เครื่องโทรพิมพ์ การใช้เครื่องรับส่งโทรเลขแบบมอร์สดั้งเดิมที่มีคันเคาะ และเครื่องทำเสียงส่งโทรเลขด้วยมือ เคาะเป็นรหัสสัญญาณมอร์สเช่นนี้ ยังคงใช้กันอยู่ทั่วไปตามสถานีรถไฟ และที่ทำการ โทรเลขในเมืองเล็กๆ ซึ่งมีจำนวนโทรเลขรับส่งต่อวันไม่มากนัก เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย แต่การรับส่งทำได้ช้า คือจะทำได้อย่างเร็วเพียงประมาณ ๑๒๕ ตัวอักษรโรมันต่อ ๑ นาที พนักงานรับส่งโทรเลขจะต้องฝึกเรียนรหัสสัญญาณโทรเลข และจดจำจนขึ้นใจด้วย ซึ่งจะต้องใช้เวลาแรมปี จึงจะมีความชำนาญเพียงพอ ในสมัยปัจจุบัน จึงเปลี่ยนไปใช้เครื่องรับส่งโทรเลข ชนิดที่พิมพ์เป็นตัวอักษรโดยอัตโนมัติกันมากขึ้น เพราะสามารถรับส่งโทรเลขได้เร็วถึง ๓๐๐ ตัวอักษรโรมันต่อ ๑ นาทีเป็นอย่างน้อย และพนักงานรับส่งโทรเลขไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ และจดจำรหัสสัญญาณโทรเลขด้วย | |
เครื่องโทรพิมพ์สำหรับส่งโทรเลข | |
เครื่องจักรกลที่ใช้รับส่งโทรเลขเป็นตัวอักษรได้โดยอัตโนมัตินี้เรียกว่า เครื่องโทรพิมพ์ (ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า teletypewriter แต่ในอังกฤษ เรียกว่า teleprinter) ลักษณะเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดามีแป้นอักษร ๓ แถวบ้าง ๔ แถวบ้าง ตามแต่ผู้ประดิษฐ์จะเห็นเหมาะสม เมื่อกดแป้นอักษร (เหมือนกับดีดเครื่องพิมพ์ดีด) เครื่องจะเจาะหรือปรุ แถบกระดาษบางๆ แต่เหนียว ให้เป็นรูทางด้านขวางมีจำนวน รูตามแต่จะกำหนดไว้สำหรับตัวอักษรนั้นๆ ตั้งแต่ ๑ - ๕ หรือ ๖ รู สลับที่กัน แถบกระดาษนี้จะเคลื่อนไปทุกครั้งที่กด แป้นอักษร ๑ ตัว เมื่อปรุแถบทุกตัวอักษรของข้อความในโทรเลขฉบับนั้นแล้ว พนักงานก็จะเอาแถบกระดาษนี้ ป้อนเข้าเครื่องส่ง เพื่อให้ส่งเป็นสัญญาณกระแสไฟฟ้าไปในสายโทรเลข เมื่อไปถึงปลายทาง สัญญาณกระแสไฟฟ้าจะไปบังคับให้เครื่องพิมพ์เป็นตัวอักษรออกมาเอง |