ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนแต่ละไฟลัม
ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นตัวแทนแต่ละไฟลัมประกอบด้วยอะไรบ้าง
แพลงก์ตอนสัตว์
กลุ่มแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญ ในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตขั้นต้นคือ แพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) กับพวกสัตว์น้ำและปลาชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แพลงก์ตอนสัตว์จะมีตัวแทนของสัตว์ขนาดเล็กในกลุ่มโปรโตซัว และพวกแมงกะพรุน สัตว์กลุ่มหลังนี้ จะเป็นผู้ล่าที่สำคัญในกลุ่มแพลงก์ตอนสัตว์ นอกจากนี้ แพลงก์ตอนสัตว์ที่ดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนถาวร เช่น หนอนธนูและเคย สัตว์น้ำหลายชนิด จะดำรงชีพเป็นแพลงก์ตอนช่วงระยะเวลาหนึ่งในวงจรชีวิตของมัน ได้แก่ พวกลูกหอย ลูกกุ้ง ลูกปู และปลาวัยอ่อน
สัตว์ทะเลหน้าดิน
สัตว์ในบริเวณป่าชายเลนที่มีผู้ศึกษามากที่สุด ได้แก่ สัตว์ทะเลหน้าดิน (Benthos) ทั้งที่มีขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก การศึกษาสัตว์ทะเลหน้าดินในบริเวณป่าชายเลน จะเป็นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณ และการกระจายของสัตว์กลุ่มนี้ นอกจากนี้ ยังมุ่งศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่สัมพันธ์กับการประมง ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลหน้าดินเหล่านี้ มีความสำคัญในแง่ของการเป็นแหล่งอาหาร สำหรับสัตว์หลายชนิด ทั้งสัตว์น้ำ และสัตว์บก เช่น นก ลิงแสม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ
สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก
สัตว์ทะเลหน้าดินที่มีขนาดเล็ก เช่น พวกโปรโตซัว มีบทบาทในการย่อยสลายอินทรียสาร ผักและเมล็ดของต้นไม้ในป่าชายเลน นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการเชื่อมระหว่างสัตว์ในห่วงโซ่อาหาร โดยเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับแพลงก์ตอน สัตว์ทะเลหน้าดิน และปลาขนาดเล็ก สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก นอกเหนือจากกลุ่มโปรโตซัว ที่มีบทบาทในการย่อยสลายอินทรียสาร หรือมีส่วนเร่งในการหมุนเวียนอาหาร ได้แก่ พวกไส้เดือนตัวกลม ไส้เดือนทะเล และหนอนถั่ว (Sipunculids) เป็นต้น
หอยสองฝาและหอยฝาเดียว
สัตว์กลุ่มนี้มีทั้งพวกที่กรองอาหารจากน้ำทะเล กินพวกแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ พวกที่กัดแทะสาหร่ายชนิดต่างๆ ที่ขึ้นตามพื้นดิน หรือรากไม้ บางชนิดเป็นพวกที่กินอินทรียสาร ซึ่งจะช่วยเร่งอัตราการหมุนเวียนของธาตุอาหาร เราพบหอยชนิดต่างๆ กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ในป่าชายเลน โดยขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของมัน พบหอยฝาเดียว และหอยสองฝา ฝังอยู่ในดิน บางชนิดจะเกาะอยู่ตามรากต้นไม้ เช่น หอยนางรม หอยกะพง และหอยจอบ หอยฝาเดียว เช่น หอยขี้นก จะเคลื่อนที่ขึ้นลงตามกิ่งไม้ ใบไม้ และต้นไม้ ตามช่วงน้ำขึ้นน้ำลง หอยขี้นกต่างชนิดจะกระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ของต้นไม้ โดยมีลักษณะการกระจายในแนวดิ่ง (Vertical zonation) หอยสองฝาบางชนิด เช่น หอยเจาะ หรือเพรียงเจาะ จะเจาะไชอยู่ตามโพรงไม้ มีบทบาทในการย่อยสลายของท่อนไม้ และซากไม้ที่ผุพังในป่าชายเลน นอกจากนี้ รอยแยก หรือโพรงไม้ ที่เกิดจากการเจาะไชของหอยชนิดนี้ จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น เช่น แมลง หรือปู เป็นต้น
แมลง
แมลงมักจะถูกมองว่า เป็นศัตรูที่สำคัญของพรรณไม้ในป่าชายเลน แต่แท้จริงแล้ว แมลงมีบทบาทมากในการผสมเกสรของพรรณไม้ในป่าชายเลน เช่น พวกผึ้ง ที่สำคัญคือ มีบทบาทในการย่อยสลายของใบไม้กิ่งไม้ต่างๆ ในบริเวณป่าชายเลน แมลงเป็นตัวการสำคัญในการกัดแทะใบอ่อนของพรรณไม้ป่าชายเลน เมื่อเกิดรอยแผลขึ้นตามใบหรือลำต้น พวกจุลินทรีย์โดยเฉพาะพวกเชื้อรา ซึ่งจะเจริญได้ดี ก็ช่วยเร่งการร่วงหล่นของใบไม้ ปูจะกัดกินใบไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้น หรือพวกใบแก่ ที่เริ่มเปลี่ยนสี เช่นเดียวกับพวกสัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก เช่น ไส้เดือนตัวกลม ที่จะกัดกินพวกซากไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่น
ครัสเตเชียน
สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มสำคัญที่พบในป่าชายเลน ได้แก่ ครัสเตเชียน ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์กลุ่มนี้มีผู้สนใจศึกษามากที่สุด โดยเฉพาะพวกเดคาปอด (Decapod crustaceans) โดยเฉพาะพวกกุ้งและปู นอกจากนี้ยังมีพวกเพรียง (Barnacles) โคพิปอด (Copepods) ไอโซปอด (Isopods) และแอมฟิปอด (Amphipods) ตัวอ่อนของพวกครัสเตเชียน และพวกโคพิปอด เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ในพวกแพลงก์ตอนสัตว์ ในป่าชายเลน ปูที่พบในป่าชายเลน สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ พวกที่ฝังตัว หรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน ได้แก่ พวกปูแสม ปูก้ามดาบ ปูลม ปูม้า และปูทะเล ปูกลุ่มที่สองคือ พวกที่คืบคลานตามพื้น หรือไต่ตามต้นไม้ ได้แก่ ปูแสม ปูมีบทบาทมากมาย ในระบบนิเวศป่าชายเลน ปูแสมถือว่า เป็นศัตรูที่สำคัญของกล้าไม้ ชอบกัดกินฝักและเมล็ดของพรรณไม้ป่าชายเลน แต่มีปูแสมเพียงไม่กี่ชนิด ที่กินใบไม้ กล้าไม้ หรือฝักของพรรณไม้ป่าชายเลน ปูส่วนใหญ่ จะมีบทบาทเป็นพวกที่กินซากไม้ใบไม้ ที่เน่าเปื่อย หรืออินทรียสารในดิน ดังนั้น จึงมีบทบาทสำคัญ ในการย่อยสลายอินทรียสาร และช่วยเร่งการหมุนเวียนของธาตุอาหาร เช่น พวกปูก้ามดาบ และปูแสม ปูหลายชนิด เช่น ปูทะเลและปูม้า จะมีบทบาท ในการเป็นผู้ล่าที่สำคัญ โดยกินพวกปูขนาดเล็ก และหอยชนิดต่างๆ กิจกรรมในการขุดรู หรือการกินอาหารของปูชนิดต่างๆ จะมีผลต่อการย่อยสลายอินทรียสาร ในป่าชายเลน