เล่มที่ 9
การสาธารณสุข
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)

            ในการประชุมนานาชาติ เพื่อร่างกฎบัตรสหประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ เมืองซานฟรานซิสโก ทุกฝ่ายมีความเห็นต้องกันว่า สหประชาชาติควรมีองค์การอนามัยระหว่างประเทศด้วย และในปีต่อมาได้มีการ ประชุมอนามัยโลก ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อร่างธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกขึ้น ในขณะที่รอการให้สัตยาบันของประเทศต่างๆ ได้มีการตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้น ทำหน้าที่ก่อตั้งองค์การอนามัยโลกให้สอดคล้องกับธรรมนูญ ที่ได้ร่างไว้ เมื่อประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันเพียงพอแล้ว องค์การอนามัยโลกก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑

            องค์การอนามัยโลกเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศ ที่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญขององค์การฯ ทั้งนี้โดยมิคำนึงว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ หน้าที่ขององค์การอนามัยโลกตามธรรมนูญมี ดังนี้ คือ

            ๑. ช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงบริการทางแพทย์และสาธารณสุข
            ๒. ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการสอนและการฝึกอบรมในวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
            ๓. ให้ข้อมูลข่าวสาร การปรึกษาแนะนำ และ ความช่วยเหลือในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
            ๔. ให้การส่งเสริมการพัฒนาในด้านโภชนาการ การเคหะ สุขาภิบาล นันทนาการ สภาพการทำงาน และในเรื่องอื่นๆ ของการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยร่วม มือกับองค์การชำนัญพิเศษอื่นๆ ของสหประชาชาติ
            ๕. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาชีพที่มีส่วนในการสร้างความก้าวหน้าด้านการ แพทย์และสาธารณสุข
            ๖. ส่งเสริมอนามัยและสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ตลอดจนการดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของบุคคลโดยทั่วไป
            ๗. ส่งเสริมกิจกรรมด้านสุขภาพจิต ทั้งนี้โดยเฉพาะ ในกลุ่มของบุคคลที่มีความบกพร่องในด้านมนุษยสัมพันธ์
            ๘. ส่งเสริมและดำเนินการวิจัย เพื่อการพัฒนา ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
            ๙. ศึกษา และรายงานวิธีการและเทคนิคด้าน บริหารและสังคมที่มีผลกระทบต่อการให้บริการทางการ แพทย์และสาธารณสุข โดยร่วมมือกับองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ ของสหประชาชาติ

            งานขององค์การอนามัยโลก ดำเนินการภายใต้ นโยบายและการปกครองของสมัชชาอนามัยโลก ที่ประกอบไปด้วยผู้แทน ของประเทศสมาชิก ซึ่งใน พ.ศ ๒๕๒๖ มี ๑๕๗ ประเทศ และเพื่อเป็นการกระจายการ ปฏิบัติงานขององค์การฯ ให้ทั่วถึงส่วนต่างๆ ของโลก สมัชชาอนามัยโลกในการประชุมสมัยที่ ๑ ได้มีมติ กำหนดพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น ๖ ภูมิภาค คือ

            ๑. ภูมิภาคอเมริกา มีสำนักงานอยู่ ณ กรุง วอชิงตัน ดี. ซี.
            ๒. ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก มีสำนักงานอยู่ ณ เมืองอเล็กซานเดรีย
            ๓. ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงนิวเดลี
            ๔. ภูมิภาคแอฟริกา มีสำนักงานอยู่ ณ เมือง บราซาวิลล์
            ๕. ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงมะนิลา
            ๖. ภูมิภาคยุโรป มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

            สำหรับประเทศไทย อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด ๑๑ ประเทศ คือ ประเทศบังคลาเทศ ประเทศพม่า ประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเกาหลีประเทศสาธารณรัฐมัลดิฟส์ ประเทศ มองโกเลีย ประเทศเนปาล ประเทศศรีลังกา ประเทศ ภูฏาน และประเทศไทย
ตราองค์การอนามัยโลก
ตราองค์การอนามัยโลก
            เพื่อให้มีการร่วมมือประสานงานกับประเทศ สมาชิกอย่างใกล้ชิด องค์การอนามัยโลกยังได้ตั้งสำนักงานไว้ตามประเภทต่างๆ โดยมีผู้ประสานแผนงาน ขององค์การอนามัยโลกเป็นหัวหน้าของสำนักงานอีกด้วย