เล่มที่ 7
โทรคมนาคม(ภาคแรก)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โทรภาพ

            ความคิดที่จะส่งภาพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยอาศัยกระแสไฟฟ้านั้น เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับโทรเลขใช้กระแสไฟฟ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อ อะเล็กซานเดอร์ เบน (Alexander Bain) ได้เสนอเครื่อง ส่งภาพ โดยใช้กระแสไฟฟ้าไปทางสายลวด วิธีของเบนมีหลักการพื้นฐานที่ถูกต้องนับแต่เบื้องต้น และเครื่องโทรภาพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ใช้หลักการที่เบนให้ไว้ทั้งสิ้น
เครื่องรับส่งโทรภาพ
เครื่องรับส่งโทรภาพ
            ผู้ที่ค้นคว้าประดิษฐ์ระบบส่งโทรภาพได้สำเร็จเป็นคนแรก คือชาวฝรั่งเศส ชื่อ คาเซิลลี (Caselli) เขาได้ทดลองส่งโทรภาพทางสาย ระหว่างกรุงปารีส กับเมืองต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) เป็นผลสำเร็จ

            อุปกรณ์รับภาพ (เจ้าหน้าที่ปลายทาง กำลังติดต่อกับเจ้าหน้าที่ต้นทางด้วยโทรศัพท์ เพื่อแจ้งว่า พร้อมที่จะรับภาพ หรือรับภาพได้แล้ว)

            ชาวอเมริกา ชื่อ เอลิชา เกรย์ (Elisha Gray เกิด พ.ศ. ๒๓๗๘ ถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๔๔) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ประดิษฐ์เครื่องส่งภาพตัวอักษรเส้นลายมือเขียน ภาพร่าง และภาพลายเส้นต่างๆ ไปทางสาย โดยใช้กระแสไฟฟ้า เขาตั้ง ชื่อว่า "เทลอะเทอะกราฟ (talautograph)" การทำงานของเครื่องเป็นดังนี้คือ เมื่อใช้ปากกา หรือโลหะแหลมๆ เขียนตัวหนังสือหรือเขียนภาพที่ต้นทาง ปากกา หรือเครื่องเขียนที่ปลายทาง จะลากเส้นไปเช่นเดียวกับที่ต้นทาง จึงเกิดเป็นภาพ ลายเส้นตัวหนังสือ หรือภาพเขียนเหมือนกับที่เขียนอยู่ต้นทาง

ภาพถ่ายฯ พณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะเข้าพบนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษณ บ้านพักนายกรัฐมนตรี ถนนดาวนิง ภาพนี้เป็นภาพที่ส่งจากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ
เมื่อ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ มาทางโทรภาพ
            เครื่องโทรภาพอีกแบบหนึ่งเรียกว่า แฟ็กซิมิลิ (facsimile) หรือ picture telegraph สามารถส่งภาพถ่าย เช่น ภาพเหตุการณ์ ภาพภูมิประเทศ ภาพเอกสาร ภาพลายนิ้วมือ เป็นต้น โดยวิธีเอากระดาษภาพติดทาบเข้ากับกระบอกที่หมุนได้รอบตัว และเลื่อนจากหัวถึงท้ายทีละน้อยๆ ได้ แล้วใช้ลำแสงเล็ก ประดุจปลายดินสอดำ ส่องลงไปบนภาพนั้น กระบอกที่มีภาพติดทาบอยู่ จะหมุนไปรอบตัว และเลื่อนจากหัวไปท้ายทีละแนวๆ ประมาณ ๓๕ แนว หรือเส้น ต่อพื้นที่ยาว ๑ เซนติเมตร แสงที่สะท้อนจากภาพ จะเข้าหลอดโฟโตอิเล็กทริก (photo-electric cell) และหลอดนี้จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่มีความแรงมากน้อยต่างๆ กัน ตามความสว่างและมัว (ขาว-เทา-ดำ) ของจุดที่แสงพุ่งไปกระทบ (คือตอนใดของภาพเป็นสีขาว จะเกิดกระแสไฟฟ้ามาก ตอนใดของภาพเป็น สีดำ จะไม่มีกระแสไฟฟ้าจากหลอด และถ้าตอนใดเป็นสีเทา หรือดำน้อยลง กระแสไฟฟ้าก็จะไหลได้บ้าง) แล้วจึงเอากระแสนี้เพิ่มความแรง และส่งไปในสาย

            ในด้านการรับ กระแสไฟฟ้าที่ส่งมาทางสาย จะมาเข้า หลอดเกิดแสง (glow lamp) ทำให้มีแสงสว่างออกมามาก น้อยตามแต่จำนวนกระแสที่เข้ามาสู่หลอด แล้วใช้แสงนี้พุ่ง เข้าหากระดาษน้ำยา หรือฟิล์มถ่ายรูป (ทำนองเดียวกับการ ถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ที่ปล่อยให้แสงผ่านเลนส์หน้ากล้อง เข้าไปหาฟิล์ม) ทำให้เกิดเป็นภาพขาว-ดำ หรือเป็นสีเทาจาง เหมือนอย่างภาพที่ส่งอยู่ที่ต้นทาง