อาหารสมทบ
การให้อาหารเป็นวิธีการหลักอย่างหนึ่งในการเพิ่มผลผลิต การเลี้ยงปลาหนาแน่นมากจำเป็นต้องให้อาหารสมทบอย่างเพียงพอ แต่การเลี้ยงปลาบางประเภทยังคงอาศัยอาหารธรรมชาติ เช่น การเลี้ยงปลาในครอบครัวปลาไน ซึ่งอาศัยอาหารธรรมชาติครึ่งหนึ่ง และให้อาหารสมทบอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เป็นผลดีทางเศรษฐกิจ แต่การเลี้ยงปลาไน โดยใช้อาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีส่วนประกอบของโภชนาหารที่จำเป็นครบตามที่ปลาต้องการย่อมกระทำได้ หากพิจารณาเห็นว่า เป็นวิธีที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
การให้อาหารสมทบทำให้เลี้ยงปลาได้หนาแน่น อาหารที่เหลือจากปลากิน และสิ่งที่ปลาขับถ่ายออกมาก็จะกลายเป็นปุ๋ย อาหารสมทบที่จัดให้ปลากินนอกเหนือจากอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ ได้แก่
๑. อาหารที่ได้จากพืช
๑.๑ ใบและต้นพืช
ปลากินพืชเป็นอาหาร เช่น ปลาหมอเทศข้างลาย ปลาตะเพียน และปลาแรด ปลาเหล่านี้กินพืชที่มีลักษณะอ่อน หรือส่วนอ่อนของพืช พืชเหล่านี้เป็นเศษพืชผักที่ได้จากสวน ซึ่งมีราคาถูก อัตราส่วนการเปลี่ยนจากพืชผักเป็นเนื้อค่อนข้างต่ำ เช่น ในกรณีปลาเฉา ที่เลี้ยงด้วยหญ้า มีอัตราการเปลี่ยนหญ้าเป็นเนื้อ ๔๘:๑ การเลี้ยงปลาเฉานั้น มักจะปล่อยปลาอื่นลงไปด้วย เช่น ปลาลิ่น ปลาซ่ง และปลาไน โดยอาศัยมูลของปลาเฉาเป็นปุ๋ย และเป็นอาหารปลาอื่น ผลผลิตปลาเฉาในเนื้อที่ ๑ ไร่ ต่อปี อยู่ระหว่าง ๓๐๐-๔๘๐ กิโลกรัม ปลาเฉาขนาดเล็กชอบกินแหนเป็ด และไข่น้ำ
ใบมันสำปะหลังอ่อน
ปลาตะเพียนเป็นปลาที่กินพืช โดยเฉพาะพวกสาหร่าย และแหนเป็ด ถ้าเป็นพวกหญ้า ต้องมีใบอ่อน การให้อาหารสมทบพวกใบพืช เช่น ใบมันสำปะหลังอ่อน มีคุณค่าทางอาหาร เพราะมีโปรตีน ไขมัน และมีกากน้อย นอกจากนั้น ใบมันสำปะหลังยังมีวิตามินเอ บี ซี และแลกโตเฟรวิน ปลาตีลาเบียกินใบมันสำปะหลังวันละร้อยละ ๑๕ ของน้ำหนักตัว
การให้ใบพืชผสมกับอาหารอย่างอื่นจะให้ผลผลิตดีกว่า การเลี้ยงด้วยใบพืชอย่างเดียว เช่น การใช้ใบพืชผสมปลายข้าว หรือผสมกับข้าวโพด จะทำให้อัตราการเปลี่ยนอาหาร เป็นเนื้อดีขึ้น
๑.๒ เมล็ดพืช
เมล็ดพืชใช้เลี้ยงปลาได้ดี ควรใช้เมล็ดพืชที่มีราคาถูกที่คนไม่รับประทาน หรือเมล็ดพืชที่เสื่อมคุณภาพมาใช้เลี้ยงปลา เมล็ดพืชบางอย่างมีโปรตีนสูง เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดพืชบางอย่างมีสารพวกแอลคาลอยด์ ซึ่งไม่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์บก แต่ไม่เป็นพิษกับปลาไน แม้กากเมล็ดละหุ่ง ซึ่งมีสารเป็นพิษใช้เลี้ยงวัวไม่ได้ แต่ให้ปลาไนกินได้ ข้าวและผลพลอยได้จากข้าว ใช้เป็นอาหารสมทบแก่ปลา ปลาไนย่อยพวกเมล็ดธัญพืชได้ดี เมล็ดธัญพืชบางอย่างจะทำให้เนื้อปลามีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ก็แก้ไขได้ด้วยการปล่อยน้ำไหลผ่านปลา น้ำไหลผ่าน ๒-๓ วันกลิ่นต่างๆ ก็จะหมดไป
การให้เมล็ดธัญพืชส่วนใหญ่ต้องบดหรือแช่น้ำเสียก่อน ข้าวเปลือกแช่น้ำเป็นอาหารอย่างดีของปลาไน และปลาไน สามารถย่อยได้ถึงร้อยละ ๘๕-๘๙ ปลาตีลาเบียสามารถเปลี่ยน ข้าวเป็นเนื้อในอัตรา ๔.๕-๙:๑ รำข้าวเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา เกือบทุกประเทศทางตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รำข้าว เหมาะสำหรับปลาเล็ก รำละเอียดจะลอยบนผิวน้ำ และกระจายทั่วบ่อ ทำให้ปลาสามารถเก็บกินได้ และมีอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๔-๖ : ๑
หัวหรือรากพืช
๑.๓ หัวหรือรากพืช
มันเทศ และมันสำปะหลังใช้เลี้ยงปลาได้อย่างดี มันเทศมีโปรตีนร้อยละ ๒ มันสำปะหลังมีโปรตีนน้อยกว่ามันเทศร้อยละ ๑ มันเทศมีน้ำมากเมื่อเทียบกับข้าวโพด เท่ากับ ๓:๑ มันเทศหัวเล็กมีราคาถูกเหมาะที่จะใช้เลี้ยงปลาควบกับเมล็ดธัญพืช แป้งมันสำปะหลังใช้เลี้ยงปลาในบางท้องที่ แต่อัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อค่อนข้างต่ำ คือ ๔๙:๑ ฉะนั้น หากใช้เลี้ยงปลา ต้องใช้ในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้น้ำเสีย ขาดออกซิเจน และจะทำให้น้ำเป็นกรด การใช้มันสำปะหลังจึงควรผสมกับอาหาร ที่มีโปรตีนสูงอื่นๆ
๑.๔ กากเมล็ดพืช
กากมะพร้าว กากถั่วลิสง กากเมล็ดปาล์ม ที่สกัดเอาน้ำมันออก มีโปรตีนสูง เช่น กากเมล็ดถั่วลิสงมีโปรตีนเกือบร้อยละ ๔๐ กากเมล็ดฝ้ายมีโปรตีน ร้อยละ ๒๗ มีไขมัน เซลลูโลส และแป้งสูงด้วย อัตราการ เปลี่ยนเป็นเนื้อของกากพืชดังกล่าวอยู่ระหว่าง ๒.๕-๕:๑
๒. อาหารที่ได้จากสัตว์
๒.๑ ตัวไหม
อาหารหลักที่ใช้เลี้ยงปลาในญี่ปุ่นและจีน ได้แก่ ตัวไหม ตัวไหมมีโปรตีนประมาณร้อยละ ๗๕ มีอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อปลา ๒ : ๑ การเลี้ยงปลาไน ปลาเทราต์ และปลาไหลญี่ปุ่น ใช้เลี้ยงด้วยตัวไหมเป็นส่วนใหญ่ ตัวไหมดังกล่าว จะหาได้เฉพาะในท้องที่ ที่มีการเลี้ยงไหม และในปัจจุบันการเลี้ยงไหมได้ลดลงอย่างมาก การใช้ตัวไหมเลี้ยง ปลาเหลือน้อยเต็มที
หอยขม
๒.๒ หอย
ปลาที่กินหอยเป็นอาหาร ได้แก่ ปลาเฉาดำ การเลี้ยงปลาเฉาดำจำนวนมากในบ่อ จะต้องหาหอยจากแหล่งน้ำอื่นมาเลี้ยงเพิ่มเติม ในบ่อขนาด ๓.๗ ไร่ ต้องใช้หอย น้ำหนักถึง ๑๓๕ ตัน ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อแล้วจะ ได้ ๖๓ : ๑ ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เพราะว่า เปลือกหอยมีน้ำหนักมาก
