เล่มที่ 26
สัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความหลากหลาย

            ปัจจัยที่ทำให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มประชากรสัตว์ ในระบบนิเวศป่าชายเลน มีดังนี้

ความหลากหลายของแหล่งที่อยู่อาศัย

            ในบริเวณป่าชายเลน มีความหลากหลายของถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งจัดเป็นที่อยู่ลักษณะเฉพาะ เช่น บริเวณผิวดิน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ บริเวณพื้นดิน บริเวณราก ลำต้น ใบ และเรือนยอดของต้นไม้ การกระจายของสัตว์ทะเลหน้าดินบางกลุ่ม เช่น ปู และหอย ต้องอาศัยลักษณะความชุ่มชื้นในดิน และลักษณะร่มเงาจากต้นไม้ นอกเหนือจากปริมาณอินทรียสารในดิน บริเวณที่มีเศษไม้ใบไม้ร่วงลงมาก นอกจากจะมีปริมาณอินทรียสารวัตถุที่เป็นสารอาหารสูงแล้ว ยังเป็นบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง และเป็นที่อยู่อาศัยของปูและสัตว์น้ำชนิดอื่น พรรณไม้ชนิดต่างๆ เช่น ไม้โกงกาง และไม้แสม มักจะขึ้นในดินที่มีลักษณะแตกต่างกัน ไม้โกงกางมักจะขึ้นในดินเลนที่อ่อนนุ่ม ส่วนไม้แสมมักจะขึ้นบริเวณดินทราย และดินค่อนข้างแข็งอยู่ติดบนบก ลักษณะดินที่แตกต่างกันนี้ มีผลต่อชนิดของสัตว์ ที่พบในบริเวณนี้ ป่าชายเลนที่ถูกทำลาย เนื่องจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การถางพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อทำนากุ้ง จะมีความหลากหลายทางชีวภาพลดลง โดยเฉพาะพวกสัตว์ทะเลหน้าดิน ทั้งนี้เพราะที่อยู่อาศัยถูกทำลาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการไหลเวียนของน้ำ เช่น การขุดบ่อก่อสร้างคันดินต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร และอินทรียสาร ตลอดจนคุณสมบัติของดินในบริเวณนี้ ความหลากหลายของสัตว์ ที่พบในป่าชายเลน จะต่างกันตามอายุของป่าด้วย ถ้ามีการเปรียบเทียบระหว่างป่าปลูก ที่มีอายุต่างกัน ก็จะพบว่า ป่าปลูกที่มีอายุมาก จะมีความหนาแน่น และความหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ แต่ป่าที่ถูกถาง หรือเพิ่งเริ่มปลูก จะมีสัตว์ทะเลหน้าดินอยู่เพียงไม่กี่ชนิด

การปรับตัวของสัตว์ในป่าชายเลน

            ป่าชายเลนจัดว่า เป็นบริเวณที่มีปัจจัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงความเค็ม สภาวะการสูญเสียน้ำ สภาวะที่มีอุณหภูมิสูง มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำ และสภาวะการสัมผัสกับอากาศในขณะที่น้ำลง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะต้องมีการปรับตัวทั้งด้านสรีรวิทยา และพฤติกรรม เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงความเค็ม อุณหภูมิ และปริมาณออกซิเจน เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ในบริเวณนี้ ความสามารถดังกล่าวก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในสัตว์แต่ละกลุ่มที่พบในบริเวณป่าชายเลน



๑. การปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงความเค็ม

            ความเค็มมีความสำคัญในการกำหนดขอบเขต การกระจายของสัตว์ในป่าชายเลน เช่น ปูก้ามดาบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความทนทานของสัตว์แต่ละชนิดต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็ม ผู้เขียนได้ทำการศึกษาความทนทานต่อความเค็มของปูก้ามดาบ ๒ ชนิด ที่พบในบริเวณป่าชายเลน ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี พบว่า ปูก้ามดาบขนาดใหญ่ (Uca (Deltuca) dussumieri spinata) สามารถอยู่ได้ในระดับความเค็มตั้งแต่ ๑๐ ส่วนในพันส่วน ถึงประมาณ ๔๓ ส่วนในพัน

๒. การปรับตัวต่อสภาวะอุณหภูมิสูง และสภาวะการสูญเสียน้ำจากตัว

            ปูก้ามดาบจะหากินในขณะที่น้ำลง และมักจะหากินในบริเวณที่ไม่ไกลจากรูของมัน ทั้งนี้เพราะมันต้องวิ่งลงรูเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้รับความชื้น และแก้ปัญหาการสูญเสียน้ำออกจากตัว ถ้าอากาศภายนอกยิ่งร้อน ความถี่ในการวิ่งลงรูของปูก้ามดาบ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และในสภาพที่น้ำลงมากผิดปกติในช่วงน้ำตาย คือ น้ำจะลงเป็นช่วงเวลานานมาก มันก็จะแช่ตัวอยู่ในรูตลอดเวลา การที่ปูก้ามดาบสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ เนื่องจากมันมีกระดองห่อหุ้มตัว มีรูสำหรับป้องกันตนเองจากอุณหภูมิที่สูง และมีกระบวนการการระเหยของน้ำที่ผิวลำตัวเหมือนกับการขับเหงื่อของมนุษย์ เมื่ออากาศร้อนจัด ปูก้ามดาบจะพยายามรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอก


๓. การปรับตัวเรื่องการหายใจ

            สัตว์ในป่าชายเลนจะต้องมีช่วงระยะที่โผล่พ้นน้ำในขณะที่น้ำลง และระยะที่จมอยู่ใต้น้ำในขณะที่น้ำขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้องมีการปรับตัวเรื่องการหายใจ เพื่อให้สามารถหายใจได้ โดยใช้ออกซิเจนจากอากาศ หรือใช้ออกซิเจน ที่ละลายอยู่ในน้ำ ปูในป่าชายเลนแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ปูกลุ่มที่หายใจโดยการปั๊มน้ำเข้าตัวเป็นจังหวะ ปูกลุ่มนี้ จะพ่นน้ำเข้าไปในช่องเหงือก เมื่อสัมผัสกับอากาศ กระแสน้ำที่พ่นนี้จะผ่านเข้าช่องเหงือกต่อไปยังช่องส่วนนอก และกลับเข้าสู่ช่องเหงือกอีกครั้งหนึ่ง ปูในกลุ่มนี้ ได้แก่ ปูแสม และปูก้ามหัก ปูเหล่านี้จะมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถอุ้มน้ำได้มากขึ้น โดยมีขนเล็กๆ ประสานกันเป็นร่างแห อยู่ที่แผ่นอก ทำให้น้ำแผ่ออกเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนก๊าซดีขึ้น เช่นเดียวกับบริเวณช่องเหงือก ปูแสมเหล่านี้ สามารถเอาน้ำเข้าไป แทนที่น้ำที่เสียไปโดยวิธีง่ายๆ คือ ดูดน้ำตรงโคนขาเดิน หรือระหว่างช่องอกและช่องท้อง แทนที่จะต้องจุ่มตัวลงไปทั้งตัว เวลาที่ปูพวกนี้อยู่ในน้ำ จะหายใจโดยใช้เหงือกเหมือนกับปูทั่วไป ปูกลุ่มที่สอง เป็นพวกที่หายใจโดยใช้ออกซิเจนในน้ำ โดยการจุ่มตัวในน้ำ เมื่อปูพวกนี้สัมผัสกับอากาศ ก็จะพยายามรักษาน้ำไว้ในช่องเหงือก และพ่นอากาศลงไปในน้ำนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซ ปูก้ามดาบจัดอยู่ในกลุ่มนี้ พวกนี้จะดูดน้ำเข้าไปทางช่องเปิดเล็กๆ ระหว่างขาเดิน ช่องเหงือกของปูเหล่านี้ จะแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ โดยตอนบนที่มีเส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงจำนวนมาก จะทำหน้าที่เป็นปอด ส่วนตอนล่างจะเป็นช่องเหงือกธรรมดา น้ำจะถูกกักไว้ในช่องเหงือก และพ่นอากาศเข้าไปเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซ รูของปูเหล่านี้ มักจะอยู่ลึกจนถึงระดับชั้นน้ำใต้ดิน เพื่อให้มันสามารถจุ่มตัวลงในแอ่งน้ำได้

๔. การปรับตัวด้านการกินอาหารและการหาอาหาร

            สัตว์ในป่าชายเลนมักจะไม่พึ่งพาอาหารพวกอินทรียสารจากซากใบไม้เพียงอย่างเดียว หรือพึ่งเฉพาะพืชสีเขียวอย่างเดียว มันมักจะกินอาหารทั้งสองชนิดพร้อมๆ กัน พวกนี้มักจะเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยในการกินอาหารได้ โดยขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ และปริมาณของอาหารชนิดต่างๆ จัดได้ว่า เป็นพวกที่กินไม่เลือก กล่าวโดยสรุปคือ ถ้ามีอาหารชนิดใดมาก สัตว์เหล่านี้ ก็จะเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยในการกินอาหาร เพื่อให้สามารถกินอาหารชนิดนั้นได้มากขึ้น

๕. การปรับตัวด้านการสืบพันธุ์

            สัตว์ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง มักจะดำรงชีพเป็นแบบกึ่งสัตว์บก เมื่อเจริญวัยเต็มที่ แต่ตัวอ่อนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในน้ำ ดังนั้นช่วงระยะการสืบพันธุ์ต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับจะปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ลงในน้ำที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อุณหภูมิของน้ำจะมีความสำคัญเป็นตัวกระตุ้นให้มีการปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ออกมาสู่แหล่งน้ำ สัตว์น้ำบางชนิด จะเข้าไปในแหล่งน้ำที่มีความเค็มสูงขึ้น เพื่อวางไข่ หรือปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ ซึ่งจะเป็นการป้องกันไข่และตัวอ่อนของมัน จากผู้ล่าเหยื่อด้วย ช่วงเวลาในการปล่อยเชื้อสืบพันธุ์ หรือวางไข่ของปูในป่าชายเลน มักเป็นช่วงเวลาที่บริเวณที่ปูอาศัยอยู่นั้น มีน้ำท่วมเต็มไปหมด ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับเวลาข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ด้วย