เล่มที่ 7
การเลี้ยงปลา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเพิ่มผลผลิตในการเลี้ยงปลา

วิธีการเพิ่มผลผลิตมีอยู่หลายวิธี กล่าวโดยสรุปคือ

๑. เลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยง

            การเลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มผลผลิต นอกเหนือไปจากที่นำมาเลี้ยงตามสถานภาพความเหมาะสม ของปลาแต่ละอย่าง

            ๑.๑ ระดับการผลิตตามสภาพทางนิเวศน์ที่จัดให้อาจจะได้ปริมาณ คุณภาพ และผลทางเศรษฐกิจในระดับต่างๆ กัน ตามชนิดของปลา และวิธีการเลี้ยง เช่น ในภูมิภาคซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเพียง ๒๐ องศาเซลเซียส อาจจะเหมาะต่อการเลี้ยงปลาเมืองหนาว เช่น ปลาแซลมอน และปลาไน ในสภาวะดังกล่าวผลผลิตของปลาแซลมอนควรจะได้ ๑๖ กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตปลาไน ๓๒ กิโลกรัมต่อไร่ โดยไม่ให้อาหาร ผลผลิตของปลาที่กินอาหารไม่เลือก เช่น ปลาหมอเทศจะได้ ๑๖๐-๒๕๔ กิโลกรัมต่อไร่ ปลากินแมลงจะได้ ๓๖-๙๐ กิโลกรัมต่อ
ไร่ และปลากินเนื้อจะได้ ๑๓-๒๔ กิโลกรัมต่อไร่ การเลี้ยงปลากินพืชให้ผลผลิตเหนือปลาที่กินอาหารอย่างอื่น ถ้าไม่มีการให้อาหารสมทบ โดยทั่วไปแล้วผู้เลี้ยงปลาจะเลือกปลาชนิดโตเร็วมาเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง

            ๑.๒ การปล่อยปลาอย่างอื่นรวมกัน ปริมาณการผลิตจะได้สูงสุด หากเลี้ยงปลาที่กินอาหารที่มีห่วงโซ่อาหารสั้น เช่น ปลากินพืช ปลากินแพลงก์ตอน ปลากินอาหารไม่เลือก และปลากินเศษชีวอินทรีย์ที่เน่าเปื่อย หรือเป็นปลาที่กินอาหารสมทบที่หาง่าย ราคาถูก และเป็นปลาที่อยู่ร่วมกับปลาอื่นได้ดี ไม่แก่งแย่งอาหาร และทำร้ายกันและกัน

การเลี้ยงปลาหลายชนิดรวมกัน

๒. ควบคุมการปล่อยปลา

            การปล่อยปลาจะต้องคำนึงถึงปริมาณที่จะปล่อยในอัตราพอดี เพื่อให้ได้ผลทางคุณภาพ และปริมาณสูงสุดภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด การปล่อยปลาขึ้นอยู่กับกำลังผลิต และขนาดของบ่อ กำลังผลิตทั้งหมดเท่ากับผลบวกของกำลังผลิตตามธรรมชาติ รวมกับกำลังผลิตที่เกิดจากการใส่ปุ๋ยหมัก และการให้อาหาร

๓. ควบคุมอุณหภูมิ

            อุณหภูมิมีผลกระทบต่อการผลิตปลา และปริมาณของก๊าซออกซิเจนในน้ำ การควบคุมในเรื่องนี้จะต้องพิจารณาถึงความลึกของบ่อ บ่อตื้นเกินไปอาจมีอุณหภูมิสูงในฤดูร้อน หรือเย็นจัดในฤดูหนาว ฉะนั้น ความลึกของบ่อควรจะอยู่ในระดับ ๒-๕ เมตร นอกจากจะควบคุมอุณหภูมิแล้ว ยังจะช่วยให้ปลามีเนื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น

๔. ปรับปรุงการสืบพันธุ์และการคัดพันธุ์

            ๔.๑ ควบคุมและปรับปรุงการสืบพันธุ์

ปลาบางชนิดขยายพันธุ์ง่ายในบ่อ แต่บางชนิดไม่ขยายพันธุ์ และบางชนิดแพร่พันธุ์รวดเร็ว ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการควบคุม และปรับปรุงด้วยวิธีการต่างๆ กล่าวคือ

            ๔.๑.๑ กระตุ้นให้วางไข่ ปลาหลายชนิดวางไข่ยาก หรือไม่วางไข่ในบ่อ การผสมเทียมที่ค้นพบในศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้การผสมเทียมปลาเทราต์ และปลาแซลมอนได้เจริญก้าวหน้า และนำไปใช้ปฏิบัติในส่วนต่างๆ ของโลก และได้นำมาใช้กับการผสมเทียม และการเพาะฟักไข่ปลาชนิดต่างๆ อย่างแพร่หลาย การใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลาฉีดกระตุ้นให้ปลาที่ไข่วางไข่ยาก หรือไม่วางไข่ในบ่อ ทำให้ปลาวางไข่แพร่พันธุ์ได้

