เล่มที่ 7
โทรคมนาคม(ภาคแรก)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย

            ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีการนำเครื่องโทรศัพท์เข้ามาประเทศไทยแต่เมื่อใด เป็นแต่เข้าใจกันว่า ประเทศไทยมีเครื่องโทรศัพท์ใช้เป็นครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๒๔ (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕) ติดตั้งที่กรุงเทพฯ เครื่องหนึ่ง กับที่ปากน้ำ (จังหวัดสมุทรปราการ) เครื่องหนึ่ง ใช้สายโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ กับปากน้ำ ซึ่งกรมกลาโหมได้สร้างไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับการผ่านเข้าออกปากแม่น้ำเจ้าพระยาของเรือกลไฟ
เครื่องโทรศัพท์รุ่นแรก สร้างในประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๒๐
เครื่องโทรศัพท์รุ่นแรก สร้างในประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. ๒๔๒๐
สมัยนั้น เรียก "โทรศัพท์" ว่า "เตลิโฟน" ตามเสียงภาษาอังกฤษ telephone (ปัจจุบัน ภาษามาเลเซียเรียกว่า ตาลิโฟน)
            เมื่อตั้งกรมโทรเลขขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ และรับช่วงงานโทรเลขจากกรมกลาโหมมาจัดทำต่อแล้ว เข้าใจว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ กรมโทรเลขคงจะได้รับโอนกิจการโทรศัพท์มาดำเนินงาน และได้ขยายกิจการต่อไป โดยให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรีได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์เป็นครั้งแรก

เครื่องโทรศัพท์ของประเทศฝรั่งเศสพ.ศ. ๒๔๓๓เครื่องโทรศัพท์ของประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ. ๒๔๓๓

            เครื่องโทรศัพท์สมัยแรก เป็นระบบ "แม็กนิโต" (magneto System) มีหม้อไฟฟ้าต่อประจำอยู่กับตัวเครื่อง เพื่อป้อนกระแสไฟเลี้ยงไมโครโฟน หรือที่ทางวิชาการโทรศัพท์เรียกว่า "เครื่องส่ง (transmiter)" ใช้สายเดี่ยว (ส่วนอีกสายหนึ่งต่อลงดินอย่างสายโทรเลข) เมื่อต้องการจะใช้โทรศัพท์ ผู้ใช้ต้องหมุนแม็กนิโตที่ติดอยู่กับตัวเครื่อง จึงจะมีสัญญาณไฟสว่าง และเสียงกระดิ่งดังขึ้นที่ตู้สลับสายโทรศัพท์กลาง แล้วพนักงานโทรศัพท์จะต่อสายสอบถาม และต่อสายไปหาผู้เช่ารายอื่นๆ ที่ต้องการจะพูดด้วย เมื่อเลิกพูดแล้วก็ต้องหมุนแม็กนิโตอีกครั้ง เพื่อให้เกิดสัญญาณขึ้นที่ตู้สลับสาย แล้วพนักงานจะได้ปลดปลั๊กต่อสายออก ในครั้งนั้นมีผู้เช่าโทรศัพท์ ๖๑ ราย และมีทางสายโทรศัพท์ยาวทั้งสิ้นประมาณ ๘๖ กิโลเมตร

เครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติแบบตั้งโต๊ะใช้ในประเทศเยอรมนี
พ.ศ. ๒๔๕๑
เครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติแบบตั้งโต๊ะใช้ในประเทศเยอรมนี พ.ศ. ๒๔๕๑

