โทรเลข (ชนิดใช้กระแสไฟฟ้า)
การค้นพบอำนาจแม่เหล็ก และไฟฟ้าของกรีกโบราณเป็นมูลเหตุให้บุคคลในอดีตคิดค้นกันต่อๆ มา จนกระทั่งสามารถใช้ไฟฟ้า เพื่อกิจการโทรคมนาคม และกิจการอื่นๆ ได้
บุคคลแรกที่ทดลองพิสูจน์ให้เห็นว่า กระแสไฟฟ้าสามารถไหลไปในสายลวดยาวๆ ได้ คือ สตีเฟน เกรย์ (Stephen Gray) เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ (ปลายรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ขุนหลวงท้ายสระ กรุงศรีอยุธยา) แต่ความรู้นี้มิได้ทำให้เขาคิดว่า จะเป็นการเริ่มต้นของการส่งข่าวสารที่รวดเร็ว
ในปี พ.ศ. ๒๒๙๖ (ปลายรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา) มีผู้ใช้นามว่า ซี.เอ็ม. แสดงความคิดเห็นว่า น่าจะใช้การส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวดเป็นวิธีการสื่อสาร เขาแนะให้ใช้ลวดสายหนึ่ง สำหรับส่งตัวอักษรตัวหนึ่งไปปลายทาง เมื่อได้ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าจะดูดชิ้นกระดาษเล็กๆ ที่ปลายสายลวดได้ (สมัยนั้นยังไม่มีหม้อไฟฟ้าหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแส) โดยวิธีนี้จะส่งข่าวสารได้ไกล ๒-๓ กิโลเมตร ด้วยความรวดเร็วมากทีเดียว
ผู้แก้ปัญหานี้ได้ในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์ชาวอิตาลี ชื่อว่า อาเลสซันโดร วอลตา (Alessandro Volta เกิด พ.ศ. ๒๒๘๘ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๓๗๐) วอลตาคิดสร้างหม้อไฟฟ้า ขึ้นได้เป็นคนแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ (รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
เครื่องโทรเลขใช้เข็มแม่เหล็ก ๕ เข็ม ของ คุก และ วีตสโตน สามารถส่งตัวอักษรได้ ๒๐ ตัว ในภาพนี้แสดงการส่งอักษร V ด้วยการให้เข็มหมายเลข ๑ กับเข็มหมายเลข ๔ เฉมาทำเส้นตัดกัน ที่อักษรสายทั้งห้าคือ สาย a b c d e สาย E คือสายต่อลงดิน หม้อไฟฟ้า ใช้ C (ถ่านคาร์บอน) กับ Z (สังกะสี)
ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ (ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ชาวเดนมาร์กชื่อว่า ฮันส์ เออร์สเตด (Hans Oersted เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๓๙๔) ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าเอา เข็มแม่เหล็ก (เช่น เข็มทิศ) วางไว้ใกล้สายลวด เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านไปในเส้นลวดเข็มแม่เหล็กนี้จะกระดิกได้ ความรู้นี้ได้เป็นประโยชน์ ในการสร้างแม่เหล็กไฟฟ้าในเวลาต่อมา และเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในงานโทรเลข
นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า อองเดร มารี อองแปร์ (Andre marie Ampere เกิด พ.ศ. ๒๓๑๘ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๓๗๙) จึงเสนอแนะทันทีว่า อาจใช้การกระดิกของเข็มแม่เหล็กเป็น ประโยชน์ในการรับส่งสัญญาณไฟฟ้าได้ ด้วยการใช้สายเส้นหนึ่ง สำหรับส่งสัญญาณตัวพยัญชนะตัวหนึ่ง
แต่ระบบโทรเลขที่อาศัยการกระดิกของเข็มแม่เหล็กก็ยัง ไม่เกิดขึ้นจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๗๖ (รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ศาสตราจารย์ คาร์ล ฟรีดริค เกาส์ กับศาสตราจารย์ วิลเฮล์ม เวเบอร์ (Wilhelm Weber) แห่งมหาวิทยาลัยเกอทิงเกน ประเทศเยอรมนี จึงได้ทดลองประดิษฐ์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ
ชาวอังกฤษชื่อว่า โจเซฟ เฮนรี (Joseph Henry เกิด พ.ศ. ๒๓๔๐ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๓๑) ขณะเป็นศาสตราจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยพรินส์ตัน สหรัฐอเมริกา ได้ทดลอง ให้เห็นว่า ถ้าเอาเส้นลวดมาพันรอบแกนเหล็กอ่อน แล้วปล่อย กระแสไฟฟ้าให้ไหลไปในเส้นลวดนั้นอำนาจเส้นแรงแม่เหล็ก อันเกิดจากกระแสไฟฟ้าอาจทวีขึ้นได้อีกหลายเท่า
ใน พ.ศ. ๒๓๗๙ วิลเลียม คุก (William Fothergill Cooke เกิด พ.ศ. ๒๓๔๙ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๒๒) ชาว อังกฤษ ผู้ถูกปลดจากประจำการในกองทัพอินเดียตะวันออก เพราะทุพพลภาพเนื่องจากการรบได้กลับมาประเทศอังกฤษ เขาได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ ชาลส์ วีตสโตน (Charles Wheatstone เกิด พ.ศ. ๒๓๔๕ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๑๘) สร้างระบบโทรเลขชนิดรับด้วยเข็มแม่เหล็ก ๕ เข็ม โดยใช้สายลวด ๕ เส้น เพื่อการสื่อสารในกิจการเดินรถไฟได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์) และได้ปรับปรุงเรื่อยมา เพื่อให้ใช้ได้สะดวก ง่ายขึ้น จนสามารถลดจำนวนเข็มแม่เหล็กที่ต้องใช้ลงเหลือ เพียงเข็มเดียวได้ (ภายหลัง สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ได้ทรงแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสอง มีฐานันดรศักดิ์ เป็นเซอร์ วิลเลียม และเซอร์ ชาลส์ ในฐานะ เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาการโทรเลขในประเทศอังกฤษ