การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสัตว์นานาชนิดคือ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร มีการจัดสรรสารอาหาร และพลังงานที่ลงตัว ทั้งในกลุ่มพืชและสัตว์ บริเวณป่าชายเลน จะมีความหลากหลายในรูปของแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้สัตว์ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะเพื่ออยู่อาศัย หรือเพื่อหาอาหารร่วมกันได้โดยไม่ต้องแก่งแย่งกัน ถ้าความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนยังดำรงสภาพอยู่ ก็ย่อมจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงด้วย เนื่องจากยังมีกระบวนการ และกลไก ที่ควบคุมให้ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวประมงโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน คือ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำ ที่เคยจับได้เพื่อยังชีพ ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อทำนากุ้ง จากการศึกษาพบว่า การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน ทำให้พวกลูกกุ้ง ลูกปู และลูกหอยลดลง เช่น บริเวณป่าชายเลนจังหวัดชลบุรีนั้น ทรัพยากรประมง รวมทั้งชนิดและความชุกชุมของพันธุ์ปลาก็ลดลงด้วย จากการศึกษาประชากรปลาที่บริเวณคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙ พบว่า จับปลาได้ ๗๒ ชนิดในบริเวณป่าชายเลน และ ๑๒๙ ชนิดในบริเวณชายฝั่ง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อเวลาผ่านไปอีก ๑๖ ปี ได้ทำการสำรวจซ้ำอีกพบเพียง ๒๕ ชนิดเท่านั้น ซึ่งในระยะนี้ป่าชายเลนบริเวณนั้น ได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปเกือบหมด สัตว์น้ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเสื่อมสภาพของป่าชายเลนคือ หอยแครง การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะเมื่อป่าชายเลนหมดไป ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของหอยแครงลดลง นอกจากนี้ ดินในบริเวณหาดโคลนก็เปลี่ยนไป มีลักษณะแข็งกระด้าง หรือมีดินเลนปกคลุมผิวหน้าชั้นดินแข็ง ทำให้หอยแครงอาศัยอยู่ไม่ได้ แต่เดิมในบริเวณนี้เมื่อสภาพป่าชายเลนยังอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถเก็บหอยแครงได้ประมาณ ๗๐-๘๐ กิโลกรัม ภายในระยะเวลา ๔-๕ ชั่วโมง แต่ในปัจจุบัน จะเก็บได้อย่างมาก ไม่ถึง ๔๐ กิโลกรัม ภายในระยะเวลาเท่ากัน ถ้าเป็นฤดูที่หอยแครงมีน้อยจะเก็บได้เพียง ๔-๕ กิโลกรัม เท่านั้น
ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเสื่อมสภาพ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าชายเลน ทำให้ผลผลิตการประมงลดลง ดังเช่น การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมบริเวณปากแม่น้ำเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๕ พบว่า การทำนากุ้งเป็นสาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลน โดยเฉพาะหลังจาก พ.ศ. ๒๕๓๑ นั้น พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างมาก ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ผลผลิตการประมงเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก ๑๖.๐๗๖ ตัน (ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๗ -๒๕๓๑) เป็น ๑๐.๒๘๑ ตัน (ระหว่างพ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖) หรือลดลงร้อยละ ๑๖.๐๕ การเสื่อมสภาพของป่าชายเลน ส่งผลกระทบต่อชนิดและปริมาณของสัตว์ทะเลหน้าดินในป่าชายเลนอย่างชัดเจน ซึ่งผลการศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดินในป่าชายเลน ที่ถูกตัดฟัน และป่าชายเลนธรรมชาติพบว่า ป่าชายเลนธรรมชาติมีความหนาแน่นของสัตว์ชนิดต่างๆ มากกว่าป่าชายเลนที่ถูกตัดฟัน เช่น ปริมาณปูก้ามดาบและปูแสม เป็นต้น ความหนาแน่นของสัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณป่าชายเลนปลูก บนพื้นที่เหมืองแร่เดิม โดยเฉลี่ยมีค่าน้อยกว่าป่าชายเลนธรรมชาติ