เครื่องโทรศัพท์ระบบแม็กมิโตมีใช้งานอยู่นานกว่า ๒๐ ปี

            ต่อมาได้มีเครื่องโทรศัพท์แบบใหม่ใช้แรงไฟจากที่ทำการ โทรศัพท์กลาง แต่ว่ายังคงมีพนักงานต่อสายเช่นเดิม กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้สั่งซื้อเครื่องชุมสายโทรศัพท์แบบนี้ มาใช้แทนเครื่องระบบแมกนิโต และติดตั้ง ที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดเลียบ (วัดราชบูรณะเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เครื่องโทรศัพท์แบบใหม่นี้ ใช้สายคู่ และมีการป้องกันมิให้เส้นแรงไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียง เข้ารบกวนการฟังเสียงโทรศัพท์ การใช้โทรศัพท์จึงสะดวกดีขึ้น และเนื่องจากสถานที่ตั้งชุมสายโทรศัพท์เดิม คับแคบ ไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายออกมาตั้งที่ตึกสร้างใหม่ (คือ ตึกชุมสายวัดเลียบปัจจุบัน) หัวถนนจักรเพ็ชร ใกล้กับตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม

เครื่องโทรศัพท์ชนิดหยอดเหรียญเงินใช้ในประเทศออสเตรีย พ.ศ. ๒๔๕๓เครื่องโทรศัพท์ชนิดหยอดเหรียญเงินใช้ในประเทศออสเตรีย พ.ศ. ๒๔๕๓

            ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ จำนวนผู้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ได้เพิ่ม ขึ้นเป็น ๑,๔๒๒ เลขหมาย เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งๆ ผู้เช่าโทรศัพท์ เรียกพนักงานโทรศัพท์กลางให้ต่อสายถึง ๑๖,๕๒๔ ครั้ง เครื่องชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบต้องทำงานหนัก เกือบจะเต็มที่อยู่แล้ว กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ขึ้นที่อาคารเก่าภายในบริเวณไปรษณีย์กลาง บางรัก (เดิมเป็นอาคารหลังหนึ่งในสถานทูตอังกฤษ ต่อมา ได้รื้อลง เพื่อจะสร้างตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังใหม่ ซึ่งเปิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ปัจจุบัน ได้ใช้เป็นที่ทำการ ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย) เป็นขนาด ๙๐๐ เลขหมาย เพื่อ แบ่งเอาผู้เช่าโทรศัพท์ ในบริเวณตอนล่างของกรุงเทพฯ มาเข้าชุมสายบางรักเสียบ้าง
            ความดำริที่จะเปลี่ยนเครื่องชุมสายโทรศัพท์เป็นระบบอัตโนมัติ ได้มีขึ้น ในสมัยที่ นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ และคมนาคม โดยทรงพิจารณาเห็นว่า เครื่องชุมสายโทรศัพท์ ระบบใช้แรงไฟฟ้าจากที่ทำการโทรศัพท์กลางวัดเลียบ มีอายุใช้งานมากกว่า ๒๕ ปีแล้ว สภาพของเครื่องทรุดโทรม ไม่สะดวกแก่การใช้ การจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องอุปกรณ์ก็ยากลำบาก และมีราคาสูง เนื่องจากบริษัทผู้สร้างเครื่องชุมสายโทรศัพท์แบบเก่า ได้หันไปสร้างเครื่องชุมสายโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่เครื่องโทรศัพท์ใช้แมกนิโตของอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๕๓
เครื่องโทรศัพท์ใช้แมกนิโตของอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๕๓
            ดังนั้น กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้สั่งซื้อเครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติแบบทีละขั้นๆ (หรือแบบสเตราเยอร์) จากบริษัทเยเนรัล อิเล็กตริก แห่งประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ สำหรับชุมสาย วัดเลียบจำนวน ๒,๓๐๐ เลขหมาย และสำหรับชุมสายบางรัก จำนวน ๑,๒๐๐ เลขหมาย

เครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติแบบหมุนแป้นหมาย-เลขของอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๖๗เครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติแบบหมุนแป้นหมายเลขของอังกฤษ
พ.ศ. ๒๔๖๗

