การเลี้ยงปลาในบ่อ เป็นการพัฒนาการใช้ที่ดินให้เกิดผล ผลิต เช่น ใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นที่ลุ่ม หรือที่ดินที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก มาดัดแปลงแก้ไข ให้เกิดผลผลิตเป็นปลา ซึ่งเป็นอาหารโปรตีน ผลผลิตต่อหน่วยเนื้อที่ของบ่อสูงมาก เมื่อเทียบกับผลผลิต จากแหล่งน้ำธรรมชาติ
สิ่งที่ต้องพิจารณา สำหรับการเลี้ยงปลาในบ่อมีดังนี้
๑. การเลือกทำเล
การทำบ่อเลี้ยงปลา สิ่งที่จะต้องพิจารณาเบื้องแรก ได้แก่ การเลือกหาสถานที่ หรือทำเลที่เหมาะแก่การดำเนินการเลี้ยงปลา ข้อที่ควรจะนำมาพิจารณาก็คือ
๑.๑ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศควรเป็นทำเลที่มีเชิดลาดกว้าง เมื่อสร้างบ่อสามารถที่จะระบายน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ถ้าเป็นที่ราบลุ่มจำเป็นต้องยกคันรอบ เพื่อเก็บกักน้ำ และควรเป็นที่ที่น้ำไม่ท่วมในฤดูน้ำมาก หรือฤดูฝน
๑.๒ ลักษณะดิน ดินควรจะเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทรายน้ำไม่ซึมหรือรั่ว ไม่ควรเลือกที่ที่เป็นดินทราย หิน หรือกรวด การทดสอบดินว่า จะเก็บกักน้ำได้หรือไม่เพียงใดก็โดยวิธีนำดินมาผสมน้ำพอชื้น แล้วบีบเป็นปั้น หากจับกันเป็นก้อนแน่นแสดงว่า เก็บกักน้ำได้ดี หากร่วนซุยไม่จับกันเป็นก้อนแสดงว่า คุณภาพในการเก็บกักน้ำต่ำ ในกรณีที่จำเป็นจะต้องเลือกที่ที่มีดินเก็บกักน้ำไม่ดี ควรจะปูพื้นก้นบ่อด้วยพลาสติก หรือดินเหนียว หรือสารอื่นที่มีคุณสมบัติ ที่จะจับเนื้อดิน หรืออุดรูรั่ว เช่น ยางมะตอย หรือจะใช้ดินเหนียวบดอัดแน่นหลายๆ ชั้น
บ่อเลี้ยงปลาจะต้องเก็บกักน้ำได้ในระยะเวลานาน การสูญหายของน้ำส่วนใหญ่จะเกิดจากการระเหย ฉะนั้น หากเกิดการรั่วไหล เนื่องจากดินร่วนซุย จึงไม่เหมาะแก่การเลี้ยงปลาระยะยาวนาน แต่อาจจะใช้เป็นบ่ออนุบาลเลี้ยงลูกปลาในระยะสั้นได้ บ่อดังกล่าว เมื่อใช้ติดต่อกันไป อย่าให้แห้ง ก็จะเกิดโคลนตม ซึ่งมี ลักษณะพองตัว เมื่อถูกน้ำนานเข้าก็จะช่วยอุดรูรั่วต่างๆ ได้
๑.๓ ปริมาณน้ำ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลา การสร้างบ่อเลี้ยงควรจะอยู่ในที่ ซึ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลอง หนองบึง ซึ่งมีน้ำตลอดปี หรืออยู่ใกล้คลองชลประทาน ซึ่งสะดวกต่อการทดน้ำระบายเข้าบ่อ ในบางกรณีที่จำเป็นจะใช้น้ำบาดาล หรือน้ำพุ
แหล่งน้ำที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงปลา ได้แก่ ลำธาร หรือคลอง ซึ่งมี
(๑) ปริมาณน้ำไหลพอเพียงสำหรับบ่อปลา
(๒) มีระดับน้ำคงที่ตลอดปี
(๓) ไม่เกิดน้ำมากจนท่วม และ
(๔) มีน้ำใสสะอาดปราศจากตะกอน แม้ในฤดูฝนซึ่งมีฝนตกหนัก
บ่อเลี้ยงปลาที่อาศัยน้ำฝนที่บ่าลงมา ขนาดของแหล่ง รับน้ำ มีความสำคัญมาก เพราะปริมาณของน้ำจะมีมากพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเนื้อที่แหล่งรับน้ำและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เนื้อที่ แหล่งรับน้ำ ๔-๘ ไร่ จะรับน้ำได้พอสำหรับบ่อน้ำขนาดเนื้อที่ ๑ ไร่ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงลักษณะของแหล่งรับน้ำด้วย แหล่งรับ น้ำที่เป็นป่ามีความสามารถในการป้องกันการไหลบ่าได้มากกว่าทุ่งหญ้า ถึงร้อยละ ๕๐
๑.๔ ขนาดของพื้นที่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ หากทำการเลี้ยงปลา เพื่อบริโภคในครัวเรือน ก็ใช้เนื้อที่เพียง 400 ตารางเมตรก็พอ แต่ถ้าทำเป็นการค้า จะต้องมีบ่ออนุบาล บ่อเลี้ยง บ่อเพาะฟัก ก็จะต้องมีเนื้อที่มาก การเลี้ยงปลาเป็นการค้า ควรมีเนื้อที่ตั้งแต่ 30 ไร่ขึ้นไป
๑.๕ ความสะดวก การเลือกทำเลควรคำนึงถึงความสะดวกต่างๆ เช่น มีทางคมนาคมใกล้ถนนหนทาง หรือแม่น้ำลำคลอง เพื่อสะดวกในการขนส่ง ใกล้ชุมชนและอื่นๆ
๒. การวางแผนและการก่อสร้าง
ก่อนลงมือก่อสร้างควรวางแผนผัง และออกแบบบ่อคันดิน ท่อทางระบายน้ำ อาคาร และรายละเอียดเกี่ยวกับระดับพื้นที่ ดังนี้
๒.๑ การจัดพื้นก้นบ่อ ถากถางเอาพืชก้นบ่อออก แล้วขุดร่องน้ำตามก้นบ่อติดต่อกันเป็นรูปก้างปลา เพื่อให้สะดวกแก่การระบายน้ำ ร่องก้นบ่อควรมีขนาดความกว้างและ ลึก ๕๐ เซนติเมตร มีความลาดเทอย่างน้อย ๒-๓ ใน ๑,๐๐๐ ในระหว่างการสร้างบ่อควรกลบหลุมและแอ่ง เพื่อให้การระบายน้ำก้นบ่อแห้งตลอด จะได้จับปลาได้สะดวก ร่องน้ำตรงกลางจะขุดตรงไปยังทางระบายน้ำออก และขยายร่องให้กว้างและลึก ก่อนถึงปากท่อระบายน้ำทิ้ง ๒-๓ เมตร เพื่อให้เป็นที่รวบรวมปลา เมื่อต้องการจับ
๒.๒ คันบ่อ เป็นส่วนสำคัญในการเก็บกักน้ำ หากสร้างคันบ่อในพื้นที่เป็นกรวด หรือที่แฉะจะต้องขุดให้ถึงส่วนที่เป็นดินแข็ง บริเวณที่จะตั้งคันต้องถากถางเอาหญ้า ต้นไม้ กิ่งไม้ และเศษวัชพืชออกให้หมด หากดินบริเวณนั้นเก็บน้ำไม่ดี จะต้องขุดร่องทำแกนกลางด้วยดินเหนียว ในที่ดินปนทราย ความกว้างของคันดินจะต้องเป็น ๒ เท่า และมีแกนกลางที่เป็นดินเหนียวหนา ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ดินที่ใช้ทำคันควรปราศจากเศษไม้ ก้อนหิน
แหล่งน้ำที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงปลา (การเลี้ยงหมูกับปลา)
