เล่มที่ 7
โทรคมนาคม(ภาคแรก)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แผ่นป้ายสัญญาณ

            อาจกล่าวได้ว่า โทรคมนาคมแบบแรกที่มนุษย์รู้จักทำขึ้นใช้ก็คือ แผ่นป้ายสัญญาณ (semaphore)

            ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๗ (รัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา) รอเบิร์ต ฮุก (Robert Hooke) ได้บรรยายในที่ประชุมของราชสมาคมแห่ง ประเทศอังกฤษ ถึงวิธีการส่งข่าวสารชนิดใช้สายตามอง แต่ไม่เคยมีใครนำมาปฏิบัติได้จริงๆ เลย
ส่วนบนของเครื่องโทรเลขชนิดใช้สายตามองที่ชัปป์เป็นผู้ออกแบบ
ส่วนบนของเครื่องโทรเลขชนิดใช้สายตามอง ที่ชัปป์เป็นผู้ออกแบบ
            จนเวลาล่วงมา ๑๐๐ ปีกว่า จึงมีชาวฝรั่งเศส คือ คลอด ชัปป์(Claude Chappe เกิด พ.ศ. ๒๓๐๖ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๓๔๘) สามารถสร้างระบบการส่งข่าวสารชนิดใช้สายตามอง ได้สำเร็จ เขาตั้งชื่อระบบนี้ว่า โทรเลข และได้สร้างใช้งานทั่ว ประเทศฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๓ (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์)
            สถานี "โทรเลข" แผ่นป้ายสัญญาณ ของชัปป์ เป็นหอคอย มีเสาไม้ต่อตั้งตรงขึ้นไปจากหลังคา และมีไม้ขวางแบบกางเขน เจาะเดือยตรงกลางเข้ากับเสาไม้นี้ แล้วใช้เชือกดึงไม้กางเขนให้กระดกเป็นมุม หรืออยู่ในท่าต่างๆ ได้ ที่ปลายไม้กางเขนแต่ละข้างยังมีไม้ตั้งฉากติดอยู่อีก ซึ่งเคลื่อนที่ได้ด้วยเหมือนกัน
            การส่งข่าวก็ใช้วิธีดึงให้กางเขนอยู่ในท่า หรือมุมต่างๆ กัน และสถานี "โทรเลข" แผ่นป้ายสัญญาณถัดไป จะเห็นแผ่นป้ายสัญญาณนี้ได้ด้วยกล้องส่องทางไกล ท่าหรือมุม ที่ไม้กางเขนปรากฏอยู่ จะเป็นเครื่องหมายรหัสแทนคำพูด หรือตัวอักษร (ทำนองเดียวกับสัญญาณธงในสมัยต่อมา)
แผ่นป้ายสัญญาณ "หางปลา" ที่ใช้ในการเดินรถไฟ
แผ่นป้ายสัญญาณ "หางปลา" ที่ใช้ในการเดินรถไฟ
            ข่าวการสร้างระบบ "โทรเลข" แผ่นป้ายสัญญาณของชัปป์ ได้กระจายไปถึงประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๓๔๓ สหรัฐอเมริกาก็มีระบบ "โทรเลข" แผ่นป้ายสัญญาณใช้เป็นครั้งแรก ส่วนในทวีปยุโรปประเทศต่างๆ ก็เริ่มใช้ระบบ "โทรเลข" แผ่นป้ายสัญญาณกันแพร่หลายด้วย

            แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว การใช้ระบบ โทรคมนาคมชนิดแผ่นป้ายสัญญาณก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป เช่น การสื่อสารระหว่างเรือรบกับเรือรบ ทหารเรือยังใช้ธงสัญญาณ โดยยื่นแขนถือธงในท่าต่างๆ มีความหมายเป็นรหัส หรือตัวอักษร อย่างที่เรียกกันว่า "ตีธง" เป็นวิธีส่งข่าวสารถึงกัน ที่เห็นกันมากก็คือ แผ่นป้ายสัญญาณตามสถานีรถไฟที่เรียกว่า "หางปลา" ยังคงเป็นสัญญาณสื่อสารแจ้งทางสะดวก ให้แก่พนักงานขับรถจักรรถไฟทั่วโลก