เล่มที่ 7
โทรคมนาคม(ภาคแรก)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กิจการโทรเลขในประเทศไทย

            เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ รัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้อนุมัติให้ชาวอังกฤษ ๒ นาย จัดตั้งบริษัทก่อสร้าง และบำรุงรักษาทางโทรเลขภายในราชอาณาจักรตามคำเสนอขอ แต่การดำเนินงานของบุคคลทั้งสอง ล้มเหลว

            ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการเอง โดยมอบหมายให้กรมกลาโหม สร้างทางสายโทรเลขสายแรก จากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ (จังหวัดสมุทรปราการ) และวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไปถึงกระโจมไฟ นอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทางยาว ๔๕ กิโลเมตร เพื่อทางราชการใช้ส่งข่าวเกี่ยวกับการผ่านเข้าออก ของเรือกลไฟ
ตึกที่ทำการโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ในกระทรวงกลาโหม ด้านมุมวังสราญรมย์ (พ.ศ. ๒๔๑๘)
ตึกที่ทำการโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ในกระทรวงกลาโหม ด้านมุมวังสราญรมย์ (พ.ศ. ๒๔๑๘)
            พ.ศ. ๒๔๒๑ กรมกลาโหมได้สร้างทางสายโทรเลขสายที่สอง จากกรุงเทพฯถึงพระราชวัง บางปะอิน และภายหลัง ได้ขยายทางสายออกไปถึงกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการเช่นกัน
ตราไปรษณียากรที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปีการโทรเลขของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๑๘
ตราไปรษณียากรที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปีการโทรเลขของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๑๘)
            ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นรับช่วงงานโทรเลขจากกรมกลมโหมมาทำต่อไป ได้เริ่มสร้างทางสายใช้ลวดเหล็กอาบสังกะสีเป็นสายแรกจากกรุงเทพฯ ผ่านปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ ไปถึงคลองกำปงปลัก ในจังหวัดพระตะบอง (สมัยนั้นยังเป็นของไทย) และเชื่อมต่อกับสายโทรเลขอินโดจีนไปถึงเมืองไซ่ง่อน เป็นสายโทรเลขสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ ได้เปิดให้สาธารณะใช้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๒๖ ในปีเดียวกันนั้น ก็ได้มีประกาศเป็นทางการให้สาธารณชนทั่วไปใช้โทรเลขสาย กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ-อยุธยา ได้ด้วย

            กรมโทรเลขได้สร้างทางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ผ่าน กาญจนบุรีไปถึงชายแดนติดต่อกับเมืองทวายในประเทศพม่า และเชื่อมต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษ ไปยังเมืองมะละแหม่ง เปิดใช้งานเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ (ภายหลังได้เลิกใช้ เนื่องจากการบำรุงรักษาไม่สะดวก เพราะทางสายผ่านป่าดงทึบ และห้วยเขาคงให้เหลือไว้เพียงแค่จังหวัดกาญจนบุรี)
ภายในที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขในอดีต
ภายในที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขในอดีต
            พ.ศ. ๒๔๔๐ กรมโทรเลขได้สร้างทางสายจากกรุงเทพฯ ไปแม่สอด จังหวัดตาก ไปต่อกับทางสายโทรเลขของอังกฤษไปเมืองมะละแหม่ง และย่างกุ้ง
            ทางภาคใต้ ได้สร้างทางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ผ่าน เพชรบุรี ชุมพร ทุ่งสง ไปหาดใหญ่ และสงขลา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้สร้างทางสายต่อจากสงขลาออกไปถึงไทรบุรี (เดิมเป็นของเมืองไทย ปัจจุบันเป็นรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย) และกัวลามุดา เชื่อมต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษ ไปปีนังและสิงคโปร์

            ตึกกรมไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๘๔)ที่ปากคลองโอ่งอ่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดราชบูรณะปัจจุบันได้รื้อตึกนี้ออกเพื่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานที่ ๒

            ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ทางราชการได้รวม กรมโทรเลขเข้ากับกรมไปรษณีย์ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลขมีที่ทำการอยู่ที่ปากคลอง โอ่งอ่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฯ ในปัจจุบัน)