            ๔.๑.๒ ระวังการขยายพันธุ์ ปลาบางชนิดขยาย พันธุ์รวดเร็ว เช่น ปลาหมอเทศ ทำให้ปลามีจำนวนมาก และขนาดเล็ก การแก้ไขด้วยวิธีเลี้ยงปลาเพศเดียว หรือเลี้ยงปลาลูกผสมที่เป็นหมัน จะช่วยระงับการแพร่พันธุ์ของปลาดังกล่าว

การเปลี่ยนเพศปลาโดยใช้ฮอร์โมนเพศผู้ หรือ เมทิลเทสทอสเทอโรน ผสมอาหารเลี้ยงปลาในอัตรา ๖๐, ๔๐ และ ๒๐ มิลลิกรัม จะเปลี่ยนเพศลูกปลานิลอายุ ๓-๔ สัปดาห์ เป็นเพศผู้ได้ร้อยละ ๘๔.๕, ๘๑.๐ และ ๗๒.๐ ฮอร์โมนเพศผู้ ดังกล่าว สามารถนำไปใช้เปลี่ยนเพศปลาในสกุลปลาหมอเทศ ชนิดต่างๆได้ผลดี

            ๔.๒ การคัดพันธุ์

            การคัดพันธุ์จะช่วยเพิ่มผลผลิต เป็นที่ทราบกันดีว่าลูกปลาที่เกิดในครอกเดียวกันจะเจริญเติบโตผิดแผกแตกต่างกัน การคัดเอาลูกที่โตดี และนำไปผสมกับลูกปลาครอกอื่นที่โตดีหลายๆ ชั่ว เราก็จะได้พันธุ์ที่เจริญเติบโตดีขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการคัดพันธุ์ เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ เช่น มีสีต่างๆ มีเกล็ดมากน้อยหรือไม่มีเลย มีรูปร่างยาว หรือป้อมสั้น มีความต้านทานโรค วางไข่ช้าหรือเร็วกว่าปกติ และที่สำคัญก็คือ การเจริญเติบโตรวดเร็ว
๕. เลี้ยงปลาต่างชนิดและต่างอายุรวมกัน

การเลี้ยงปลาหลายชนิดและต่างอายุในบ่อเดียวกันนั้น นิยมปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงปลาจีน จุดประสงค์ในการเลี้ยงปลาแบบดังกล่าวก็เพื่อ จะปรับปรุงผลผลิตทั้งทางปริมาณ คุณภาพของปลา การเลี้ยงปลาแบบนี้ อาจจะทำได้หลายทางด้วยกันคือ

            (1) เลี้ยงปลาชนิดเดียวแต่มีหลายกลุ่มอายุ
            (2) เลี้ยงปลาหลาชนิดที่กินอาหารต่างกันและไม่กินกัน
            (3) เลี้ยงปลาไม่กินเนื้อขนาดเล็ก
            (4) เลี้ยงปลาไม่กินเนื้อมีลูกดกกับปลากินเนื้อเพื่อควบคุมไม่ให้มีจำนวนมาก และ
            (5) เลี้ยงปลาไม่กินเนื้อรวมกับปลากินเนื้อ เพื่อใช้ปลาที่ไม่กินเนื้อเป็นอาหาร

            ๖. การผลิตติดต่อสืบเนื่องกันตลอดปี

            ในภูมิอากาศร้อนการเจริญเติบโตของปลาเป็นไปตลอดทั้งปี ผิดกับในภูมิอากาศหนาว ซึ่งมีช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตสั้น ฉะนั้น การเลี้ยงปลาในบ่อในภูมิอากาศร้อน จึงสามารถดำเนินการติดต่อกันไปตลอดปี และถ้าเป็นปลาที่มีขนาดเล็กอาจจะเลี้ยงได้ ๒-๓ รุ่น เช่น การเลี้ยงปลาดุก ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าปกติมาก

            ๗. การเลี้ยงปลารวมกับสัตว์อื่น

            ๗.๑ การเลี้ยงปลากับเป็ด

            การเลี้ยงเป็ดควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลา เป็นวิธีที่นิยมปฏิบัติกันในจีนและยุโรปเป็นศตวรรษมาแล้ว เช่น การเลี้ยงเป็ดควบคู่กับปลาไน มูลเป็ดจะช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารธรรมชาติในบ่อปลา เป็ดตัวหนึ่งๆ จะช่วยเพิ่มผลผลิตปลา ๐.๙-๑.๗ กิโลกรัม ซึ่งเป็นผลผลิตค่อนข้างสูง

