เล่มที่ 9
การสาธารณสุข
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การฝึกอบรมบุคลากรทางการสาธารณสุขอื่นๆ

            กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญและจำเป็นของบุคลากรประเภทต่างๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ข้างเคียงแพทย์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ จึงได้มีการผลิตและอบรมบุคลากร ประเภทต่างๆ ขึ้นเอง ดังนี้

๑. พยาบาล

            ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายงานด้านโรงพยาบาล ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค และเห็นความจำเป็นจะต้องมีพยาบาลเพื่อทำหน้าที่ในการรักษาพยาบาล และดูแลผู้ป่วย จึงได้จัดตั้งโรงเรียนพยาบาลขึ้น โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เข้าเรียนใน หลักสูตรการอบรม ๓ ปี ได้รับประกาศนียบัตรพยาบาล และผดุงครรภ์ ต่อมามีการปรับปรุงเป็นระยะๆ ใน ปัจจุบันรับจากผู้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่) หลักสูตร ๔ ปี และมีคุณวุฒิเทียบเท่าปริญญาตรี

๒. พยาบาล (ระดับต้น)

            รับจากผู้สำเร็จการ ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่) หลักสูตร ๒ ปี ผู้จบหลักสูตรนี้ สามารถศึกษาต่อเนื่อง ในหลักสูตรพยาบาลได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

๓. ผดุงครรภ์อนามัย

            มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้บริการอนามัยแม่และเด็ก เริ่มตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ คลอดและหลังคลอด ให้ภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงการอนามัย โรงเรียน โดยรับผู้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เข้าเรียนในหลักสูตร ๑ ปี ได้ประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ ต่อมา ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเป็นระยะๆ ในปัจจุบัน รับจากผู้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่) หลักสูตร ๒ ปี โดยเพิ่มวิชาสาธารณสุขให้ สามารถทำงานในท้องที่ได้ และได้รับประกาศนียบัตร ผดุงครรภ์อนามัย

๔. การพยาบาลและจิตเวช

            ดิมเป็นหลักสูตร ผู้ช่วยพยาบาลจิตเวช มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้การพยาบาลในหอผู้ป่วย ซึ่งเป็นโรคทางจิต มีหลักสูตร ๑ ปี และต่อมาได้ปรับปรุงหลักสูตรเป็น ๑ ๑/๒ ปี และรับจากผู้ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปัจจุบันได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตร ๒ ๑/๒ ปี และรับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่)

๕. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

            วัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานบริการอนามัย เพื่อช่วยแพทย์ในส่วนภูมิภาค และเป็นผู้ให้บริการอนามัยโดยตรงต่อประชาชน และชุมชนในเขตรับผิดชอบ

การเรียนภาคทฤษฎีของนักเรียนเจ้าพนักงานสาธารณสุข

            หลักสูตรเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนี้ แต่เริ่มแรกเมื่อ เปิดการอบรมใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เรียกว่า หลักสูตรพนักงาน อนามัย ซึ่งเป็นหลักสูตร ๑ ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เน้นหนักทางด้านสุขาภิบาล ต่อมามีการปรับปรุงหลักสูตรเป็น ๑ ๑/๒ ปี โดยเน้นทางสุขาภิบาลป้องกันโรค สุขศึกษา และให้รู้จักการรักษาพยาบาลเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้ปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรใหม่เป็น ๒ ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่) และเปลี่ยนชื่อเป็น "หลักสูตรเจ้าหน้าที่สาธารณสุข" โดยเน้นทางด้านงานสาธารณสุขชุมชน และเพิ่มการรักษาพยาบาล ให้สามารถรักษาโรคง่ายๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ได้ รวมทั้งให้เข้าใจถึงงานสาธารณสุขมูลฐานด้วย

๖. ทันตาภิบาล

            วัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อให้ทำการรักษาและป้องกันโรคฟันในเด็กอายุตั้งแต่ ๑ ๑/๒ - ๑๔ ปีได้ และสามารถให้ทันตสุขศึกษากับประชาชนและนักเรียนได้ ทันตาภิบาลที่จบการศึกษาแล้ว จะไปประจำที่โรงพยาบาลอำเภอ เพื่อให้การป้องกัน และรักษาโรคฟันแก่เด็กนักเรียน ในอำเภอนั้นๆ มีหลักสูตรการอบรม ๒ ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่)

๗. พนักงานกายภาพบำบัด

            วัตถุประสงค์เพื่อ แนะนำและให้ความรู้ในด้านกายภาพบำบัด และการ ป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย เดิมหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตร ๑ ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม- ศึกษาปีที่ ๓ และต่อมาได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่เป็น ๒ ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยม ปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่) เช่นเดิม เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์ทางด้านกายภาพบำบัดเบื้องต้นให้มากยิ่งขึ้น

นักเรียนผู้ช่วยกายภาพบำบัด ขณะเรียนภาคปฏิบัติ ด้วยการฝึกปฏิบัติงาน ในโรงพยาบาล

๘. พนักงานวิทยาศาสตร์

            วัตถุประสงค์เพื่อทำ หน้าที่ตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการในการรักษา ป้อง กัน และควบคุมโรค มีหลักสูตรการอบรม ๑ ปี รับจาก ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ (มัธยมปีที่ ๖ หลักสูตรใหม่) และหลักสูตรนี้สามารถศึกษาต่อเนื่องได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้