            เมื่อครั้งจัดตั้งกรมโทรเลขขึ้นนั้น ทางราชการไม่สามารถ จัดหาตัวบุคคล ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าประจำตำแหน่งงาน เพราะต้องใช้ความรอบรู้ในวิชาการความชำนาญงาน และต้อง ติดต่อประสานงานกับต่างประเทศอีกด้วย จึงจำเป็นต้องจ้างชาวยุโรปมารับราชการ เป็นเลขานุการช่างกล สารวัตรตรวจการ พนักงานรับส่งสัญญาณโทรเลข ฯลฯ การรับส่งโทรเลข ก็ต้องใช้รหัสสัญญาณมอร์สสากลอักษรโรมัน ดังนั้น ข้อความโทรเลขที่จะส่งไปมาถึงกันได้ จึงต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ หากประสงค์จะส่งข้อความเป็นภาษาไทย ก็ต้องเขียนภาษาไทยด้วยอักษรโรมัน เช่น จะส่งข้อความว่า "ฉันไปไม่ได้" ก็ต้องเขียนเป็น "CHAN PAI MAI DAI" ทำให้อ่านเข้าใจยาก เพราะคำ MAI อาจอ่านเป็น "ไม ไม่ ไม้ ไหม ใหม่ ใหม้ หรือ หม้าย" ก็ได้
ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข (พ.ศ. ๒๔๘๔) ปัจจุบันเป็นตึกที่ทำการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข (พ.ศ. ๒๔๘๔) ปัจจุบันเป็นตึกที่ทำการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
            ด้วยความจำเป็นที่ทางราชการทหารกับกรมรถไฟจะต้อง ใช้สัญญาณโทรเลขแบบเดียวกัน และกรมไปรษณีย์โทรเลข ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้รหัสสัญญาณโทรเลขภาษาไทย ในการรับ ส่งโทรเลขของประชาชนภายในประเทศ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายกระทรวงกลาโหม ฝ่ายกรม รถไฟและฝ่ายกรมไปรษณีย์โทรเลข พิจารณาจัดทำรหัสสัญญาณ โทรเลขมอร์สภาษาไทยขึ้นได้ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ต้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
            การจัดทำรหัสสัญญาณโทรเลขมอร์สภาษาไทยนี้ มิได้ กำหนดรหัสสัญญาณประจำทุกตัวพยัญชนะ และสระ หาก พยัญชนะ หรือสระตัวใดมีเสียงอ่านเหมือนกัน หรือคล้ายกัน ก็กำหนดให้ใช้รหัสสัญญาณเหมือนกัน

            รหัสสัญญาณโทรเลขมอร์สภาษาไทยนี้ ใช้งานได้สะดวก ตลอดมาเป็นเวลานานถึง ๒๔ ปี จึงได้มีการเพิ่มรหัสสัญญาณ "ไม้ยมก (ๆ)" ขึ้นอีกตัวหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

            เครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทย และภาษาอังกฤษเครื่องแรก ประดิษฐ์โดย
ดร. สมาน บุณยรัตพันธ์
เครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทย และภาษาอังกฤษเครื่องแรก ประดิษฐ์โดย

การใช้เครื่องโทรพิมพ์

            ได้มีการใช้เครื่องโทรพิมพ์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยราวปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นเครื่องโทรพิมพ์ภาษาอังกฤษ ระบบ ๕ ยูนิต (คือ ปรุแถบ ๕ รูเป็น อย่างมาก) ใช้ทำงานรับส่งโทรเลขระหว่างที่ทำการโทรเลขกลาง บางรักกับโฮเต็ลพญาไท) ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ในกรุงเทพมหานคร
            ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ดร. สมาน บุญยรัตพันธุ์ ค้นคิดประดิษฐ์เครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จ ต่อมาได้ประดิษฐ์เพิ่มเติม ในเครื่องโทรพิมพ์ทำงานได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเครื่องเดียวกัน เครื่องโทรพิมพ์แบบนี้ มีชื่อเรียกว่า "เครื่องโทรพิมพ์ไทยแบบ เอส พี (S.P.)" พิมพ์ได้ทั้งอักษรไทย และอักษรโรมัน ใช้ระบบ ๖ ยูนิตเครื่องโทรพิมพ์ไทยแบบเอส.พี. โรมัน
เครื่องโทรพิมพ์ไทย
แบบเอส.พี. โรมัน
            กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับรองเครื่องโทรพิมพ์ไทยแบบ เอส.พี. เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้สั่งซื้อเครื่องโทรพิมพ์ไทยจากบริษัท ในประเทศญี่ปุ่น เข้ามาใช้งานรับส่งโทรเลขเป็นรุ่นแรก ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครสวรรค์ กรุงเทพฯ กับอุตรดิตถ์ และอุตรดิตถ์กับเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ และกรมไปรษณีย์โทรเลขถือว่า การรับส่งโทรเลขด้วยเครื่องโทรพิมพ์ระบบนี้ เป็นมาตรฐานของการโทรเลขในประเทศไทยต่อไปด้วย
เครื่องโทรพิมพ์ที่มีอักษรไทยและอักษรโรมันอยู่ในเครื่องเดียวกัน
เครื่องโทรพิมพ์ที่มีอักษรไทย และอักษรโรมันอยู่ในเครื่องเดียวกัน
บริการเทเลกซ์

            กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้เปิดให้ใช้บริการเทเลกซ์เป็น ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายนพ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นบริการเทเลกซ์ ระหว่างประเทศ ติดต่อตรงกับประเทศญี่ปุ่นด้วยคลื่นวิทยุ ความถี่สูง และผ่านประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆ ได้อีก ๑๒ ประเทศ คือ ไต้หวัน แคนาดา สหรัฐอเมริกา เปรู อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เครื่องโทรพิมพ์แต่ละ เครื่องจะป้อนสัญญาณเข้าเครื่องแบ่งช่องสัญญาณ และ เครื่องแก้คำผิดโดยอัตโนมัติ ก่อนที่จะไปเข้าเครื่องส่งวิทยุ ระบบนี้ต้องใช้พนักงานเป็นผู้ต่อสายให้ (manual)
เครื่องแบ่งช่องสัญญาณด้วยเวลา
เครื่องแบ่งช่องสัญญาณด้วยเวลา
            ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ กรมไปรษณีย์ โทรเลขได้เปิดให้ใช้บริการเทเลกซ์ ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เช่าสามารถติดต่อส่งข่าวสารกับผู้เช่าเครื่องโทรพิมพ์อื่นๆ ที่อยู่ในข่ายชุมสายเทเลกซ์เดียวกันได้เอง ต่อมาได้เปิด ชุมสายเทเลกซ์ในต่างจังหวัด คือ ที่หาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา) ลำปาง และนครราชสีมา และได้เปิดชุมสายเทเลกซ์สาขาขึ้นที่ นครสวรรค์ เชียงใหม่ และสระบุรีอีกด้วย ผู้เช่าใช้เครื่อง เทเลกซ์ทุกข่ายสายเทเลกซ์ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด สามารถติดต่อส่งข่าวสารไปได้ทั้งภายในประเทศ และไปต่างประเทศ

            อนึ่ง ในการติดต่อทางบริการเทเลกซ์กับต่างประเทศ ในระยะเริ่มแรก ผู้ใช้บริการจะต้องจองการใช้บริการเทเลกซ์ มายังศูนย์ควบคุมการติดต่อ เพื่อให้พนักงานเทเลกซ์ที่ศูนย์ทำ หน้าที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศให้ นับว่าขาดความสะดวก และไม่รวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ ติดตั้งเครื่องชุมสายเทเลกซ์ต่างประเทศ แบบอัตโนมัติสมบูรณ์ (fully automatic) ซึ่งผู้ใช้บริการเทเลกซ์ในประเทศสามารถ หมุนหมายเลขเรียกติดต่อกับต่างประเทศด้วยตนเองได้โดยตรง ไม่ต้องให้พนักงานประจำศูนย์เป็นผู้เชื่อมโยงสายให้ดังแต่ก่อน นอกจากนั้น ชุมสายเทเลกซ์แบบอัตโนมัติสมบูรณ์ยังทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงให้ผู้ใช้บริการเทเลกซ์ในประเทศ ต่างๆแต่ละประเทศ ได้ติดต่อถึงกันได้โดยผ่านชุมสายเทเลกซ์ อัตโนมัติสมบูรณ์นี้อีกด้วย