การเลี้ยงปลากับเป็ด

การเลี้ยงเป็ดควบคู่กับการเลี้ยงปลา ให้ประโยชน์หลายทางด้วยกันกล่าวคือ

            (๑) เป็ดจะถ่ายมูลลงในบ่อ ทำให้เกิดเป็นปุ๋ยในน้ำ และในดินก้นบ่อก่อให้เกิดแพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน
            (๒) เป็ดที่หากินบริเวณที่ตื้นชายตลิ่งจะช่วยกำจัดวัชพืชในบ่อ
            (๓) การขุดคุ้ยดังกล่าวจะช่วยให้อาหารธาตุที่มีอยู่ในดินละลายในน้ำ ทำให้เกิดผลผลิตอาหารธรรมชาติ
            (๔) อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็ด เมื่อตกลงในน้ำปลาจะกินเป็นอาหารจะมีเหลือบางส่วนที่จะกลายเป็นปุ๋ย และ
            (๕) เป็ดจะช่วยกำจัดหอย ซึ่งเป็นตัวนำโรคพยาธิบางอย่าง

การเลี้ยงปลากับหมู

            ๗.๒ การเลี้ยงปลากับหมู

            นิยมสร้างคอกหมูไว้กับบ่อปลาที่เลี้ยงรวมกันหลายชนิด ได้แก่ ปลาเฉา ปลาลิ่น ปลาเฉาดำ และปลาไน ผลผลิตปลาจากวิธีการเลี้ยงดังกว่าวจะได้ ๔๘๐-๑,๑๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ในไต้หวันเลี้ยงปลาจีนหลายชนิดรวมกัน และเลี้ยงหมู ๑๗ ตัวในเนื้อที่ ๑ ไร่ ได้ผลผลิตปลา ๘๐๐-๘๖๐ กิโลกรัม ผลผลิตดังกล่าว ใกล้เคียงกับผลผลิตปลา ในบ้านเรา

            ตามปกติการเลี้ยงหมูควบคู่กับปลานั้น ควรจะเลี้ยงในอัตรา ๓-๔ ตัวต่อเนื้อที่บ่อปลา ๑ ไร่ หมูตัวหนึ่งจะให้มูล ๑.๖-๑.๘ ตันต่อปี และมูลหมู ๑๐๐ กิโลกรัม ให้ผลผลิตปลาไน ๓-๕ กิโลกรัม

            ๗.๓ การเลี้ยงปลากับสัตว์น้ำอื่นๆ

            การเลี้ยงปลารวมกับหอย กุ้ง กบ และพวกสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะพาบน้ำเป็นวิธีการเพิ่มผลผลิต และเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

การจับปลา

            ๘. จับปลาออกเป็นระยะ

            การจับปลาออกเป็นระยะ มีความจำเป็นสำหรับบ่อที่ปลาหนาแน่น และเมื่อผลผลิตถึงขั้นสูงสุด ซึ่งจะสังเกตได้จากการเจริญเติบโตของปลาไม่เพิ่มขึ้น พอถึงขั้นนี้จะต้องจับเอา ปลาบางส่วนออก เพื่อให้มีจำนวนเบาบางลง ปลาที่เหลืออยู่ ก็เจริญเติบโตต่อไป เมื่อปลาโตถึงขั้นที่ให้ผลผลิตสูงสุดก็จับออก วิธีการดังกล่าว จะรักษาระดับผลผลิตสูงสุดของบ่อ ในกรณีที่ปล่อยปลาหลายชนิด หรือหลายกลุ่มอายุร่วมกัน การจับปลาออก เป็นระยะอาจจับเอาตัวโต ที่ได้ขนาดตามตลาดต้องการออกก่อน และทิ้งตัวที่ยังเล็กอยู่ในบ่อให้เจริญเติบโตต่อไป
       
                ๙. ควบคุมโรค

            ผลผลิตของปลาจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพของปลาที่เลี้ยง โรคและพยาธิที่เกิดขึ้นกับปลา และพยาธิที่เกาะอาศัยทั้งภายใน และภายนอกจะทำให้ปลาอ่อนแอ ไม่เจริญเติบโต และตายในที่สุด โรคบางอย่างอาจจะระบาดเร็ว ทำให้ปลาตายทั้งบ่อ ในระยะเวลาอันสั้น การควบคุม และป้องกันโรคพยาธิต่างๆ จึงมีส่วนสำคัญต่อผลผลิตของปลา การป้องกันโรคพยาธิก็คือ ให้ปลามีสุขภาพดีด้วยการให้อาหารสมบูรณ์ และหมั่นถ่ายเทน้ำเสมอ