เล่มที่ 7
การเลี้ยงปลา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อาหารและการกินอาหาร

            อาหารที่ปลากินเข้าไปใช้สำหรับเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตและแข็งแรง ส่วนที่เหลือใช้ ปลาจะเก็บไว้ในรูปของไขมัน อาหารที่ใช้สำหรับเสริมสร้างร่างกายมีความสำคัญ เป็นอันดับแรก หากอาหารสำหรับเสริมสร้างร่างกายไม่พอเพียง การเจริญเติบโตก็จะมีไม่ได้ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า การเลี้ยงปลา นั้นเราต้องการให้ปลาอยู่สงบเงียบ หากปลาถูกรบกวนหรือตกใจ ใช้กำลังงานมากขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าปลาต้องใช้อาหาร ในการเสริมสร้างร่างกายเพิ่มขึ้น และมีอาหาร สำหรับการเจริญเติบโตน้อยลง

            อาหารของปลาแตกต่างกันไปตามอายุ กล่าวคือ ระยะ แรกภายหลังจากที่ฟักออกจากไข่ ลูกปลาจะยังไม่กินอาหาร แต่จะใช้อาหารจากถุงไข่ที่ติดมากับตัว ระยะเวลาการใช้ อาหารในถุงไข่จะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ระยะที่ ๒ เป็นระยะที่ลูกปลาจะเริ่มกินอาหารก่อนที่อาหารในถุงไข่จะใช้ หมดไป ลูกปลาในระยะนี้ทุกชนิดกินอาหารคล้ายกัน คือ กินแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ เช่น ไรน้ำ และสาหร่าย ขนาดเล็ก ตามด้วยลูกกุ้ง ปู ตัวอ่อนแมลง หนอนแดง และระยะที่ปลาโตเต็มวัย ปลาจะเปลี่ยนมากินอาหารตามชนิดที่ ต้องการ กล่าวคือ กินพืช กินเนื้อ กินทั้งพืชและสัตว์ หรือกินแพลงก์ตอน และเศษเน่าเปื่อยของพืชและสัตว์

นิสัยการกินอาหารของปลา

            ปลาที่นำมาเลี้ยงส่วนใหญ่กินอาหารไม่เลือก นิสัยการกินอาหารของปลาใหญ่จะแตกต่างกันไปตามปริมาณ และชนิดของอาหาร ที่มีอยู่ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆ และอาจเปลี่ยนแปลง ไปตามฤดูกาลซึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหารที่มีอยู่ ณ ที่นั้น นิสัยการกินอาหารของปลาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความสามารถ ทางสรีรวิทยาที่เสาะหาอาหาร ลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ชัด ในพวกปลากินเนื้อ ซึ่งมีปากตรง มีฟันที่จะจับอาหาร และกลืน กินโดยไม่ขบเคี้ยว ส่วนปลาที่ไม่กินเนื้อ เช่น ปลาไน มีปากกว้าง ทำการขุดคุ้ยอาหาร และทำให้ละเอียดก่อนกลืนกิน

ปลาแต่ละชนิดจะหาอาหารที่มีอยู่ตามแหล่งชั้นน้ำต่างๆ กัน กล่าวคือ

            (๑) ปลาที่หากินผิวน้ำ เช่น ปลาลิ่น
            (๒) ปลาที่หากินกลางน้ำ เช่น ปลาช่อน และ
            (๓) ปลาที่หากินตามพื้นที่ก้นบ่อ เช่น ปลาดุกด้าน ปลาพวกนี้มักจะพบโคลนตม เศษเน่าเปื่อย ของอินทรียสารอยู่ในกระเพาะอาหาร

ระบบการย่อยอาหาร

            ระบบการย่อยอาหารของปลา ประกอบด้วยอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น เดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นสูง ซึ่งประกอบด้วย

๑. ปาก

            อยู่ตอนหน้าสุดของหัว ปากอาจแหงนขึ้นอยู่กี่งกลางหรือต่ำลง ซึ่งแสดงถึงลักษณะการกินอาหาร ภายในปากประกอบด้วย คอหอย ทั้งสองข้างของคอหอยมีช่องเปิดของส่วนเหงือก ตัวเหงือกประกอบด้วยก้านเหงือก และเส้นเหงือก ทำหน้าที่ในการหายใจ ก้านเหงือกจะมีส่วนยื่นเป็นหนามเรียกว่า ซี่เหงือก ซึ่งมีจำนวนมากน้อยตามชนิดของปลา ทำหน้าที่กรองอาหารที่ติดมากับน้ำ เข้าสู่คอหอย ปลากินเนื้อจะมีซี่เหงือกห่าง ส่วนปลากินแพลงก์ตอนจะมีซี่เหงือกละเอียด ภายในปากจะมีฟันติดบนขากรรไกร และมีฟันที่ลิ้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก และเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย นอกจากนั้นยังมีฟันบนเพดานปากฟันเหล่านี้ไม่มีราก หลุดได้ง่าย และเกิดทดแทนได้ ฟันของปลากินเนื้อไม่ได้ใช้สำหรับขบเคี้ยว แต่ใช้สำหรับจับอาหาร

ปลาในครอบครัวปลาตะเพียน ซึ่งเป็นปลากินพืช ไม่มีฟันในปาก แต่มีฟันในคอหอย ซึ่งมีขนาดใหญ่แข็งแรง อาจมีแถวเดียว หรือหลายแถว ใช้สำหรับบด และตัดอาหารก่อนส่งเข้าสู่กระเพาะ

๒. กระเพาะอาหาร

            กระเพาะอาหารของปลาขยายตัวได้ง่าย จึงช่วยให้ปลากินอาหารได้มาก เช่น ปลาประเภทกินเนื้อ เป็นปลาที่มีกระเพาะอาหาร แต่มีลำไส้สั้นส่วนปลาประเภทไม่กินเนื้อ เช่น ปลาไน ซึ่งเป็นปลาที่ไม่เลือกกินอาหาร ไม่มีกระเพาะอาหารแต่มีลำไส้ยาว

๓. ลำไส้

            สำไส้ของปลาค่อนข้างสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ปลากินเนื้อ มีการย่อยอาหารที่เริ่มตั้งแต่กระเพาะ และสิ้นสุดในลำไส้ ทำให้ปลาย่อยอาหารได้ดี และช่วยให้ปลากินอาหารได้มากเท่าที่มันจะกินเข้าไปได้ แต่ปลาที่ไม่มีกระเพาะ จะกินอาหารได้จำกัด การย่อยจะเกิดขึ้นเฉพาะในลำไส้ หากกินอาหารมากจะเกิดการสูญเสีย เนื่องจาก ส่วนที่ยังไม่ย่อยจะถูกขับถ่ายออกไป

๔. อวัยวะส่วนอื่นๆ

            นอกจากอวัยวะข้างต้นแล้ว ปลายังมีอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่ช่วยในการผลิตน้ำย่อยอาหาร ได้แก่ ตับ ม้าม และตับอ่อน