            เมื่อได้ติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ทั้งสองแห่ง และเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ตามบ้านผู้เช่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตัดเปลี่ยนเลขหมาย และเปิดใช้ชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ โดยผู้เช่าหมุนตัวเลขบนหน้าปัดติดต่อถึงกันได้เองเป็นครั้งแรก เมื่อ เวลา ๐๐.๐๑ นาฬิกา (๒ ยามกับ ๑ นาที) ซึ่งเป็นเวลาย่างวัน ใหม่ของวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐
ตราไปรษณียากรที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี การโทรศัพท์ของประเทศไทยเป็นรูปเครื่องโทรศัพท์แบบแมกนิโต
ตราไปรษณียากรที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี การโทรศัพท์ของประเทศไทยเป็นรูปเครื่องโทรศัพท์แบบแมกนิโต
            เนื่องจากประชาชนนิยมใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้สร้างชุมสายโทรศัพท์เพิ่มเติม คือ ชุมสายโทรศัพท์เพลินจิต (เปิดใช้เมื่อ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔) กับชุมสายโทรศัพท์สามเสน (เปิดใช้เมื่อ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕) ซึ่งเป็นเตรียมการจัดตั้งชุมสายโทรศัพท์ธนบุรีอีกด้วย
เครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติแบบหมุนแป้นหมายเลข เริ่มใช้ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
เครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติแบบหมุนแป้นหมายเลข เริ่มใช้ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
            ต่อมาในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยแยกกองช่างโทรศัพท์ (ซึ่งดำเนินงานโทรศัพท์เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรี) ออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้ชื่อว่า "องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย" สังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินงานในด้านโทรศัพท์ภายในประเทศ สืบมาจนปัจจุบัน
เครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติแบบทีละขั้นๆ
เครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ
แบบทีละขั้นๆ
            องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานจัดตั้งชุมสายโทรศัพท์ธนบุรี ต่อจากที่กรมไปรษณีย์โทรเลขทำค้างไว้จนเสร็จ และได้ตั้งชุมสายโทรศัพท์พหลโยธิน (เปิดใช้งาน พ.ศ. ๒๕๐๕) ชุมสายโทรศัพท์ชัยพฤกษ์ (เปิดใช้งานปลาย พ.ศ. ๒๕๐๖) ชุมสายโทรศัพท์กรุงเกษม (เปิดใช้งานปลาย พ.ศ. ๒๕๐๗)
            ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้รับโอนงานโทรศัพท์ในส่วนภูมิภาคจากกองช่างโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลขจำนวน ๑๐ ชุมสาย ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับโอนอีก ๓๗ ชุมสายเป็นงวดสุดท้าย
ห้องควบคุมชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
ห้องควบคุมชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
            พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ติดตั้งชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ ระบบครอสส์บาร์ (crossbar) ซึ่งเป็นระบบใหม่สำหรับประเทศไทย ที่จังหวัดยะลา เป็นแห่งแรก จังหวัดชลบุรี เป็นแห่งที่ ๒ และที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นแห่งที่ ๓ ส่วนในเขตนครหลวงได้ติดตั้ง ที่ชุมสายโทรศัพท์ชัยพฤกษ์เป็นแห่งแรก
ชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
            ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้รับโอนงานโทรศัพท์ทางไกลในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งใช้สายเคเบิลร่วมแกน (co-axial cable) และระบบถ่ายทอดวิทยุด้วยความถี่สูง ยิ่งยวด (super high frequency) หรือที่เรียกกันว่า ไมโครเวฟ) จากสำนักงานดำเนินการตามโครงการโทรคมนาคม กระทรวงคมนาคม และใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับโอนงานโทรศัพท์ทางไกล ในภาคเหนือ และภาคใต้จาก สำนักงานดำเนินการตามโครงการโทรคมนาคมอีกเช่นกัน
จานสายอากาศวิทยุไมโครเวฟเพื่อถ่ายทอดโทรศัพท์ทางไกล
จานสายอากาศวิทยุไมโครเวฟ
เพื่อถ่ายทอดโทรศัพท์ทางไกล
ปัจจุบัน ประชาชนสามารถพูดติดต่อถึงกันได้ทั่วประเทศไทยด้วยโทรศัพท์อัตโนมัติ คือ หมุนหมายเลขโทรศัพท์ ถึงกันได้เอง ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถหมุนหมายเลขโทรศัพท์ ผ่านดาวเทียมโทรคมนาคมไปต่างประเทศได้อีกด้วย