๒.๓ ปลาทะเลสด
ปลาทะเลที่สดเหมาะที่จะใช้ เลี้ยงปลาได้ดี โดยเฉพาะพวกปลากินเนื้อ ตามปกติปลาทะเลที่นำมาให้ปลากินเป็นปลาขนาดเล็ก หรือปลาใหญ่ที่มีบาดแผล เนื่องจากการจับหรือลำเลียง อัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๖ - ๘:๑ ทั้งนี้ แล้วแต่คุณภาพของปลา ฉะนั้น การใช้ปลาทะเลเลี้ยง ควรจะทำฟาร์มเลี้ยงปลาใกล้ทะเล ปลาทะเลเหมาะที่จะใช้สำหรับเลี้ยงปลา เพื่อขุนให้อ้วนก่อนส่งตลาด และอาจจะใช้ผสมกับอาหารอย่างอื่น เช่น รำและปลายข้าวต้มในอัตราร้อยละ ๕๐
อาหารปลาจากปลาเป็ด
๒.๔ ปลาป่น
ปลาป่นได้จากเศษเหลือของโรงงาน ทำน้ำมันปลา ปลาป่นที่ดีควรมีน้ำมัน และมีเกลือแต่ละอย่าง น้อยกว่าร้อยละ ๓ และไม่มีกระดูกมาก (มีแคลเซียมฟอสเฟต น้อยกว่าร้อยละ ๓๐) ปลาป่นที่ขาดคุณภาพดังกล่าวมักจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับอาหาร และทำให้ลำไส้บวม ปลาป่นที่มีคุณภาพดีจะมีอัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๑.๕:๓ : ๑ ปลาป่นที่ทำจากปลาน้ำจืด มีค่าทางโภชนาหารเท่ากับปลาทะเล แต่ปริมาณของปลาน้ำจืดมีน้อย
กุ้งฝอย
๒.๕ กุ้ง
กุ้งเป็นอาหารที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับ อาหารธรรมชาติ กุ้งสดเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงพ่อแม่ปลา อัตราการเปลี่ยนเป็นเนื้อ ๔-๖ : ๑ กุ้งแห้งเหมาะที่จะใช้เป็นอาหาร หรือผสมกับอาหารอย่างอื่น กุ้งมีโปรตีน และแร่ธาตุสูง เหมาะแก่การนำไปเลี้ยงลูกปลา นอกจากนั้นยังทำให้คุณภาพของเนื้อปลาดีอีกด้วย
๒.๖ เลือดสัตว์
เลือดสัตว์ได้มาจากโรงงานฆ่าสัตว์ สมบูรณ์ด้วยโปรตีน แต่ปริมาณแร่ธาตุมีน้อย อาจใช้เลี้ยงปลาโดยตรงหรือผสมกับอาหารอย่างอื่น
๓. อาหารสำเร็จรูป
การเลี้ยงปลาที่มีราคาในปัจจุบัน นิยมใช้อาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้เพราะความสะดวกต่อการให้อาหาร ง่ายต่อการคำนวณหาอัตราการให้ และสามารถคะเนผลผลิตได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
อาหารสำเร็จเป็นอาหารที่ผสมขึ้นจากวัตถุดิบต่างๆ โดยที่ส่วนประกอบครบถ้วน ตามความต้องการของปลา เพื่อนำไปสร้างเนื้อเยื่อ ของร่างกาย และนำไปสร้างพลังงาน
สูตรอาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงปลาควรประกอบด้วยโปร- ตีนร้อยละ ๒๐-๖๐ ไขมันร้อยละ ๔-๑๘ แป้งร้อยละ ๑๐-๕๐ และมีค่าพลังงาน ๓,๐๐๐ กิโลแคลอรี นอกจากนั้นจะต้องมี ส่วนผสมของเกลือแร่ และวิตามินตามความต้องการของปลา
คุณสมบัติทางกายภาพของอาหาร มีความสำคัญพอๆ กับปริมาณของธาตุอาหารที่มีอยู่อย่างพอเพียง รูปและขนาดของอาหารจะต้องอยู่ในลักษณะที่ปลาชอบ และยอมกิน คือ