คันบ่อควรจะถมเป็นชั้นหนาชั้นละ ๒๐ เซนติเมตร และอัดแน่น ถ้าดินแห้งควรจะรดน้ำ บด และอัดถมให้มีความสูง ตามความต้องการ ความกว้างของสันคันบ่อไม่ควรจะน้อยกว่า ๑ เมตร แต่ถ้าทำให้กว้างไว้ จะสะดวกต่อการใช้ยานพาหนะขนถ่ายปลา อาหารและอุปกรณ์อื่นๆ ความสูงของคันบ่อ ควรสูง กว่าระดับเก็บกักน้ำ ๓๐ เซนติเมตร สำหรับบ่อขนาดเล็ก และ ๕๐ เซนติเมตร สำหรับบ่อขนาดใหญ่ และควรจะคำนวณถึงการยุบตัว ของคันดินไว้เผื่ออีกร้อยละ ๑๐
บ่ออนุบาลลูกปลา
ความลาดเทของคันดินด้านนอกควรจะเป็น ๑ : ๑ และด้านใน ๑ : ๒ และถ้าหากบ่อมีขนาดใหญ่ที่รับคลื่นลมหรือ เป็นดินร่วน ควรจะมีความลาดเท ๑ : ๔ เมื่อทำคันเรียบร้อยแล้ว ควรปลูกหญ้าคลุมคันดิน เพื่อป้องกันการพังทลาย ไม่ควรปลูกต้นไม้บนคัน เพราะรากจะชอนไชทำให้น้ำรั่วได้ ในระหว่าง การสร้างส่วนที่จะทำท่อทางระบายน้ำควรจะทิ้งว่างไว้ก่อน
แผนผังบ่อเลี้ยงปลา
๒.๓ ท่อทางระบายน้ำออก ระบบการระบายน้ำมี หลายแบบด้วยกัน แบบธรรมดา สำหรับบ่อขนาดเล็กใช้ฝังท่อใต้คันดิน ในตำแหน่งที่ต่ำสุด เพื่อให้การระบายน้ำได้ถึงก้นบ่อ เพื่อความรวดเร็วในการระบายน้ำ ขนาดของท่อควรมีความสัมพันธ์กับขนาดบ่อ ท่อระบายน้ำควรทำด้วยวัตถุที่ทนทาน เช่น ซีเมนต์ไฟเบอร์กลาส หรือเหล็กอบสังกะสี การวางท่อควรป้องกันน้ำไหลซึมข้างๆ ด้วยการหุ้มท่อด้วยคอนกรีตเป็นตอนๆ ควรวางท่อต่ำกว่าก้นบ่อ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร
บ่อเลี้ยงปลาควรมีคันบ่อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเก็บกักน้ำ
สำหรับบ่อขนาดใหญ่ ควรทำเป็นประตูระบายน้ำทำด้วยคอนกรีต ลักษณะของประตูน้ำประกอบด้วย ส่วนที่สามารถควบคุมน้ำ มีช่องสำหรับใส่ไม้อัดน้ำ ๒ ช่อง ระหว่างช่องทั้งสอง อาจใส่ดินอัดแน่นก็ได้ และมีช่องสำหรับใส่ตะแกรงป้องกันปลาหนีอีกหนึ่ง ช่องประตูน้ำดังกล่าว อาจจะทำด้วยไม้ ซึ่งมีความหนาประมาณ ๒ นิ้วก็ได้ จะมีความคงทนนานถึง ๒๕ ปี
ช่องสำหรับใส่ตะแกรงอาจจะทำตะแกรงเฉพาะส่วนล่าง แต่ส่วนบนใช้ไม้อัดน้ำปิดไว้ เป็นประโยชน์มาก ในการระบายน้ำส่วนล่างออกไป พร้อมกับก๊าซที่เป็นพิษ หรือเศษเหลือตามก้นบ่อ ควรใช้ตะแกรงตาห่าง เพื่อให้น้ำไหลสะดวก หรือจะคอยเปลี่ยนขนาดช่องตาของตะแกรง ตามขนาดของปลาที่เลี้ยงก็ ได้
๒.๔ ท่อทางระบายน้ำเข้า ท่อทางน้ำเข้าควรจะ วางให้
(๑) น้ำผ่านได้สม่ำเสมอ และสามารถควบคุมการปล่อยน้ำได้
(๒) สามารถป้องกันไม่ให้ปลาหลบหลีกทวนน้ำออกไปได้ และ
(๓) ป้องกันไม่ให้ปลาที่ไม่ต้องการ หรือศัตรูปลาเข้ามากับน้ำ
การวางท่อระบายน้ำควรระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับบ่อ อนุบาลควรมีตะแกรงป้องกัน ๒ ชั้น ขนาดช่องตาของตะแกรงควรเปลี่ยนแปลงตามขนาดของปลา และต้องหมั่นทำความสะอาดเก็บเอาเศษตะกอน กิ่งไม้ ใบไม้ ที่เข้าไปอุดตัน ออกทิ้ง เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก