ความเป็นมาของการสาธารณสุขของโลก
สมัยก่อนคริสตกาล
คนในสมัยโบราณรู้จักการทำความสะอาด และรักษาอนามัยส่วนบุคคล เนื่องจากเหตุผลทางศาสนาเป็นสำคัญ คือ มุ่งที่จะให้ตนเองบริสุทธิ์สะอาดในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือในการสวดมนต์ภาวนา นับเป็นพันๆ ปีมาแล้ว เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น พลโลกมักจะเข้าใจกันว่า เป็นเพราะพระผู้เป็นเจ้าลงโทษ จึงเป็น สิ่งที่อยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ ในการป้องกันตนเอง สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ การแยกหรือกำจัดผู้ป่วยให้พ้นจากครอบครัว และชุมชน
อย่างไรก็ดี ในระหว่างศตวรรษที่ ๔ และ ศตวรรษที่ ๕ ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นสมัยอารยธรรมกรีก มีหลักฐานปรากฏว่า มนุษย์เรารู้จักคิดหาสาเหตุ ของโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในระหว่าง ปี ๕๐๓-๔๐๓ ก่อนคริสตกาล พบว่าไข้จับสั่น (มาลาเรีย) มีความสัมพันธ์กับแหล่งที่มีน้ำขัง ในหนังสือเรื่อง "อากาศ น้ำ และแผ่นดิน" ซึ่งเขียนโดย ฮิปโปคราเตส (Hippocrates) ก็มีข้อความพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง โรคภัยไข้เจ็บ กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐาน ของแนวความคิดเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บในยุคต่อมา
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ในระหว่าง ๓,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏว่า ชนเชื้อชาติไมนอนส์ (Minoans) และเครตันส์ (Cretans) สร้างระบบเก็บกักน้ำ และระบายน้ำใช้ในท้องถิ่นของตนเอง ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ปราชญ์เฮโรโดตุส (Herodotus) ได้บันทึกไว้ว่า ชนชาติแรกที่ได้ชื่อว่า มีสุขภาพอนามัยดีกว่าเพื่อน ในหมู่ชาติ ที่รุ่งเรือง อยู่ในยุคนั้น ได้แก่ ชนเชื้อชาติอียิปต์ ซึ่งมีหลักฐานว่า รู้จักรักษาอนามัยส่วนบุคคล รู้จักเก็บกักน้ำ และมีท่อระบายน้ำสาธารณะ ชาวฮิบรูได้ถ่ายทอดความรู้ และการปฏิบัติ จากชาวอียิปต์ โดยปรากฏในข้อเขียนของลีวิติคุส (Leviticus) ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นกติกาอนามัยฉบับแรกแห่งโลก กำหนดให้ประชาชนรักษาอนามัยส่วนบุคคล ให้ชุมชนมีหน้าที่ช่วยกัน ป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ เก็บกักผู้ป่วยโรคเรื้อน
ทำลายแหล่งแพร่โรค ปรับปรุงการสุขาภิบาล และส่งเสริมการอนามัยแม่ การสาธารณสุขของชาวอียิปต์ มุ่งที่การอนามัยส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ส่วนผู้ที่อ่อนแอเจ็บป่วย หรือพิการ มักจะทอดทิ้ง หรือทำลายเสีย
สะพานสำหรับวางท่อน้ำของโรมันโบราณ เพื่อส่งน้ำจากยอดเขาเข้ามาในเมือง
สมัยจักรวรรดิโรมันที่เรียกได้ว่า มีความเจริญทางอารยธรรมเหนือกว่าชาติอื่น ชาวโรมันรู้จักการสำรวจ สำมะโนประชากรเบื้องต้น โดยมีกฎหมายบังคับให้มีการลงทะเบียนาษฎรและทาส กฎหมายป้องกันการเสื่อมโทรมของอาคารและสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมสถานเริงรมย์ และมีระบบระบายน้ำและน้ำใช้ ตลอดจนที่อาบน้ำสาธารณะ มีหลักฐานปรากฏว่า ท่อระบายน้ำบางส่วน ที่สร้างขึ้นสมัยก่อนคริสตกาล ยังใช้อยู่ในกรุงโรมสมัยปัจจุบัน โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบใหม่
ยุคกลาง
ในยุคเริ่มต้นของคริสต์ศาสนา เรียกกันว่า ยุคมืดแห่งการสาธารณสุข อิทธิพลทางแนวความคิดสมัยจักรวรรดิโรมัน ได้รับการต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการอนามัยส่วนบุคคล และการสุขาภิบาล แม้แต่การมอง เพื่อสำรวจตนเองก็ถือว่า เป็นบาป ชาวบ้านในยุคนี้จึงไม่สนใจต่อการชำระล้างร่างกาย เครื่องนุ่งห่มก็ไม่สะอาด กล่าวกันว่า สาเหตุนี้เอง ที่ทำให้มีการใช้น้ำหอมในตอนปลายของยุคนี้
แผนที่แสดงการสำรวจทางบกและทางทะเล
การทำอาหารก็เช่นเดียวกัน มักจะทำอย่างง่ายๆ ไม่พิถีพิถัน และขาดคุณค่าทางโภชนาการ นิยมอาหารประเภทหมักดอง หรือของแห้ง เป็นผลให้เครื่องเทศเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการทำอาหาร จึงได้มีการสำรวจทางบก และทางเรือ เพื่อหาทางไปเสาะแสวงหาเครื่องเทศ ในดินแดนห่างไกล
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ศาสนาอิสลามเริ่มแผ่ ไปยังทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย และแถบ คาบสมุทรบอลข่านและไอบีเรีย ก่อให้เกิดการเดินทาง ไปยังกรุงเมกกะอย่างมากมายเพื่อการจาริกแสวงบุญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประเทศอินเดีย ซึ่งในสมัยนั้นเป็น แหล่งระบาดของอหิวาตกโรค เป็นผลทำให้อหิวาตกโรค ระบาดกระจายไปแทบทุกประเทศที่มีการเดินทาง เพื่อการจาริกแสวงบุญ
นอกจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามแล้ว การเดินทางของผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์จากประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปไปยังทวีปอื่นๆ ได้ทำให้อหิวาตกโรคมีโอกาสเข้าไปฟักตัวในทวีปยุโรปและเคลื่อนที่ต่อไปยังทวีปอเมริกาในที่สุด เป็นผลให้เกิดการระบาด ของอหิวาตกโรค อย่างรุนแรงหลายครั้ง นอกจากนี้ยังปรากฏว่า โรคเรื้อนได้ระบาดจากอียิปต์มาสู่เอเชียไมเนอร์และไปสู่ทวีปยุโรป โดยมีสาเหตุมาจากการเดินทางเผยแพร่ศาสนา และการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรในยุคนั้นด้วย
แผนที่แสดงการระบาดของโรคเรื้อน
การที่โรคเรื้อนระบาดในทวีปยุโรป เป็นผลให้ มีมาตรการป้องกันการระบาดของโรค ส่วนใหญ่กระทำ โดยการกำจัด และทำลายล้างผู้ติดโรค หลายประเทศได้ ออกกฎข้อบังคับให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนสวมเสื้อผ้าที่แตกต่างจากคนทั่วไป แขวนระฆังไว้ที่คอ เพื่อไปไหนมาไหน คนจะได้ยินเสียงและหนีทัน บางแห่งถึงกับห้ามมิให้คนเป็นโรคเรื้อน เข้าไปปรากฏในชุมชน หากฝ่าฝืนจะถูกกำจัด โดยวิธีนี้ ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ถูกเนรเทศออกไป ก็มักจะอดตาย เพราะไม่มีอาหาร และไม่ได้รับการรักษาพยาบาล แต่อย่างใด วิธีกักบริเวณและเนรเทศผู้ป่วยดังกล่าวแล้ว ถึงแม้จะไม่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ทำให้โรคเรื้อนหมดไปจากยุโรปได้ในที่สุด
หลังจากที่โรคเรื้อนทุเลาเบาบางลงเป็นลำดับ กาฬโรคหรือที่ชาวโลกรู้จักกันในนามว่า "ความตายสีดำ" หรือ "black death" ก็ย่างเข้ามาในยุโรป โดยมีสาเหตุมาจากการติดต่อค้าขายระหว่างยุโรปกับดินแดนทางตะวันออกและทวีปเอเชีย กาฬโรค เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และทำลายชีวิตมนุษย์มากมายอย่างที่ไม่มีโรคใดทัดเทียม และจากการที่กาฬโรคระบาดนี้เอง ทำให้พลโลกมีความกระตือรือร้นในด้านการป้องกันโรคมากขึ้น
ผลพลอยได้ในแง่ของการสาธารณสุขอันเนื่องมาจากการระบาดของกาฬโรคก็คือ การเริ่มจัดให้มีด่านกักโรค เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ ที่กรุงเวนิส ใน พ.ศ. ๑๓๔๘ เรือสินค้าและผู้โดยสารที่ต้องสงสัยว่า มาจากเขตติดโรค จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นท่าเรือ ในบางแห่งเรือต้องจอดอยู่นานถึง ๒ เดือนในบริเวณด่านกักโรค เพื่อพิสูจน์ว่า ไม่มีการระบาดของโรค แสดงว่าแนวความคิดที่เกี่ยวกับระยะฟักตัวของโรคคงจะมีมานานแล้ว ถึงแม้ว่าความเชื่อว่า พระเจ้า และโชคลาง เป็นสิ่งบันดาลความเจ็บป่วยให้เกิดแก่คนยังมีอยู่บ้างก็ตาม
สมัยก่อนคริสตกาลและยุคกลาง เชื่อกันว่าโรค ภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น คอตีบ บิด ไทฟอยด์ ไทฟัส กามโรค และโรคธรรมดาสามัญอื่นๆ คงจะมีปรากฏเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีโรคอื่น ที่ร้ายแรงกว่ามาก จึงทำให้โรคเหล่านี้ ดูเป็นธรรมดาสามัญไป
ที่น่าสังเกตว่าการสาธารณสุขในยุคกลางไม่มีเนื้อหาสาระใดๆ นอกเหนือไปจากการรู้จักการกักกันผู้ป่วย การทำลายผู้ติดเชื้อ โดยเริ่มเข้าใจว่า โรคติดต่อมีระยะฟักตัว และเข้าใจความจำเป็นในการจัดให้มีด่านกักโรคต่างๆ
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา
ความเชื่อถือของมนุษย์ที่ว่า พระเจ้า บาปบุญคุณโทษ และโชคลาง เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บในยุคกลาง หรือยุคมืดค่อยๆ คลี่คลายมาสู่ความสว่างไสวในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือที่เรียกว่า "renaissance" ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ในยุคนี้ มีแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยปรัชญาเมธีชาวตะวันตก เช่น เดส์การตส์ (René Descartes) คูวิเยร์ (Georges Cuvier) สมิท (Adam Smith) โวลแตร์ (François Marie Arouet 'Voltaire') ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) และอีกมากมายหลายท่าน ซึ่งเป็นผลให้คนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ คิดถึงเหตุผลและศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ โดยไม่ปล่อยให้ตนเองอยู่ใต้อำนาจเร้นลับของโชคชะตาราศีแต่เพียงอย่างเดียว
อันเดรอัส เวซาลิอุส
ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ นัก กายวิภาคศาสตร์ เชื้อสายเฟลมมิช ชื่อ อันเดรอัส วีซาลิอุส (Andreas Vesalius, ค.ศ. ๑๕๑๔-๑๕๖๔) ค้นพบระบบกายวิภาคศาสตร์เบื้องต้น ของมนุษย์ วิลเลียม ฮาร์วีย์ (William Harvey, ค.ศ. ๑๕๗๘ - ๑๖๕๗) แพทย์ ชาวอังกฤษ ค้นพบระบบวงจรโลหิต จิโรลาโม ฟราคาสโทโร (Girolamo Fracastoro, ค.ศ. ๑๔๗๘-๑๕๕๓) แพทย์ชาวเวนิส พบว่า โรคติดต่อระบาดได้โดยมีผู้สัมผัสโรคเป็นสื่อนำ นอกจากนี้ก็มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นกล่าวได้ว่า ยุคนี้เป็นระยะที่มีการวางรากฐานเกี่ยวกับการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรค อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินงานทางสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เป็นความเคลื่อนไหว ของนักวิชาการ และชุมชนในบางท้องที่เท่านั้น
ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ การสาธารณสุขของโลกได้เจริญขึ้นทั้งในทางป้องกัน และรักษา โดยเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner, ค.ศ. ๑๗๔๙-๑๘๒๓) แพทย์ชาวอังกฤษ คิดวิธีปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษได้สำเร็จ โรเบิร์ต ค็อก (Robert Koch, ค.ศ. ๑๘๔๓-๑๙๑๐) ชาวเยอรมัน ค้นพบวิธีแยกเชื้อบัคเตรี ลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur, ค.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๙๕) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรค และวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับยุงและแมลงที่เป็นพาหะนำโรค และหลังจากนั้นก็มีการศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างโรคภัยไข้เจ็บ และชุมชนอย่างกว้างขวาง
รอเบิร์ต ค็อก
