป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม บริเวณพื้นที่ผ่านการทำเหมืองแร่ บริเวณป่าชายเลนที่มีแม่หอบ และพื้นที่ป่าชายเลนที่ผ่านการทำนากุ้ง ในระยะหลังได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มีส่วนร่วมในการปลูกสวนป่าชายเลนนี้ด้วย เช่น ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และตรัง เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างความสำเร็จของการปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นจากความรัก และความหวงแหน ในทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนของผู้นำชาวบ้าน และชาวบ้าน รวมทั้งความตั้งใจจริง ในความร่วมมือประสานงานด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน

v