๓.๑ อาหารสำหรับปลากินแพลงก์ตอน กินสาหร่าย รวมทั้งอาหารของลูกปลา
ควรมีลักษณะเป็นผงแห้ง เป็นละอองแขวนลอยในน้ำ หรือเป็นก้อนอ่อน ส่วนผสมของ อาหารควรจะคงรูป เช่น ทำให้ข้น ทำให้เป็นก้อนหรือเป็นแป้งเปียก ด้วยการผสมกับแป้งมัน แป้งข้าวเหนียว หรือเจลาติน ทำเป็นผลด้วยการตากแห้ง แล้วกรองด้วยตะแกรง หรือทำเป็นเส้น ด้วยเครื่องบด
๓.๒ อาหารเม็ด
อาหารเม็ดสะดวกต่อการเก็บรักษา การขนส่ง และเหมาะสมกับการใช้เครื่องมือให้อาหารอัตโนมัติ เครื่องที่ใช้ทำอาหารเม็ดมีหลายแบบ อาหารดังกล่าวมี ความชื้นร้อยละ ๑๐-๔๐ อาจจมหรือลอยน้ำ แล้วแต่จะหัดให้ปลากิน อาหารเม็ดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
อาหารเม็ดแข็ง
ก. อาหารเม็ดแข็ง
ทำด้วยการผ่านส่วนผสมของอาหาร ที่เป็นผง เข้าเครื่องทำเม็ด ที่มีความเร็วสูง เติมด้วยไอน้ำ (น้ำร้อยละ ๔-๖) เพื่อให้อาหารลอดรูออกมาสะดวก และทำให้แป้งดิบ ที่ผ่านความร้อน มีลักษณะเป็นวุ้นทำหน้าที่เป็นตัวประสานจับตัวเป็นเม็ด ขนาดของเม็ดแตกต่างตามขนาดของปลาที่จะเลี้ยง อาหารเม็ดแข็งส่วนดีคือ ไม่ทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลาเน่าเสีย
ข. อาหารเม็ดอ่อน
ส่วนผสมของอาหารดังกล่าว จะต้องมีไขมันสูง หรือมีความชื้นร้อยละ ๑๘-๒๐ ตามปกติอาหารเม็ดไม่ควรมีความชื้นเกินกว่าร้อยละ ๑๓ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแปรสภาพโดยจุลินทรีย์ หากมีความชื้นเกินเกณฑ์ดังกล่าวควรจะนำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำ หากจะเก็บไว้นานควรเติมยากันราลงไปด้วย
การที่อาหารเม็ดให้ผลดีกว่า ก็เพราะว่า อาหารเม็ดมีความคงตัวที่จะอยู่ในน้ำได้นานไม่สูญหายละลายไปในน้ำ การเตรียมอาหารนอกจากจะทำเป็นผง หรือเป็นเม็ดแล้ว วิธีการทำอาหารควรจะระมัดระวังไม่ให้วิตามินถูกทำลายด้วย
การให้อาหารปลามีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปริมาณอาหารที่ปลาต้องการ การกินอาหาร อุณหภูมิ และระยะเวลาการให้อาหาร เหล่านี้เป็นต้น
ปัญหาพื้นฐานอันแรกในการให้อาหารปลาก็คือ ปริมาณอาหารที่ปลาต้องการ หากให้อาหารน้อยเกินไป ปลาจะนำอาหารไปใช้ สำหรับการดำรงร่างกาย และเหลือสำหรับการเจริญเติบโตเพียงส่วนน้อย การเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อปลาจึงต่ำมาก หากเราให้อาหารมากเกินไป อาหารก็จะเหลือ
ปริมาณอาหารที่ปลาต้องการจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของ ปลา แต่อัตราร้อยละของความต้องการจะลดลง ตัวอย่างเช่น
ปริมาณอาหารที่ปลาต้องการจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของปลา แต่อัตราร้อยละ ของความต้องการลดลง ตัวอย่างเช่น