ความก้าวหน้าของการสาธารณสุขเป็นผลให้อัตราการตายของพลโลก อันเนื่องมาจาก โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ลดน้อยลง มีการสร้างโรงพยาบาล ฝึกอบรมแพทย์พยาบาล และบุคลากรระดับผู้ช่วย และจัดตั้งองค์การต่างๆ เพื่อการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ โดยเริ่มจากประเทศที่เจริญแล้ว และเผยแพร่ต่อไป ยังประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ เผยแพร่โดยผู้สอนศาสนา
จากความเจริญก้าวหน้าของการสาธารณสุขมา เป็นลำดับดังกล่าวแล้ว เป็นผลทำให้อัตราตายของประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเนื่องจากประเทศเหล่านี้มีฐานะทาง เศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ดี ประกอบกับมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ พลเมืองไม่เพิ่มขึ้นมากนัก การให้บริการสาธารณสุข จึงดำเนินการไปได้อย่างกว้างขวาง ทำให้พลเมืองในประเทศเหล่านี้มีสุขภาพอนามัยอยู่ในระดับที่ดี และสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ ส่วนในประเทศที่ด้อยพัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนาปรากฏว่า อัตราเกิดของประชากรยังคงสูงอยู่ จึงทำให้จำนวนพลเมืองเพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เป็นผลให้การขยายตัวด้านบริการสาธารณสุขไม่ทันต่อความต้องการของพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท แม้ว่า จะมีการก่อสร้างโรงพยาบาล และสถานีอนามัยขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม สุขภาพ อนามัยของประชาชนในชนบทก็ยังไม่อยู่ในระดับที่สมควร จึงทำให้เกิดมีแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนา การสาธารณสุข และการพัฒนาชนบทขึ้น โดยเน้นหนักไปที่ การส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท และช่วยเหลือตนเองและหมู่คณะ ตลอดจนมีการประสานงาน ระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ฉะนั้นการสาธารณสุขในยุคใหม่นี้จึงเป็นยุคของการสาธารณสุขมูลฐาน
การสาธารณสุขมูลฐานเพื่อสุขภาพอนามัยของทุกคน
ในระยะกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาทางอุตสาหกรรมเป็นผลทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ และจากการสังเกตของบุคคลโดยทั่วไปพบว่า ประชากรเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ได้รับผลจากความก้าวหน้าดังกล่าว ประชากรส่วนใหญ่ในโลกยังไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว เท่าที่ควร นอกจากนั้น ปรากฏว่าประเทศในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ยังมีความแตกต่างกันในทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนในท้องถิ่นเหล่านั้น อย่างเห็นได้ชัด ในปัจจุบัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของโลกยังอยู่ในสภาพซึ่งขาดการบริการสาธารณสุขที่น่าพอใจ และเป็นการถาวร ประชาชนจำนวนมากในท้องถิ่นชนบทและในแหล่ง เสื่อมโทรมของเมืองใหญ่ๆ ยังขาดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ในระดับอันสมควร อาทิเช่น ขาดที่พักอาศัย น้ำดื่มที่ปลอดภัย การศึกษา และอาหารที่จะบริโภค เป็นต้น นอกจากนั้น โรคติดต่อหลายชนิดยังคงทำลาย ชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมากอยู่ อัตราตายของทารกยัง อยู่ในระดับสูง ทารกในครรภ์จำนวนล้านไม่มีโอกาสได้รอดชีวิตลืมตามาเห็นโลก และประชาชนอีกจำนวนล้าน ต้องเสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพ อันเนื่องมากจากการขาดอาหาร
องค์การอนามัยโลกได้ตระหนักถึงปัญหาดัง กล่าวแล้วและได้พิจารณาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ ดำเนินเช่นนี้ต่อไป จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนของโลกอันเป็นการขัดกับธรรมนูญ ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้กำหนดไว้เมื่อครั้งก่อตั้งองค์การฯ ที่ว่า "สุขภาพอนามัยเป็นความต้องการพื้นฐาน และเป็นสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น ซึ่งประชากรทุกคนใน โลกจะพึงมี" องค์การอนามัยโลกจึงได้พยายามหาทางแก้ไข โดยร่วมมือกับบรรดาประเทศสมาชิกทั่วโลก ในอันที่จะพัฒนาบริการสุขภาพอนามัย ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ในแต่ละประเทศได้อย่างแท้จริง
แผนที่โลกแสดงประเทศด้อยพัฒนา
(พื้นสีแดง)
ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ สมัชชาอนามัยโลกได้พิจารณาเห็นว่า การแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชากรในโลก ในระยะต่อไป ควรจะใช้การดำเนินงานทางสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) ซึ่งมีหลักการที่มีการนำเอาทรัพยากรของท้องถิ่น มาใช้ให้มากที่สุด และให้มีการร่วมมือวางแผนและในการดำเนินงาน นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการผสมผสาน ระหว่างแผนงานด้านสาธารณสุข กับแผนงานด้านอื่นๆ เช่น การเกษตรและการศึกษา ในการพัฒนาชนบทเป็นส่วนรวม ตลอดจนให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ในราคาประหยัด และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ สมัชชาอนามัยโลก จึงได้มีมติโดยตั้งเป้าหมายทางสังคมไว้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ประชากรทุกคนในโลกจะมีสุขภาพอนามัยที่ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข ตามสภาพของเศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละท้องถิ่น และได้เรียก ร้องไห้บรรดาประเทศสมาชิกร่วมมือกันดำเนินการให้ บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๑ องค์การอนามัยโลก และองค์การกองทุนสำหรับเด็ก ของสหประชาชาติ ได้ร่วมกันจัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศ ในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานขึ้น ณ เมืองอาลมาอาตา ในสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งที่ประชุมได้มีประกาศว่า การสาธารณสุขมูลฐานเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว และเห็นว่า การดำเนินงาน สาธารณสุขมูลฐาน คงจะต้องแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละประเทศและท้องถิ่น แต่อย่างน้อยควรต้องประกอบด้วย การบริหารด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ
๑. การให้สุขศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัย รวมทั้งวิธีการป้องกันและควบคุมปัญหาเหล่านั้น
๒. การส่งเสริมในเรื่องอาหารและโภชนาการ
๓. การจัดหาน้ำดื่ม น้ำใช้ที่ปลอดภัย รวมทั้ง ให้มีการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน
๔. การอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งการวางแผนครอบครัว
๕. การให้ภูมิคุ้มกันโรคติดต่อที่สำคัญๆ
๖. การป้องกันและควบคุมโรคที่มีอยู่ในท้องถิ่น
๗. การรักษาพยาบาลโรคและบาดแผลที่พบได้บ่อยๆ
๘. การจัดหายาที่จำเป็น
ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ สมัชชาอนามัยโลกได้ผ่านมติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกพิจารณาดำเนินการจัดทำ นโยบาย กลวิธี และแผนปฏิบัติการในการดำเนินงาน เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมาย "สุขภาพดีถ้วนหน้า เมื่อปีสองห้าสี่สาม" ต่อไป